ผู้หญิง - มือที่โอบอุ้มสังคม แต่ถูกละเลย

ผู้หญิง - มือที่โอบอุ้มสังคม แต่ถูกละเลย

ผู้หญิงคือโครงสร้างสวัสดิการที่สำคัญของสังคมไทย ด้วยเต็มใจ แต่โดยชอบธรรมแล้ว ควรมีนโยบายรองรับและลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ผู้หญิงมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งหมายถึงรากฐานของสังคมที่ดีด้วย

เวลาเราพูดถึงผู้หญิง เรามองเห็นใครบ้าง? หรือเวลาที่พูดเรื่องสิทธิสตรี เราจะเห็นภาพอะไรตามมา?

ภาพผู้หญิงหัวรุนแรงที่เดินขบวนเรียกร้องสิทธิ์ อะไรแบบนี้หรือเปล่า แต่ประเด็นก็คือผู้หญิงซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างที่ขับเคลื่อนสังคม ปัญหาต่างๆ ที่ผู้หญิงได้รับผลกระทบแท้จริงๆ แล้วไม่ใช่แต่เรื่องผู้หญิงๆ แต่เกี่ยวพันกับภาพรวมสังคมอย่างแยกไม่ออก

ตั้งแต่ที่มีอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (CEDAW) และไทยก็ลงนามเข้าร่วม ก็มีรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมตลอดมา ที่จริงแล้วการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง หรือการลดความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างความเท่าเทียมนั้น ไม่ได้เท่ากับการใช้นโยบายหรือข้อปฏิบัติต่างๆ ต่อผู้หญิง “เหมือน” กับผู้ชายทุกประการ แต่คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ “ต่าง” เพื่อสร้างความเท่าเทียมต่างหาก ความเฉพาะเจาะจงที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการ “เห็นความสำคัญ”

อ่อนแอหรือพ่ายแพ้ต่อโครงสร้าง

“ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ” คือมายาคติที่แม้แต่คนในวงการสิทธิมนุษยชนก็ตามยังคงระบุว่าต้องทำงานกับกลุ่มผู้หญิงที่เปราะบางอ่อนแอ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดกับผู้หญิง ซึ่งนำไปสู่การทำงานแก้ไขอย่างตรงจุด

“ผู้หญิงไม่ได้เปราะบางหรืออ่อนแอ แต่เป็นเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติในเชิงโครงสร้างที่คนไม่ค่อยพูดถึงกัน จริงๆ แล้วเราต้องพูดว่าเราให้ความสำคัญกับการทำงานเรื่องผู้หญิง เพราะความเหลื่อมล้ำของเมือง เศรษฐกิจ และสถานภาพทางสังคมมีเยอะ ทำให้ผู้หญิงไม่มีพื้นที่ต่างหาก” ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กรโปรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

เราเห็นตัวอย่างได้จากงานแถลงข่าว การติดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CEDAW (Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination against Women) ซึ่งมีกรณีศึกษาของผู้หญิงที่ทำงานต่อสู้กับปัญหาของตนและชุมชนอย่างเข้มแข็ง

อย่าง “แม่ไม้” วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนจากกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองในจังหวัดเลย และทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองของกลุ่มทุน ทั้งปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

สารปนเปื้อนจากการทำเหมืองไม่ได้ทำลายเพียงผืนดินตรงนั้นเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อภูเขา ป่า น้ำ อากาศ และชุมชนโดยรอบด้วย ซึ่งเคลื่อนไหวไปยังงานเหมืองแร่ต่างๆ ในเขตภาคอีสาน ต่อสู้เรียกร้องมาเป็น 10 ปี จนล่าสุดรัฐได้ใช้ม.44 ระงับเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่ยังไม่ทันได้ฟื้นฟูใดๆ รัฐกลับเดินหน้า พ.ร.บ.เหมืองแร่ ซึ่งลิดรอนสิทธิชุมชนเป็นอย่างมาก เมื่อชุมชนรวมตัวคัดค้านต่อต้าน ก็กลับถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมจากทั้งนายทุนและภาครัฐ

