ณัฐพงษ์ โพธิ์นพรัตน์ เซิร์ฟสู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่

ณัฐพงษ์ โพธิ์นพรัตน์ เซิร์ฟสู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่

แรงบันดาลใจมักถูกส่งต่อจากสิ่งที่ใกล้ตา ใกล้ตัว เด็กชายที่เกิดและเติบโตใกล้หาดจอมเทียน สถานที่ฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติวินด์เซิร์ฟ เมื่อได้เห็นทุกวัน วันหนึ่งเขาก็อดใจไม่ไหว ขอไปฝึกด้วยคน

เด็กชายในวันนั้นกลายมาเป็นนักกีฬาทีมชาติ แชมป์วินด์เซิร์ฟชายรุ่น RS:X เหรียญทองซีเกมส์ 3 สมัยล่าสุด  “โอ๊ต” ณัฐพงษ์ โพธิ์นพรัตน์ หลังจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ริโอ 2016 เขาก็มีงานแข่งขันต่อเนื่องมาตลอด

วินด์เซิร์ฟเป็นกีฬาที่เล่นยาก ในวัย 12 ปีที่เริ่มต้นหัดครั้งแรก โอ๊ตบอกว่า “ยากมากครับสำหรับเด็ก ต้องไปเจอกับคลื่นลม และการทรงตัวบนบอร์ด สำหรับผมเองกว่าจะเล่นเป็นแบบแล่นไปกลับได้ก็เป็นเดือนครับ แรกๆ ก็ตกน้ำอย่างเดียวเลย”

แต่เล่นไปไม่นาน โอ๊ตก็เริ่มสัมผัสกับความสนุก ทั้งจากธรรมชาติของการได้โต้คลื่น และการแข่งขัน

ชีวิตเพื่อการแข่งขัน

ชีวิตนักกีฬาของโอ๊ตเริ่มต้นขึ้นจากแข่งขันรายการเล็กๆ เล่นแบบล้มลุกคลุกคลาน “เล่นได้ไม่ถึงปี ก็เริ่มมีการแข่งขันเล็กๆ ของรุ่นมือใหม่ ผมก็ลองลงแข่ง แข่งแรกๆ ยังไม่ชนะ แต่ก็ยิ่งทำให้เรามีแรงใจอยากชนะ”

อายุ 15 ปีโอ๊ตก็ติดทีมเยาวชนทีมชาติไทย ในช่วงนั้นเขายังไม่ได้ไปแข่งเต็มที่ เพราะต้องเรียนหนังสือ แต่เมื่อเขาจบม.6 แล้วสามารถจัดสรรเวลาเรียนของตัวเองได้ เขาก็ทุ่มเทให้กับซ้อม และตระเวนแข่งเก็บคะแนน ทำสถิติให้มีคุณสมบัติมากพอที่จะไปแข่งรายการใหญ่ๆ ได้ ปีนี้โอ๊ตอายุ 28 แล้ว นักกีฬามืออาชีพอย่างเขาใช้ฝีมือเป็นยานพาหนะพาตัวเองไปสู่สนามแข่งในประเทศต่างๆ มาแล้วกว่า 20 ประเทศ

ณัฐพงศ์ โพธิ์นพรัตน์ ภาพ กอบภัค พรหมเรขา

ภาพ กอบภัค พรหมเรขา

วินด์เซิร์ฟแตกต่างจากกีฬาที่เล่นในร่ม เพราะต้องเล่นกับทะเลซึ่งเต็มไปด้วยคลื่นลม จึงไม่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ อีกทั้งภูมิประเทศและภูมิอากาศในแต่ละแห่งก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทำให้นักกีฬาต้องใช้ความคิดรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าตลอดเวลา แม้จะได้ซ้อมเพื่อปรับตัวกับสภาพสนามแล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ก็มีเวลาซ้อมล่วงหน้าราว 1 สัปดาห์เท่านั้น นอกจากจะสภาพคลื่นลมแล้ว สิ่งที่ไม่คาดคิดอีกอย่างที่นักกีฬาต้องระวังคือสัตว์ทะเล

