ทำไมเราจึงเลือกความสุขเฉพาะหน้า มากกว่าฝืนใจตัวเองเพื่อระยะยาว

ทำไมเราจึงเลือกความสุขเฉพาะหน้า มากกว่าฝืนใจตัวเองเพื่อระยะยาว

เคยไหม เวลาตั้งใจลงมือทำงาน แต่กลับลงเอยด้วยการเล่นเฟซบุ๊คเป็นชั่วโมง หรือบางทีอยากจะมีสุขภาพดี แต่กลับไปกินฟาสต์ฟู้ดเพราะทนกลิ่นยั่วยวนไม่ไหว

รู้ทั้งรู้ว่าต้องทำงานให้เสร็จก่อนแล้วจึงเล่นเกมได้ แต่ในเมื่อเกมมาวางพร้อมอยู่ตรงหน้าก็ไม่อาจต้านทานอยู่ ทำไมเราจึงเลือกความสุข ความเพลิดเพลินเฉพาะหน้า มากกว่าฝืนใจตัวเองสักนิดเพื่อเป้าหมายที่ดีในระยะยาว

สมองสองขั้วขัดแย้ง

นี่เป็นเรื่องของการต่อสู้กันระหว่างสมองสองขั้ว งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันรายงานว่า มีการค้นพบการทำงานของสมองสองส่วน คือส่วนอารมณ์ และส่วนเหตุผล ซึ่งแข่งกันเพื่อควบคุมพฤติกรรมคน เมื่อสมองพยายามที่จะชั่งน้ำหนักระหว่างความสุขที่อยู่เฉพาะหน้ากับเป้าหมายที่วางไว้ระยะยาว โดยเปรียบเทียบภาพการทำงานของระบบประสาทเมื่อต้องเลือกระหว่างความสุขที่เล็กกว่าแต่อยู่ใกล้มือ กับสิ่งตอบแทนที่ยิ่งใหญ่กว่าแต่อยู่ไกลออกไป เพื่อค้นหาสัมพันธ์ของจิตใจกับสมอง และกระบวนการการตัดสินใจด้านเศรษฐศาสตร์ของผู้คน

การวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 สถาบัน โดยมีโจนาธาน โคเฮน (Jonathan Cohen) และ ซามูเอล แมคเคลอร์ (Samuel McClure) จากศูนย์การศึกษาด้านสมอง จิตใจ และพฤติกรรมของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ศ.เดวิด ลาบสัน (David Laibson) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และจอร์จ โลเวนสไตน์ (George Lowenstein) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ และจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน

“เรามีระบบสมองส่วนต่างๆ ซึ่งทำงานรับมือกับปัญหาที่แตกต่างกัน และพฤติกรรมที่เราแสดงออกก็เกี่ยวกับการที่สมองแต่ละส่วนทำงานร่วมกันดี หรือบางทีก็ขัดแย้งกัน”

โคเฮนกล่าว มนุษย์จึงมักมีความคิดสับสนอยู่เสมอ และหลายครั้งตรรกะพื้นฐานก็ใช้ไม่ได้กับมนุษย์

นักวิจัยเข้าไปศึกษาความขัดแย้งกันว่าด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ไม่อาจยับยั้งชั่งใจกับผลประโยชน์เล็กน้อยที่ได้เร็วกว่า แต่มักจะชอบวางแผนอนาคตอย่างอดทน ตัวอย่างเช่น ถ้าให้คนเลือกรับเงิน 10 เหรียญวันนี้ กับ 11 เหรียญวันพรุ่งนี้ ส่วนใหญ่จะเลือกรับเงินน้อยกว่าแต่ได้วันนี้เลย แต่ถ้าให้เลือกระหว่าง 10 เหรียญใน 1 ปี กับ 11 เหรียญใน 1 ปี ก็จะเลือก 11 เหรียญ เมื่อเวลาถูกยืดออกไป

การวิจัยเชิงคุณภาพนี้ศึกษาของมูลเชิงลึกกับนักศึกษามหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน 14 คน โดยขอให้นักศึกษาทำการเลือก ขณะที่เข้าเครื่อง fMRI (functional magnetic resonance imaging) ซึ่งสร้างภาพการทำงานของสมองเมื่อมีกิจกรรมต่างๆ ออกมาได้ นักศึกษาจะได้เลือกรางวัลจาก Amazon.com เป็นกิฟต์เวาเชอร์มูลค่า 5 – 40 เหรียญ โดยระยะเวลาที่จะได้รับต่างกัน ยิ่งมูลค่าสูงจะยิ่งได้รับช้า คือตั้งแต่ 2 -  6 สัปดาห์ตามลำดับ

และผลที่ได้แสดงออกมาว่า การตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปได้ในการเลือกรับรางวัลทันทีนั้น จะถูกกระตุ้นโดยการทำงานของสมองฝั่งอารมณ์อย่างหนัก แต่ในขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเลือกระยะสั้นหรือระยะยาวนั้น สมองฝั่งเหตุผลของทุกคนก็จะทำงานเหมือนกัน

ที่สำคัญ เมื่อถูกเสนอให้รางวัล แต่ต้องรอเวลาออกไป สมองฝั่งเหตุผลจะทำงานมากกว่าฝั่งอารมณ์ แล้วพอเลือกที่จะได้รับรางวัลทันทีแล้ว แนวโน้มการทำงานก็จะเอนเอียงมาทางฝั่งอารมณ์มากกว่า

สรุปได้ว่า เมื่อมีตัวเลือกเข้ามา สมองส่วนอารมณ์และส่วนเหตุผลก็ทำงานแข่งกัน พยายามโน้มน้าวควบคุมการตัดสินใจเรา เช่น ระหว่างสลัดผักใบเขียวกับชีสเค้กนุ่มๆ สมองฝั่งเหตุผลก็รู้ดีว่าผักใบเขียวดีต่อสุขภาพระยะยาวแค่ไหน แต่หากชีสเค้กมารออยู่ตรงหน้าแล้วล่ะก็