ปัญหานี้ก็เกี่ยวพันมาถึงสถานการณ์ที่ดินทำกินในปัจจุบัน ปรีดา ปานเมือง หรือพี่หนุ่ย ตัวแทนจากเครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ก็ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาที่ดินที่รัฐเดินหน้าโดยไม่หารือชุมชน ทำให้คนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมกับการพัฒนาของส่วนกลาง ซึ่งกับการกวาดล้างสิ่งทำกินของเกษตรกรดั้งเดิม เวนคืนที่ดินไปให้กับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ธุรกิจเอกชน และบริษัทข้ามชาติ รวมทั้งประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกิน ซึ่งทำให้เกษตรกรสูญเสียที่ดินทำกิน ตัดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน จากสถานการณ์นี้ทำให้มีชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งมักเป็นผู้ดูแลครอบครัวต้องคดีการรุกพื้นที่ป่ามากมาย แต่ไม่มีพื้นที่ในการชี้แจง ขาดการแสวงหาความจริง อีกทั้งกองทุนยุติธรรมที่มีอยู่ให้ประชาชนสามารถนำไปต่อสู้คดี กลับมีขั้นตอนเข้าถึงยาก ทำให้การนำปัญหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นไปได้ยาก

ปัญหาการขาดที่ดินทำกินยังโยงมาถึงอีกปัญหาคือ การค้ามนุษย์ ซึ่งดาราราย รักษาสิริพงศ์ ตัวแทนจากมูลนิธิผู้หญิง ซึ่งทำงานเกี่ยวกับชาติพันธุ์และการย้ายถิ่น รวมถึงการค้ามนุษย์ อยู่ที่ อ. แม่สอด จ.ตาก เธอได้พบเห็นกรณีการจัดการแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายมากมาย ซึ่งการติดตามจับกุมเป็นการแก้ปัญหาปลายทาง แต่รากเหง้าของปัญหาก็มาจากปัญหาที่ดินทำกิน หรือการทำลายป่า ที่ทำให้คนไม่มีทรัพยากรพื้นฐานในการสร้างอาชีพ นำไปสู่ความยากจน จึงต้องเดินทางออกมาค้าแรงงานแบบผิดกฎหมาย ในขณะที่ “กองทุนแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์” ก็มีอยู่ แต่งบประมาณนับ 100 ล้านบาทต่อปี ราว 80 เปอร์เซ็นต์กลายเป็นงบส่งเสริมทักษะของเจ้าหน้าที่และการจัดอีเวนท์ต่างๆ แต่มีน้อยมากที่จะนำไปช่วยเหลือผู้ที่เสียหายอย่างจริงจัง

ปัญหาก็คือ จริงๆ แล้วความพยายามแก้ปัญหาของรัฐก็มีอยู่ แต่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกลับไม่ได้มีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ทำให้นโยบายที่ออกมาก็ไม่สามารถเข้าถึงได้จริง หรือกฎหมายมีอยู่ แต่ขาดการบังคับใช้ หรือเลือกปฏิบัติ นี่คือตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งของความรุนแรงทางโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงอย่างแท้จริง มิใช่ความอ่อนแอเปราะบางของผู้หญิง

“พอผู้หญิงไม่มีพื้นที่ในการสื่อสาร และถูกมองว่าไม่สามารถเป็นผู้นำได้ ส่งผลให้เวลาที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาบอกว่าสิ่งนี้เราถูกกระทำ หรือสิ่งนี่คือสิ่งที่เราต้องการ แรงต้านจะมากกว่าผู้ชาย ซึ่งสิ่งนี้สำคัญ ไม่ควรจะมีแรงตอบโต้ด้านลบแบบนี้ ควรต้องมีการแสวงหาความจริง หรือสนับสนุนในสิ่งที่ผู้หญิงเรียกร้อง เพราะไม่มีใครที่ออกมาเรียกร้องอะไรที่เกินไป เช่น ถูกข่มขืน เราก็แค่ต้องความเป็นธรรม หรือผู้หญิงที่เป็นเกษตรกรก็ต้องการแค่ที่ดินทำกิน ที่เขาควรจะได้ เพราะสัญญาไว้แล้วว่าโฉนดชุมชน ก็ต้องเป็นของชุมชน เป็นเรื่องพื้นฐานมาก แต่แรงต้านก็จะกลับมาจนหมดแรงเรียกร้อง หลายคนก็ล้มเลิกยอมแพ้ไป”

