อากาศพิษเลวร้ายยิ่งกว่าเราคิดกันมาก

อากาศพิษเลวร้ายยิ่งกว่าเราคิดกันมาก

“มนุษย์ยอมเสียสุขภาพเพื่อหาเงินแล้วก็ใช้เงินเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ” เป็นวาทะของท่านทะไล ลามะ เมื่อมีผู้ถามว่าอะไรทำให้ท่านประหลาดใจที่สุด

เกี่ยวกับมนุษยชาติ การทำอากาศให้เป็นพิษซึ่งทำลายสุขภาพเพื่อสร้างรายได้ในนามของ “จีดีพี” แล้วเมื่อป่วยไข้ก็ใช้รายได้ฟื้นฟูสุขภาพเป็นประเด็นเดียวกัน ร้ายยิ่งกว่านั้น การใช้เงินฟื้นฟูสุขภาพยังนับรวมเข้าไปในจีดีพีทำให้มันมีค่าสูงขึ้นอีกด้วย ค่าที่สูงขึ้นนั้นมองกันว่าดี ทั้งที่มันเป็นความเลวร้าย จึงสรุปได้ว่ามนุษย์ชอบสร้างเรื่องสมมุติขึ้นมาหลอกตัวเอง

ในช่วงนี้มีรายงานเรื่องการขอทำเหมืองถ่านหินที่อ.อมก๋อย จ. เชียงใหม่ และการพิมพ์หนังสือ 2 เล่มเกี่ยวกับอากาศพิษเรื่อง Choked: Life and Breath in the Age of Air Pollution ของ Beth Gardiner และเรื่อง The Invisible Killer: The Rising Global Threat of Air Pollution – and How We Can Fight Back ของ Gary Fuller นอกจากนั้น คุณสมลักษณ์ หุตานุวัตร ได้อ่านบันทึกหนังสือของผมเรื่อง เมื่ออากาศเป็นฆาตกร ลง Youtube สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงแม้หนังสือเล่มนี้จะดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนามานานแล้วก็ตาม (www.bannareader.com)

เรื่องการเผาถ่านหินก่อให้เกิดมลพิษคงเป็นที่ทราบกันอย่างทั่วถึงแล้วแม้จะมีบางคนประกาศออกมาแบบหน้าตาเฉยว่ามีถ่านหินสะอาดก็ตาม ส่วนการทำเหมืองถ่านหินมักก่อให้เกิดฝุ่นละอองอาจไม่เป็นที่ทราบกันมากนัก นอกจากนั้น ยังมักมีการทำลายป่าและภูเขาเพื่อเข้าถึงถ่านหินพร้อมกับการทำลายแหล่งน้ำและดินจากการทิ้งกากถ่านหินอีกด้วย หากการขอทำเหมืองถ่านหินในอมก๋อยได้รับอนุญาต นั่นจะเป็นการยืนยันว่ารัฐบาลไทยยังหลอกตัวเองต่อไปด้วยการทำลายสุขภาพของประชาชนเพื่อทำตัวเลขจีดีพีให้ดูดีขึ้น

การพิมพ์หนังสือ 2 เล่มของฝรั่งที่อ้างถึงนั้นอยู่ในกระบวนการนำเสนอปัญหาซึ่งทำกันมาอย่างจริงจังหลังเกิดปรากฏการณ์ “ฮิปปี้” อันเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนหนุ่มสาวเมื่อราว 50 ปีก่อน พญ. นภาพร ลิมป์ปิยากรกับผมได้นำหนังสือของฝรั่งจำนวนหนึ่งมาทำบทคัดย่อภาษาไทยและพิมพ์เป็นเล่มไว้ชื่อ “ธาตุ 4 พิโรธ” เมื่อปี 2551 หลายปีต่อมา เราได้เพิ่มข้อมูลและปรับชื่อหนังสือเป็น “ธาตุ 4 พิโรธ: โจทย์ที่ต้องมีคำตอบ” ซึ่งดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

หนังสือ 2 เล่มของฝรั่งดังกล่าวนั้นมีข้อมูลยืนยันตรงกันว่า ภาวะอากาศพิษและอันตรายต่อสุขภาพของมันสูงกว่าที่เราคิดกันมาก อากาศพิษมิได้จำกัดอยู่แค่ในเมืองอันแออัดและในย่านโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น หากยังเกิดขึ้นในเขตเกษตรกรรมอีกด้วย ทั้งนี้เพราะสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรมักกระจายออกไปในอากาศ การเผาเชื้อเพลิงในบ้านเพื่อทำอาหารซึ่งขาดการระบายควันอย่างดีมักมีผลกระทบร้ายแรงเช่นกัน นอกจากนั้น เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ เรามักพากันดีใจโดยมิได้คิดแบบองค์รวมว่าผลจะเป็นอย่างไร เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้ามองกันว่าเป็นการลดอากาศพิษโดยมิได้คิดต่อไปว่าการผลิตไฟฟ้าทำอย่างไร ในกรณีที่ไฟฟ้ายังผลิตจากการเผาถ่านหิน หรือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผลกระทบอาจเลวร้ายไม่ต่ำกว่าเดิมโดยเฉพาะในกรณีที่น้ำมันและก๊าซผลิตจากการใช้วิธี “fracking” อันเป็นการอัดฉีดส่วนผสมของน้ำ ทรายและสารเคมีเข้าไปในชั้นหินดาน วิธีนี้มีผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้เขียนเสนอแนวการปฏิบัติและนโยบายหลายอย่าง บางอย่างอาจทำได้ง่าย เช่น การไม่ออกกำลังกายในย่านที่มีรถยนต์ขวักไขว่ บางอย่างอาจทำไม่ได้ในระยะสั้น เช่น การไม่สร้างโรงเรียนใกล้ถนนใหญ่ และบางอย่างมักเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางแล้ว เช่น การปลูกต้นไม้เพื่อทำให้ชุมชนเมืองเป็นพื้นที่สีเขียว หนังสือมีข้อมูลจำนวนมากที่ทำให้ผมตระหนักว่า ภาวะอากาศพิษโดยทั่วไปและผลกระทบร้ายแรงของมันสูงกว่าที่ผมคิด แต่เขาพูดถึงเรื่องการเพิ่มของประชากรโลกโดยมิได้ชี้ให้เห็นว่าต้นตอของปัญหาอีกด้านคือการบริโภค หรือใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็นซึ่งเป็นอีกด้านของกระบวนการสร้างรายได้ หรือจีดีพี ปัญหาย่อมแก้ไม่ได้หากไม่ลดการบริโภคเกินความจำเป็นลง