หน้าจอมือถือ อันตรายต่อพัฒนาการเด็ก

หน้าจอมือถือ อันตรายต่อพัฒนาการเด็ก

ยิ่งเด็กใช้เวลาที่หน้าจอมากเท่าไร ยิ่งทำให้พัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กแย่ลง

พวกเราโดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีลูก มักได้ยินเสมอว่าอย่าปล่อยให้เด็กอยู่หน้าจอโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน หน้าจอเหล่านี้อันตรายต่อเด็กจริงหรือไม่ วันนี้จะมาเล่าสู่กันฟัง

เทียบกับ 20 ปีก่อน เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบทุกวันนี้ใช้เวลาที่หน้าจอเพิ่มขึ้นจริง จากข้อมูลของ Child Development Supplement Panel Study of Income Dynamics มหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่า ปี 1997 เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบใช้เวลาที่หน้าจอ 1.32 ชั่วโมง ในปี 2014 เพิ่มเป็น 3.05 ชั่วโมง โดยใช้เวลาที่หน้าจอโทรทัศน์ถึง 2 ชั่วโมงครึ่งเมื่อเทียบกับปี 1997 ที่ใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง ขณะที่เด็กอายุ 3-5 ขวบใช้เวลาที่หน้าจอโทรทัศน์จากราว 1 ชั่วโมงในปี 1997 เป็นมากกว่า 2 ชั่วโมงในปี 2014

เดือนมกราคม 2562 เว็บไซต์นิตยสารไทม์เผยแพร่บทความเรื่อง 'Too Much Screen Time Can Have Lasting Consequences for Young Children’s Brains' พูดถึงผลกระทบจากการอยู่หน้าจอต่อสมองของเด็ก

บทความเล่าว่า ในอดีตงานวิจัยถึงผลกระทบของการใช้เวลาที่หน้าจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ต่อพัฒนาการเด็กมักครอบคลุมระยะเวลาศึกษาเพียงสั้นๆ แต่ล่าสุดมีงานศึกษาของ Sheri Madigan นักวิชาการด้านจิตวิทยาจาก University of Calgary และทีมงาน ที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างแม่และเด็กจำนวนมากถึง 2,441 คน ติดตามพฤติกรรมเด็กตั้งแต่อายุ 2-5 ขวบ ระหว่างเดือนตุลาคม 2011 ถึงตุลาคม 2016 โดยคุณแม่บันทึกระยะเวลาที่ลูกตนเองใช้กับหน้าจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ในแต่ละวัน และตอบคำถามเกี่ยวกับพัฒนาการของลูกผ่านตัวชี้วัดต่างๆ ซึ่งบรรจุตัวชี้วัดเกี่ยวกับทักษะการสื่อสาร พฤติกรรมทางสังคม โดยเก็บข้อมูลครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 2 ขวบ และอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 3 ขวบและ 5 ขวบ ผู้วิจัยพบว่า โดยเฉลี่ยเด็กใช้เวลาที่หน้าจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน

ผู้วิจัยพบว่ายิ่งเด็กใช้เวลาที่หน้าจอมากเท่าไร ยิ่งทำให้พัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการปฏิสัมพันธ์กับสังคม แย่ลงเมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน โดยเฉพาะในเด็กวัย 2-5 ขวบที่สมองอยู่ในช่วงพัฒนามากสุด
ทั้งนี้ปัจจุบันสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics) แนะนำให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 เดือนหลีกเลี่ยงการมองหน้าจอ ขณะที่สำหรับเด็กอายุ 18 ถึง 24 เดือน ผู้ปกครองควรเลือกรายการที่มีคุณภาพ โดยดูร่วมกับเด็กเพื่อคอยแนะนำ และหลีกเลี่ยงให้เด็กดูหน้าจอตามลำพัง สำหรับเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไป ผู้ปกครองควรจำกัดระยะเวลาการอยู่หน้าจอ ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน

สำหรับเด็กที่โตแล้วหรือวัยรุ่น ผู้ปกครองควรกำหนดเขตปลอดหน้าจอ (Media-Free Zone) เช่น ห้องนอน เพื่อให้เด็กได้มีเวลาออกจากหน้าจอ และพักผ่อนเพียงพอ 8-12 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้เด็กไม่ควรนอนหลับไปพร้อมอุปกรณ์สื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์

สอดคล้องกับความเห็นขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่แนะนำว่า การใช้เวลากับหน้าจอส่งผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกับเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบไม่ควรดูหน้าจอ เด็กอายุ 2-5 ขวบไม่ควรดูเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยคุณภาพของรายการโทรทัศน์หรือเนื้อหาในโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ปกครองควรคัดเลือกรายการที่มีคุณภาพ

งานสำรวจอื่นๆ ยังพบว่า การใช้เวลาที่หน้าจอมาก ส่งผลต่อภาวะอ้วนในเด็ก มีงานวิจัยในกลุ่มวัยรุ่นพบว่า ผู้ใช้เวลาหน้าจอโทรทัศน์มากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวันอยู่ในภาวะน้ำหนักเกินค่ามาตรฐานมากกว่าผู้ใช้เวลาหน้าจอวันละ 0-2 ชั่วโมง ในขณะที่สำหรับเด็กอายุ 4-9 ขวบ การดูโทรทัศน์มากกว่า 1.5 ชั่วโมงต่อวันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้น้ำหนักเกินค่ามาตรฐานหรืออ้วนได้

นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่า การใช้เวลาที่หน้าจอส่งผลต่อคุณภาพการนอน เด็กที่ใช้เวลากับหน้าจอมาก เล่นโซเชียลมีเดียมาก หรือมีอุปกรณ์สื่อสาร คอมพิวเตอร์ในห้องนอนมักมีปัญหาการนอน ปัญหาอาจเกิดเพราะแสงจากหน้าจอหรือเนื้อหารายการที่ดู ผลกระทบต่อการนอนนี้ยังส่งผลต่อการเรียนที่โรงเรียนของเด็กด้วย

ในยุคปัจจุบันที่ผู้ปกครองจำนวนมากนิยมใช้โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือโทรทัศน์ เป็นเครื่องมือในการเลี้ยงเด็กหรือช่วยให้การเลี้ยงง่ายขึ้น เนื่องจากเด็กมักอยู่ในภาวะสงบต่อหน้าจออุปกรณ์เหล่านี้ แม้อุปกรณ์เหล่านี้มีประสิทธิภาพ แต่ส่งผลร้ายต่อพัฒนาการเด็กหลายอย่างโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้ปกครองจึงควรระมัดระวังให้มาก