โครงสร้างสวัสดิการสังคมที่ถูกมองข้าม

“ผู้หญิงคือโครงสร้างสวัสดิการที่สำคัญที่สุด” โดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งไม่มีระบบสวัสดิการพื้นฐานเพียงพอ ไม่ครอบคลุมถึงคนชายขอบ ผู้หญิงชนชั้นกลางอาจมองไม่ชัดถึงสิ่งนี้ เพราะเราสามารถ “จ่าย” เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของตัวเองได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป หรือรายได้ขั้นต่ำต่างก็ต้องแบก “ครอบครัว” ซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่สุดของสังคม ก็เท่ากับว่าแบกสังคมอยู่ทั้งหมดนั้นเอง

ผู้หญิงทำหน้าที่ดูแลบ้าน ครอบครัว สมาชิกในครอบครัวให้กินอิ่มนอนหลับ ดูแลยามเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นเดือดเป็นร้อนเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนรอบข้าง ในขณะที่รัฐไม่ได้ดูแลขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง มือเหล่านี้แหละที่คอยประคับประคองอยู่

 “งาน” ที่ไม่ถูกประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจ

“เมื่อใดก็ตามที่คนในครอบครัวไม่สบาย ถ้าเป็นครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูก ลูกไม่สบาย แม่ก็ต้องหยุดงานดูแลลูก หรือเสียสละด้านอาชีพ ผู้หญิงจะเป็นคนแรกที่จะถูกบอกว่าต้องเสียสละด้านอาชีพ” ปรานม เสริม

ผู้หญิงที่มีครอบครัว ชั่วโมงการทำงานจะยาวนานกว่าผู้ชาย

“ถ้านับชั่วโมงการทำงานของผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีครอบครัว มีลูก ชั่วโมงในการทำงานเขาจะเริ่มเร็วและจบช้ากว่าผู้ชาย เสร็จงานหลังจากคนอื่นในบ้าน เพราะต้องดูแลสารทุกข์สุขดิบ พรุ่งนี้ลูกจะทานข้าวอย่างไร ตารางสอนเป็นยังไง สิ่งเหล่านี้เราไม่เคยประเมินค่าในด้านเศรษฐกิจ เพราะผู้หญิงต้องดูแลครอบครัว ครอบครัวก็เท่ากับสังคม”

ที่จริงผู้หญิงก็เต็มใจที่จะทำหน้าที่เหล่านี้อยู่แล้ว แต่ในเมื่อการดูแลสังคมก็ควรนับเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน (ซึ่งตอนนี้ผู้หญิงก็แบกอยู่เต็มๆ) รัฐก็ควรสร้างสวัสดิการมารองรับและลดภาระ แต่ประเทศยังไม่มีมาตรการในการดูและเรื่องนี้ให้เป็นรัฐสวัสดิการ เพื่อผู้หญิงจะได้มีเวลาไปสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอีกหลายด้านที่ผู้หญิงมีความสามารถอยู่แล้ว

ความรุนแรงเชิงโครงสร้างคือความเชื่อหรือนโยบาย?

ย้อนกลับไปสู่โครงสร้างซึ่งกดทับและทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอยู่ โครงสร้างนั้นมาจากความเชื่อที่ปฏิบัติตามๆ กันมาจนเคยชิน (จากสภาพสังคมชายเป็นใหญ่) หรือนโยบายจากส่วนกลางเลย

ปรานมตอบชัด “นโยบายก็มาจากความเชื่อนั่นล่ะค่ะ ใครออกกฎหมายหรือนโยบายก็จะเป็นประโยชน์กับคนกลุ่มนั้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่มีอำนาจอยู่แล้ว อย่างตอนนี้เราก็ไม่มิสิทธิ์เลือกว่าจะให้ใครไปออกกฎหมาย นี่เป็นเรื่องโครงสร้างของประเทศเลย ไม่แบ่งหญิงชาย เป็นโครงสร้างของความเท่าเทียมกันของความเป็นคน เราก็ไม่มี พอมาดูเรื่องโครงสร้างที่จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างหญิงกับชาย ก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เมื่ออำนาจนั้นตรวจสอบไม่ได้ ก็ยิ่งเหลื่อมล้ำ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนก็ไม่เกิดขึ้น เพราะพื้นที่ปิดหมด”

ตามมาด้วยนโยบายที่กระทบกับคนจน คนชายขอบที่ออกมาในทำนองกวาดล้างจัดระเบียบ แต่ไม่เสนอทางออกร่วมกันที่ผู้ได้รับผลกระทบจะมีที่ไปได้

รัฐสวัสดิการในไทย ความฝันไกลตัว?

