“เทค วอร์” แพ้ชนะวัดกันที่ “เอไอ”

“เทค วอร์” แพ้ชนะวัดกันที่ “เอไอ”

อนาคตจีนอาจแซงหน้าสหรัฐอเมริกากลายเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีต่างๆ

ข่าวด้านเทคโนโลยีใหญ่ที่สุดช่วงนี้ หนีไม่พ้น “กูเกิลจะระงับการทำธุรกิจกับหัวเว่ย” ซึ่งหลายคนเริ่มกังวล และจับตาว่าสงครามการค้ากำลังเปลี่ยนเป็นสงครามเทคโนโลยีจะกระทบกับเศรษฐกิจโลก และผู้ใช้มือถืออย่างไร จริงๆ แล้วการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของชาติมหาอำนาจมีมาตลอด เมื่อถึงยุคนี้ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีโดยเฉพาะอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้การแข่งขันเปลี่ยนไปสู่เรื่องเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) ชาติไหนมีความสามารถทางด้านนี้ดีกว่ากันก็จะมีศักยภาพการแข่งขันในอนาคตที่ดีกว่า สามารถนำหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติมาทำงานได้ดีขึ้น และการแข่งขันของมหาอำนาจวันนี้ก็เปลี่ยนไปเป็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน

ในอดีตสหรัฐอเมริกานำหน้าจีนไปมากในด้านเทคโนโลยีเอไอ ที่แต่ก่อนเน้นงานวิจัยและจำนวนผู้เชี่ยวชาญ แต่เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาปฎิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเอไอกลายเป็นการแข่งขันกันด้านการประยุกต์ใช้งาน และเน้นว่าใครมีข้อมูลที่มากกว่าจะสามารถทำเอไอได้ดีกว่า

ปรากฎการณ์นี้ทำให้จีนเริ่มได้เปรียบจากจำนวนข้อมูลมหาศาล ทั้งจากข้อมูลมือถือ ข้อมูลจากไอโอที ข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งข้อมูลทั่วไป เช่น เสียง ใบหน้า จึงทำให้บริษัทต่างๆ ในจีนมีศักยภาพทำเทคโนโลยีเอไอที่ดีกว่า ประกอบกับบริษัทจำนวนมากในจีน มีจำนวนบุคลากรจำนวนมาก และมีการลงทุนวิจัยด้านนี้เป็นมูลค่ามหาศาล ในปัจจุบันจีนจึงกลายเป็นชาติที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเอไอมาก และปฎิเสธไม่ได้ว่าในอนาคตจีนอาจแซงหน้าสหรัฐอเมริกากลายเป็นมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ

นอกจากเทคโนโลยี เอไอ จำเป็นต้องมีข้อมูลจำนวนมากแล้วเทคโนโลยี 5จี จะมีผลทำให้มีอุปกรณ์ต่างๆ มาเชื่อมต่อกับเครืือข่ายได้จำนวนมากและเร็วขึ้น จีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกาต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยี 5จี เพราะผู้นำด้านนี้จะได้เปรียบด้านเครือข่ายที่จะมีข้อมูลมหาศาลที่มาจากผู้ใช้โทรศัพท์ และอุปกรณ์เชื่อมต่อ และไม่น่าแปลกใจที่บริษัทในจีนหลายรายรวมทั้งหัวเว่ย เริ่มมีความสามารถเหนือกว่าคู่แข่งชาติอื่นๆ จากความโดดเด่นของจำนวนผู้เชี่ยวชาญ การลงทุนการวิจัย และการสนับสนุนภาครัฐ

อีกประเด็นหนึ่งต้องนำมาพิจารณา คือ การเริ่มเข้ามาเป็นเจ้าตลาดโทรศัพท์มือถือของโลก ซึ่งหัวเว่ยแซงหน้าแอ๊ปเปิ้ลขึ้นสู่อันดับสอง เมื่อพิจารณาจากจำนวนยอดนำส่งสมาร์ทโฟนไตรมาสแรกปีนี้ และมีแนวโน้มแซงหน้าซัมซุงเป็นเบอร์หนึ่ง เพราะเป็นรายเดียวที่ยอดนำส่งเพิ่มขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ถ้าพิจารณาจำนวนสมาร์ทโฟนทั่วโลกจะพบว่า เกือบ 50% ของตลาดเป็นของบริษัทจีน และเกือบ 30% คือยอดที่นำส่งในจีน

ข้อมูลข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอไอ 5จี หรือสมาร์ทโฟน จะเห็นได้ว่า บริษัทจีนกำลังมีศักยภาพด้านเทคโนโลยี และจะดึงข้อมูลออกมาได้มากมาย คือ ความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงของมหาอำนาจคู่แข่งอย่างสหรัฐอเมริกา ที่นอกจากจะเสี่ยงเรื่องการขาดดุลทางการค้า ก็อาจมีผลต่อศักยภาพการแข่งขันภายใต้ยุคอุตสาหกรรม 4.0

การระงับทำธุรกรรมของกูเกิลกับหัวเว่ย ย่อมไม่มีผลต่อผู้ใช้ในจีนมากนัก เพราะจีนใช้เทคโนโลยีตัวเอง และไม่สามารถใช้กูเกิลได้มากนัก แต่ก็อาจมีผลต่อประเทศอื่นๆ ที่ใช้โทรศัพท์หัวเว่ย เพราะจะไม่สามารถใช้บริการของกูเกิล หรือแอพพลิเคชันบางอย่างได้ เช่น อีเมล แผนที่ หรือยูทูบแม้หัวเว่ยจะยังสามารถใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่เป็นโอเพ่นซอร์สได้

แต่เชื่อว่า อนาคตหัวเว่ยหรือบริษัทต่างๆ ในจีนจะเลือกใช้ระบบปฏิบัติการใหม่ (Hongmeng ) ที่หัวเว่ยพัฒนาขึ้น แม้ระยะต้นอาจไม่มีแอพ หรือบริการที่ใช้กับระบบปฎิบัติการนี้มากเท่ากับแอนดรอยด์ และยอดขายมือถือหัวเว่ยอาจตกลง แต่เนื่องจากระบบปฏิบัติการใหม่จะมีผู้ใช้ที่รองรับและพร้อมใช้แล้วนับพันล้านคนจากจีน และอีกหลายประเทศจึงจะเป็นที่ดึงดูดนักพัฒนาซอฟต์แวร์และนักลงทุนให้มาสนใจระบบใหม่นี้มากขึ้น การพัฒนาระบบอัจฉริยะ เช่น แผนที่ หรือตัวแปลภาษาที่ผู้ใช้มือถือหัวเว่ยนอกประเทศจีนเคยใช้อยู่ ก็อาจถูกทดแทนด้วยบริการใหม่จากบริษัทจีนที่มีข้อมูลมหาศาล และสามารถพัฒนาระบบเข้ามาทดแทนได้อย่างรวดเร็ว

สงครามนี้ยังอีกยาวไกล การแข่งขันในวันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้แอพพลิเคชันหรือระบบนิเวศแบบเดิมๆ แต่มันคือการแข่งขันที่ผู้ชนะ คือ ผู้ที่มีศักยภาพในการทำเอไอได้ดีกว่า