โค้งแรกปี 62…การส่งออกไม่ได้แย่อย่างที่เห็น

โค้งแรกปี 62…การส่งออกไม่ได้แย่อย่างที่เห็น

จากการที่ผมได้พูดคุยกับหลายๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออก หน่วยงานภาครัฐบางแห่งหรือแม้แต่สื่อมวลชน

จะสังเกตได้ว่าส่วนใหญ่กำลังมีความกังวลต่อทิศทางการส่งออกของไทยในปีนี้ จากตัวเลขส่งออก
ในไตรมาสแรกที่หดตัว 1.6% ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ปะทุขึ้นอีกครั้งหลังจากสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนระลอกใหม่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตัวเลขส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสแรกอย่างละเอียดพบว่ายังมีสัญญาณบวกในบางแง่มุมที่อาจเป็นตัวช่วยประคับประคองการส่งออกในปีนี้ไม่ให้แย่อย่างที่หลายฝ่ายกังวลหรืออาจช่วยให้การส่งออกกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี ได้แก่

ตลาด CLMV ยังคงแข็งแกร่ง ท่ามกลางภาวะที่การส่งออกของไทยหดตัวลงเกือบทุกตลาด แต่การส่งออกไปตลาด CLMV ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทยรองจากสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ราว 1% แม้ดูเหมือนเป็นตัวเลขที่ไม่สูง แต่หากพิจารณารายละเอียดพบว่าการส่งออกไปยัง CLMV ถูกฉุดรั้งจากสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ที่หดตัวลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง
เป็นหลัก ขณะที่การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปยังตลาด CLMV ยังขยายตัวอย่างร้อนแรง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (ขยายตัว 132%) ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง (ขยายตัว 45%) เครื่องสำอาง (ขยายตัว 10%) และเครื่องคอมพิวเตอร์ (ขยายตัว 7%) สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม CLMV ที่ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งจากราคาน้ำมันในปัจจุบันที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นหลังจากสหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่าน ประกอบกับฐานราคาน้ำมันปี 2561 ที่ปรับลดลงในช่วงปลายปี ทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันไปยัง CLMV
มีแนวโน้มจะเริ่มฟื้นตัวในระยะถัดไป เมื่อประกอบกับการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังขยายตัวร้อนแรงต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าการส่งออกของไทยไป CLMV ในปี 2562 จะกลับมาขยายตัวได้ราว 7-10%

การส่งออกสินค้าที่ไทยเป็นเจ้าตลาด โดยเฉพาะอาหารยังขยายตัวได้ดี จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในเกือบทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวกว่า 5% ในช่วงไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าในหมวดอาหารกลับยังขยายตัวดีในหลายสินค้า อาทิ ผลไม้ (ขยายตัว 64%) ผัก (ขยายตัว 11%) ไก่แปรรูป (ขยายตัว 14%) อาหารทะเลกระป๋อง (ขยายตัว 8%) และเครื่องดื่ม (ขยายตัว 10%) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่สินค้าในกลุ่มอาหารเป็นสินค้าจำเป็น ที่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย ขณะเดียวกัน กลุ่มสินค้าดังกล่าวมีผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมค่อนข้างมาก เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมาจากในประเทศเป็นสำคัญ

ผู้ประกอบการไทยบางส่วนเริ่มปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้า คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ถือเป็นปัจจัยบั่นทอนสำคัญที่กดดันให้การส่งออกของไทยหดตัวในช่วง
ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีน อาทิ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา ไม้ และแผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งจีนนำเข้าจากไทยเพื่อผลิตและส่งออกสินค้าสำเร็จรูปไปยังสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม แม้มูลค่าส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยไปจีนจะหดตัวรุนแรงต่อเนื่อง แต่การส่งออกของไทยไปตลาดอื่นๆ กลับขยายตัวในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ประกอบการไทยเริ่มปรับตัวโดยการ
หาตลาดหรือช่องทางการส่งออกอื่นๆ เพื่อทดแทนตลาดจีนที่หดตัวลง ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ซึ่งมูลค่าส่งออกไปจีนในช่วงไตรมาสแรกหดตัวถึง 25% แต่การส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ในอาเซียนกลับขยายตัวได้ในระดับสูง ได้แก่ อินโดนีเซีย (ขยายตัว 34%) เวียดนาม (ขยายตัว 18%) ยางพารา มูลค่าส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของไทยในไตรมาสแรกหดตัว 18% แต่การส่งออกไปยังตลาดอื่น โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ แคนาดา (ขยายตัว 80%) ฝรั่งเศส (ขยายตัว 51%) เนเธอร์แลนด์ (ขยายตัว 47%) ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถทดแทนตลาดจีนได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถบรรเทาผลกระทบและช่วยพยุงการส่งออกของไทยได้ในระดับหนึ่ง

จากปัจจัยที่ช่วยพยุงการส่งออกของไทยดังที่กล่าวมา ทำให้แม้การส่งออกของไทยในภาพรวมในไตรมาสแรกหดตัว 1.6% แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ พบว่า การส่งออกของไทยหดตัวน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย (การส่งออกในไตรมาสแรกหดตัว 8.5%) ไต้หวัน (หดตัว 4.2%) เกาหลีใต้ (หดตัว6.8%) ญี่ปุ่น (หดตัว 3.9%) ซึ่งหากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความชัดเจนขึ้น ก็เป็นไปได้ว่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 อาจจะพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK