ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ศาลแพ่ง

ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ศาลแพ่ง

เพิ่งกลับจากการไกล่เกลี่ยคดีที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศาลแพ่ง น่าจะถือว่าเป็นความสำเร็จของศูนย์ไกล่เกลี่ย เพราะคดีนี้เป็นคดีแรกของศูนย์

พราะคดีนี้เป็นคดีแรกของศูนย์ และจบลงด้วยดี

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยไกล่เกลี่ยที่สำนักงานศาลยุติธรรม เคยยื่นเรื่องที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หนึ่งครั้ง เคยยื่นเรื่องที่ กสทช.เรื่องบริการโทรคมนาคมหนึ่งครั้ง และที่ คปภ.(สำนักงานคณะกรรมการประกันภัย) อีกหนึ่งครั้ง พบว่าการทำงานของหน่วยงานที่ทำเรื่องไกล่เกลี่ยเหมือนกันก็จริง แต่วิธีการทำงานมีประสิทธิภาพต่างกันมาก คงมีหลายเรื่องที่หน่วยงานไกล่เกลี่ยบางแห่งจะต้องปรับปรุงเพื่อให้มีกระบวนการไกล่เกลี่ยมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของประชาชน ทำให้ข้อพิพาทยุติลงโดยไม่ต้องไปฟ้องร้องกันที่ศาล

สำหรับการไกล่เกลี่ยครั้งนี้โดยศูนย์ไกล่เกลี่ย ของศาลแพ่ง นับว่ามีประสิทธิภาพพอสมควร คู่ความสามารถตกลงกันได้เพียงการเจรจารอบเดียว แม้ว่าจะใช้เวลาหลายชั่วโมง แต่ก็ค่อนข้างเรียบร้อย ไม่มีอุปสรรคในการเจรจามากนัก แต่กระบวนการยังติดขัดเพราะเพิ่งเป็นครั้งแรกของศูนย์ฯ ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็ไม่มีใครตำหนิใคร

การไกล่เกลี่ยวันนี้ ทางฝ่ายโจทย์มีผมคนเดียว ฝ่ายจำเลยเป็นบริษัทได้มอบอำนาจให้ฝ่ายกฎหมายและฝ่ายลงทุนสัมพันธ์รวมสามคน ล้วนแล้วแต่เป็นหนุ่มสาวรุ่นราวคราวเดียวกับลูกๆ ของผม สำหรับผู้ไกล่เกลี่ยนั้นทีแรกนึกว่าจะเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ปรากฎว่าท่านมาจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นอดีตข้าราชการที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อเริ่มต้นกระบวนการ ผู้ไกล่เกลี่ยให้ทุกฝ่ายแนะนำตัวเอง รวมทั้งผู้ไกล่เกลี่ยเองว่าเป็นใครมาจากไหน และจุดยืนของทั้งฝ่ายโจทย์จำเลยในข้อพิพาทครั้งนี้มีความเป็นมาอย่างไร เมื่อทั้งสองฝ่ายพูดจบ ผู้ไกล่เกลี่ยแถลงกระบวนการพูดคุยว่าจะประกอบด้วยทั้งการพูดกันทั้งสองฝ่าย และพูดที่ละฝ่าย โดยการพูดทีละฝ่ายนั้น อีกฝ่ายจะถูกขอให้ออกจากห้องประชุม เมื่อพูดทีละฝ่ายเสร็จแล้ว ก็จะกลับมารวมกันอีกครั้ง กระบวนการนี้อาจทำหลายรอบ ถ้ารอบเดียวหาข้อยุติไม่ได้

ผมในฐานะฝ่ายโจทย์ด้พูดก่อนว่า เรื่องราวข้อพิพาทเป็นอย่างไร จุดยืนคืออะไร ต้องการอะไร จากนั้นฝ่ายจำเลยก็จะพูดถึงจุดยืนของบริษัท ข้อตกลงกับลูกค้า การให้บริการ ระยะเวลารับประกัน ซึ่งเป็นเรื่องหลักการของทั้งสองฝ่าย

ในรอบต่อไป ผู้ไกล่เกลี่ยขอให้ผมที่เป็นโจทย์ออกนอกห้องประชุม และเฉพาะผู้ไกล่เกลี่ยกับฝ่ายจำเลยที่อยู่ในห้องประชุม ซึ่งในขณะเดียวกันฝ่ายผู้รับมอบอำนาจจะถามสำนักงานใหญ่ก่อนตัดสินใจว่าจะยอมรับอะไรบ้าง

จากนั้นฝ่ายจำเลยทั้งหมดออกจากห้อง และเรียกผมที่เป็นโจทย์ไปพูดคุยว่าจะปรับเปลี่ยนข้อเรียกร้องอย่างไรหรือไม่ หรือพูดง่ายๆ ว่าจะถอยออกมาได้แค่ไหน

หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายจะเข้าประชุมต่อ ผู้ไกล่เกลี่ยสรุปประเด็นที่ตกลงกันได้ ส่วนที่ยังเห็นต่างเหลือแค่อะไรบ้าง และให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณา

ซึ่งในที่สุดก็ตกลงกันได้ทุกประเด็น เป็นการถอยหลังคนละก้าว

แต่บังเอิญเรื่องนี้มีปัญหา เพราะว่าผมได้ยื่นฟ้องศาลไปแล้ว แม้จะยังไม่เข้าสู่กระบวนพิจารณาอย่างเป็นทางการ แต่ก็เข้าระบบศาลไปแล้ว การไกล่เกลี่ยจึงเป็นเรื่องที่ต้องบันทึกข้อตกลงของคู่กรณี เพื่อนำข้อตกลงนั้นไปแจ้งต่อศาลว่าได้ตกลงกันแล้ว ข้อพิพาทเป็นที่ยุติ เพื่อให้นำสำนวนฟ้องออกจากระบบพิจารณาของศาลก่อนวันพิจารณาคดี

ตรงนี้ยุ่งยากพอสมควรเพราะเรื่องของศาลนั้น เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลแล้วจะถอนคดีก็ต้องทำตามกระบวนการทางศาล ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ไม่มาศาล ถือเป็นขาดนัด เผลอๆ อาจถูกศาลออกหมายเรียก ถ้าขัดคำสั่งอีกก็อาจมีโทษโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เรื่องจึงต้องปรึกษาผู้พิพากษาตัวจริงว่าจะทำอย่างไร ในขณะที่ฝ่ายจำเลยก็ไม่ต้องการให้มีการฟ้องศาลอีก และฝ่ายโจทย์ก็ต้องมั่นใจว่าฝ่ายจำเลยปฏิบัติตามที่ตกลง ไม่ใช่ตกลงแต่ไม่มาแก้ไขปัญหา แต่โจทย์ถอนฟ้องไปแล้ว จะมาฟ้องใหม่อีกก็คงไม่ได้ ตรงนี้กลายเป็นเรื่องยุ่งยากเพราะมีความเห็นไม่ตรงกัน และกลายเป็นว่าการตกลงยุติข้อพิพาทวันนี้อาจไม่จบกระบวนการ และต้องมาพบกันอีกครั้ง

ปัจจุบันมีคดีที่ขึ้นสู่ศาลแพ่งนับหลายแสนคดี เฉพาะคดีผู้บริโภค เช่นคดีบัตรเครดิต คดีกู้ยืมเงินเพื่อกาศึกษา คดีเชื่อซื้อรถจักรยานยนต์ และอื่นๆรวมกันก็กว่า300,000 คดี ถ้าทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท ให้ปรึกษาศูนย์ไกล่เกลี่ยศาลแขวงในเขตพื้นที่ แต่ถ้าเกิน ก็มาที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยศาลแพ่ง มีปัญหาทางแพ่ง อย่าเพิ่งฟ้องคดีในศาลนะครับ ลองใช้ศูนย์ไกล่เกลี่ยของศาลแพ่งดู

กรณีของผม การเจรจายุติข้อพิพาทใช้เวลาไม่ถึงสองชั่วโมง แต่การเขียนข้อตกลงเพื่อให้เป็นทั้งที่ยอมรับและบังคับใช้ได้ตามกฎหมายนั้นใช้เวลาอีกสามชั่วโมง ในระหว่างนั้นฝ่ายโจทย์คือผมกับฝ่ายจำเลยคือผู้รับมอบอำนาจสามคนจากบริษัทก็พูดคุยกันในเรื่องต่างๆแบบกันเอง ไม่ได้หน้าดำคร่ำเครียดพูดจากระทบกระแทกเสียดสีกัน

มีข้อสังเกตุอย่างหนึ่งว่า ผู้ไกล่เกลี่ยนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย อย่างเช่นกรณีนี้ไม่ได้จบกฎหมาย แต่เป็นนักสิ่งแวดล้อม แต่ก่อนมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยต้องเข้าอบรมเรื่องการไกล่เกลี่ยที่ศาลจัด และต้องเข้าสังเกตุการณ์ในห้องไกล่เกลี่ยจริงจนมั่นใจว่าจะทำหน้าที่ได้ จึงจะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยได้ การไกล่เกลี่ยจึงไม่ใช่การยกข้อกฎหมายมาห้ำหั่นกัน แต่พูดคุยกันว่าจะลดราวาศอกกันได้อย่างไร ให้เรื่องจบลง แต่เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาข้อกฎหมาย ก็ต้องมีผู้พิพากษาจริงๆให้คำปรึกษาด้วย

หลังจากจบการไกล่เกลี่ย ได้ออกมาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ทุกคนถามผลการไกล่เกลี่ยคดีแรกว่าเป็นอย่างไร ทุกคนพอใจว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของศูนย์ฯ ที่ไกล่เกลี่ยครั้งแรกก็สำเร็จในเวลารวดเร็วไม่ถึง 5 ชั่วโมงเมื่อทางศูนย์ฯทราบว่า ผมมีประสบการณ์อะไรบ้าง ก็เอ่ยปากว่าอยากให้มาช่วยทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย เพราะมีคุณสมบัติครบถ้วน เพียงแต่ต้องสมัครเข้ามารับการอบรมตามขั้นตอนของกระบวนการให้สอดคล้องกับระเบียบปฏิบัติของศูนย์ฯ

แอบกระซิบถามว่า คดีที่ไกล่เกลี่ยนี้มีตั้งแต่แบบไม่มีทุนทรัพย์แบบของผม จนถึงทุนทรัพย์ร้อยล้านพันล้าน ค่าตอบแทนผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยเป็นอย่างไร

คำตอบคือคดีละ 1,000 บาท ไม่ว่าจะมาประชุมกันกี่รอบกว่าจะเสร็จ

ผมเลยขอตัวกลับบ้าน