“ไปแข่งที่มาเลเซีย หรืออินโดนิเซีย จะมีงูทะเลเยอะ ถ้าแถบออสเตรเลีย ก็มีฉลาม แต่ถ้าซ้อมในเมืองไทยที่ต้องเจอและระวังทุกวันคือแมงกะพรุน อันตรายครับ ช่วงนี้หน้าฝนก็ยิ่งเยอะ เราต้องสวมชุดป้องกัน ผมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาวเพื่อป้องกันแมงกะพรุน แต่ถ้าไปแข่งที่ทวีปยุโรปหรืออากาศหนาวก็ต้องในเวทสูทครับ”

สูงแล้วแต่ไม่สุด

ในชีวิตนักกีฬา โอลิมปิกเกมส์ถือว่าเป็นที่สุด กว่าจะได้เข้าแข่งขันก็ไม่ง่าย เพราะกีฬาวินด์เซิร์ฟมีโควต้าสำหรับนักกีฬาเพียง 36 ประเทศ ประเทศละ 1 คน ชาย 1 หญิง 1 เท่านั้น นักกีฬาต้องมีแต้มสะสมและอันดับเพียงพอเพื่อจะมีคุณสมบัติเข้าไปแข่งขัน จึงเป็นการขับเคี่ยวและคัดคนในระดับโลกจริงๆ สำหรับโอลิมปิกครั้งแรกของโอ๊ตก็ถือว่าเป็นสนามที่ยากที่สุดที่เขาเคยพบพานมาด้วย สถานที่จัดแข่งขันวินด์เซิร์ฟในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้คืออ่าว Marina da Gloria

“ที่ซ้อมมาทุกวันที่หาดจอมเทียนเป็นทะเลเปิด คลื่นไม่ใหญ่มาก เล่นง่ายกว่า แต่เราแข่งในอ่าว ซึ่งลมจะเปลี่ยนทิศตลอดเวลา มาทุกทาง และคลื่นใหญ่มาก เล่นยากครับ”

เมื่อสภาพสนามยากกว่าสิ่งที่เตรียมตัวมาและคาดว่าจะเจอ การทำผลงานจึงคลาดจากที่เขาหวังไว้ว่าจะติด 1 ใน 20 อันดับ ก็เคลื่อนไปที่ 24 โอ๊ตจึงมุ่งมั่นว่าจะพาตัวเองกลับไปแก้มือในโอลิมปิกเกมส์ครั้งต่อไปให้ได้

“ผมได้ไปโอลิมปิกแล้ว แต่ผลงานยังไม่ค่อยดี ก็อยากไปอีกสักครั้ง หรือ 2 ครั้ง และทำผลงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เป้าหมายต่อไปก็ยังมีซีเกมส์ และเอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ผมเป็นแชมป์ 3 สมัย ก็ต้องรักษาแชมป์ไปเรื่อยๆ ส่วนเอเชียนเกมส์ ผมก็แข่งมาหลายครั้ง ครั้งที่แล้วผมก็ได้เหรียญเงิน ผมคิดว่าต้องให้ได้เหรียญทองสักครั้ง อีก 2 ปีข้างหน้าจะมีเอเชียนเกมส์ ผมก็ตั้งเป้าไว้ที่เหรียญทองครับ”

image3

ภาพ ณัฐพงษ์ โพธิ์นพรัตน์

เพื่อจะเก็บแต้มให้ได้ในทุกความฝัน เวลาของโอ๊ตจึงทุ่มให้แต่การซ้อม ซ้อม และซ้อม ชีวิตนักกีฬาที่หนักหน่วงนี้อาจโหดสำหรับคนทั่วไป แต่เมื่อผลจากความทุ่มเทตอบแทนมาก็คุ้มค่าแบบหาอะไรมาแลกไม่ได้

“วินด์เซิร์ฟเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้วครับ ผมอยู่กับวินด์เซิร์ฟทุกวัน เวลาไปแข่ง ก็ได้เปิดโลก ไปเจอเพื่อน ได้ประสบการณ์ ได้แข่งกับทะเล สถานที่ที่เราไปจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ก็ได้ทั้งแข่ง และไปเที่ยวด้วย ได้บรรยากาศ คนส่วนใหญ่อาจได้ไปน้อย ถือว่าเราโชคดีครับ”

ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Alive เซคชั่นจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 21 กันยายน 2559