เราเพ้อฝันถึงสวัสดิการรัฐซึ่งให้ความสำคัญกับเด็กอย่างในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว ขอใช้คำว่า “เพ้อฝัน” เพราะสิ่งนี้คือเรื่องไกลตัวเหลือเกิน ของเราแค่เดย์แคร์ลดภาระของผู้เป็นแม่ ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย

ปรานมยกตัวอย่างสวัสดิการในประเทศแถบสแกนดิเนเวียน “เมื่อเด็กเกิดขึ้นมา เขาก็จะให้สวัสดิการ และรัฐจะเอาเงินเข้าบัญชีให้เลย 5,000 บาทต่อเดือน พอเด็กอายุครบ 20 ปี เขาก็ตัดสินใจได้ว่าจะเอาเรียนต่อ หรือลงทุนทำธุรกิจ ซึ่งเหล่านี้มันลดภาระของพ่อแม่”

ในประเทศแคนาดา ก็มีสวัสดิการลักษณะนี้ เช่น ศูนย์เด็กเล็กประจำเมือง ที่มีเดย์แคร์ของรัฐอยู่ สามารถพาลูกไปฝากเลี้ยงไว้ได้ และแม้แต่โปรแกรม Healthy Babies Healthy Children ซึ่งเป็นโปรแกรมสุขภาพฟรีของ Halton Region รัฐ Ontario โปรแกรมนี้ถูกจัดขึ้นมาเพื่อช่วยให้พ่อแม่ของเด็กที่อยู่ในครรภ์จนถึงเด็กอายุ 3 - 4 ขวบ สามารถเลี้ยงลูกให้ได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ในสิ่งแวดล้อมที่ดี  ซึ่งไม่ได้ดูแลแค่เด็กๆ แต่ 1 ในบริการนั้นคือ ช่วยหาทางบำบัดแม่ที่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอดด้วย คือดูแลกันทั้งร่างกายและจิตใจเลย

สำหรับในประเทศไทย เรามีข้อเรียกร้องเรื่องศูนย์เลี้ยงเด็กมาเป็น 20 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้

“แม่ที่ต้องไปทำงาน เขาจะเอาลูกไปไว้ที่ไหน ยกเว้นต้องเสียเงินเดือนละ 6,000 – 10,000 บาทในการเอาเด็กไปไว้ที่เดย์แคร์ ซึ่งรัฐควรจะมีได้แล้ว จะเป็นการลดภาระได้เยอะมาก จริงๆ แล้วปัญหาเรื่องผู้หญิงที่เกี่ยวพันกับสังคมนั้นซับซ้อนมาก เราจึงควรเริ่มต้นที่เรื่องพื้นฐานอย่างสวัสดิการรัฐที่มาสนับสนุนเรื่องเด็ก และการลดภาระของแม่นี่แหละ”

เพราะสิ่งนั้นเกิดสิ่งนี้จึงเกิด

 ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เวลาเราพูดถึงสิทธิสตรีแล้วจะสามารถเชื่อมโยงให้เห็นรากของปัญหาและผลกระทบที่มีต่อปัญหาอื่นๆ ที่ไม่ได้พ่วงด้วยคำว่าผู้หญิง เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องที่ดิน ผลกระทบจากการขาดแคลนที่ดินทำกิน ส่งผลต่อการประกอบอาชีพเลี้ยงตัว บ้านที่แตกกระจายพลัดพรายพาผู้หญิงและเด็กออกหางาน ปัญหาการค้าประเวณี และอื่นๆ อีกมากมายก็คือผลพวงจากรากเหง้าปัญหา

การพูดถึงปัญหาสตรีจึงไม่ได้จับจ้องอยู่แต่เรื่องของผู้หญิง แต่เพราะผู้หญิงเป็นโครงสร้างสำคัญที่สัมพันธ์อยู่กับเรื่องอื่นมากมาย เรื่องนี้จึงต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพูด ไม่ปล่อยให้เงียบ และผลักดันให้เกิดการเดินหน้าเป็นกรณีไปจนกว่าผู้หญิงโดยรวมของประเทศจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อนั้นก็หมายถึงคุณภาพสังคมโดยรวมก็ดีตามขึ้นเช่นกัน