“สมองส่วนอารมณ์ของเราจะจินตนาการภาพความสำเร็จในอนาคตได้ยากมาก แม้ว่าสมองฝั่งเหตุผลจะรู้ชัดถึงสิ่งที่ตามมาในอนาคตจากการเลือกในปัจจุบันแค่ไหนก็ตาม” 

“สมองฝั่งอารมณ์อยากจะรูดบัตรเครดิตให้เต็มวงเงิน อยากกินเค้กช็อกโกเลตตามใจชอบ อยากสูบบุหรี่ ส่วนสมองฝั่งเหตุผลก็จะคอยเตือนให้เก็บเงินไว้สำหรับวัยเกษียณ ออกไปวิ่งจ๊อกกิ้ง และหยุดสูบบุหรี่เถอะ การทำความเข้าใจความขัดแย้งภายในตัวคน จะช่วยให้เรารู้ว่าระบบสมองในการมองอะไรในระยะสั้นๆ กับการมองไปข้างหน้ายาวๆ นั้นประเมินค่ารางวัลที่ได้รับอย่างไร และระบบนี้สื่อสารกันเองอย่างไร” ลาบสันบอก

สงบแล้วเสียใจภายหลัง

เมื่อสมองฝั่งอารมณ์ชนะสมใจ ขณะนั้นฮอร์โมนโดพามีน ที่ได้ชื่อว่าฮอร์โมนแห่งความสุขจะหลั่งออกมา (ได้กินชีสเค้กแล้ว) อารมณ์ของคนเราก็จะสงบลง โดพามีนทำหน้าที่เสร็จแล้ว เมื่อนั้นเสียงของสมองฝั่งเหตุผลก็จะดังขึ้นทันที ทำให้คนส่วนใหญ่นึกเสียใจภายหลังเสมอ 

ช่วยสมองให้ตัดสินใจถูก

ถ้าอ่านงานวิจัยแล้วรู้สึกว่าเราจะไปสู้กับสมองฝั่งอารมณ์ได้อย่างไรล่ะ ขอบอกว่ายังมีวิธีที่จะร่วมมือกับสมองฝั่งเหตุผล เพื่อเป้าหมายระยะยาวของเรา

  1. จัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

เพราะรู้แล้วว่าสมองฝั่งอารมณ์ถูกกระตุ้นได้ด้วยภาพ เสียง กลิ่นที่เข้ามายั่วยวน ก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้ห่างไกลจากปัจจัยเหล่านี้ เช่น ถ้าอยากควบคุมอาหาร ในตู้เย็นก็ต้องมีอาหารเพื่อสุขภาพ ของอ้วนๆ อย่าซื้อเข้าบ้าน หรือถ้าอยากอ่านหนังสือให้มากขึ้น ก็จัดวางหนังสือไว้ใกล้มือ บนโต๊ะทำงาน บนหัวนอน จะได้หยิบอ่านสะดวก

  1. ใส่ใจกับความต้องการพื้นฐาน

ไม่ต้องหักหาญต่อต้านสมองฝั่งอารมณ์ เมื่อใดที่เกิด “อยาก” อะไรขึ้นมามากๆ นั่นก็อาจเป็นตัวชี้วัดสภาพร่างกายของคุณ ว่ากำลังขาดแคลน หรือต้องการสิ่งขั้นพื้นฐานบางอย่างอยู่หรือเปล่า เช่น ถ้าทำงานอยู่แล้วง่วงมาก อยากนอนเหลือเกิน บางทีคุณอาจจะอดนอนหรือหักโหมเกินไป ก็นอนพักสักงีบให้ร่างกายสดชื่น ตื่นขึ้นมาจะมีแรงทำงานมากกว่าเดิม หรือถ้าหิวจัดจนท้องร้อง ก็แก้หิวด้วยอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ก็ย่อมได้ เพื่อที่จะไม่ให้สมองตึงเครียดจากการฝืนเกินไป จนร่างกายหมดพลังตาม แล้วไปตบะแตกภายหลัง นั่นจะยิ่งทำให้เสียใจมากขึ้นกว่าเดิมอีก

  1. เชื่อมโยงอารมณ์เข้ากับเป้าหมาย

อารมณ์มักจะมีอิทธิพลเหนือเหตุผลเสมอ ฉะนั้น ถ้าต้องการสร้างนิสัย (ในการเลือกเพื่อเป้าหมายระยะยาวมากกว่า) ต้องสร้างอารมณ์ร่วมเข้ากับเป้าหมายนั้น เช่น เมื่อต้องการลงมือทำอะไรสักอย่าง ให้นึกถึงผลลัพธ์ที่จะได้เสมอ ตั้งแต่เริ่มลงมือทำ และในทุกขั้นตอน คือผูกความสุขติดเข้าไปในเป้าหมายนั่นเอง

  1. ลงมือทำ

เวลาที่เรากลัวหรือกังวลที่จะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง ก็มักพูดกับตัวเองให้มั่นใจในตัวเองมากกว่านี้ จริงๆ แล้วสิ่งที่ต้องทำก็คือกระโดดลงไปทำเลย ลงมือทำแล้วพุ่งไปข้างหน้าเลย ความมั่นใจจะตามมาเอง และสิ่งนี้ก็จะทำให้เราลงมือทำสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น การอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะทำนั้น จะถูกดึงความสนใจไปง่ายมากด้วยปัจจัยภายนอกต่างๆ และสมองฝั่งอารมณ์ของเราเอง ฉะนั้น ไม่ต้องคิดนาน ลงมือทำซะ