อเมซิ่งไชน่า

อเมซิ่งไชน่า

ถ้าไทยจะนำจีนสักเรื่องหนึ่ง ผมว่าเราใช้คำว่า “อเมซิ่งไทยแลนด์” มานานหลายสิบปีแล้ว แต่จีนเพิ่งใช้คำว่า “อเมซิ่งไชน่า” เมื่อปีที่แล้วนี่เอง

2 มีนาคม 2561 รัฐบาลจีนเผยแพร่ภาพยนต์สารคดีเรื่อง “อเมซิ่งไชน่า” ให้คนทั่วโลกได้เห็นว่า จีนก้าวหน้ามากเพียงใด ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีอุตสาหกรรม และการทำลายล้างความยากจน

สัปดาห์แรกที่ภาพยนต์ออกฉายในจีน ตั๋วเข้าชมหมดเกลี้ยง ผู้ชมแน่นขนัด เป็นสถิติ บ็อกซ์ ออฟฟิศ สำหรับภาพยนต์สารคดีเลยทีเดียว และหลังจากฉายรอบปฐมทัศน์ผ่านไป 2 สัปดาห์ รายได้สูงถึง 270 ล้านหยวน หรือ 42 ล้าน ดอลล่าร์

“อเมซิ่งไชน่า” ความยาว 90 นาที พระเอกของเรื่องปรากฎโฉมถึง 30 ฉาก เขาเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก สี จิ้น ผิง ท่านผู้นำ ซึ่งผลงานโดดเด่น และช่วงนั้น จีนกำลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อตัดข้อความ “จำกัดเวลา”ในการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุด ออกไป ทำให้ สี จิ้นผิง มีโอกาสจะเป็นผู้นำต่อเนื่อง ได้นานเท่าที่เขาต้องการ

คนจีนแผ่นดินใหญ่ คงไม่กล้าวิจารณ์ภาพยนต์เรื่องนี้หรอกครับ แต่สื่อต่างชาติทำได้ เอพี รายงานว่า ผู้ชมที่แน่นขนัดโรงภาพยนต์นั้น ไม่มีใครซื้อตั๋วเอง แต่ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรภาครัฐ จำเป็นต้องซื้อตั๋วและสั่งการให้พนักงานไปชม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนโรงภาพยนต์ ก็ต้องกำหนดเวลาการฉายภาพยนต์ รอบเช้าหรือรอบบ่าย เท่านั้น ห้ามฉายรอบดึกใกล้เที่ยงคืน สื่อต่างชาติจึงวิจารณ์ว่า อเมซิ่งไชน่า ก็คือ การ “โฆษณาชวนเชื่อ” (Propaganda)เพื่อสร้างภาพความยิ่งใหญ่ให้แก่ สี จิ้นผิง... ดีๆนี่เอง

อเมซิ่งไชน่า คึกคักต่อเนื่อง 6 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 14 เมษายน 2561 ทำรายได้มากถึง 465 ล้านหยวน หรือ 105 ล้านดอลล่าร์ แต่อยู่ดีๆ 19 เมษายน ผู้จัดจำหน่ายก็ออกประกาศ “ถอด” ภาพยนต์เรื่องนี้ ออกจากทุกโรงภาพยนต์ โดยระบุว่ามีคำสั่งมาจากเบื้องบน (นึกถึงละคร “เหนือเมฆ 2 ไหมครับ)

ประเทศจีนกำลังเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ใครๆก็รู้ แต่รัฐบาลก็ยังต้องใช้วิธีการ ที่สื่อตะวันตกบอกว่าเป็น “โฆษณาชวนเชื่อ” อยู่ดี ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมีประชากรมากถึง 1,400 ล้านคน ถ้าจะปรับเปลี่ยนวิธีคิดของประชาชน ให้รวดเร็ว รัฐจึงจำเป็นต้องใช้วิธีนี้ ซึ่งรัฐบาลจีนอาจจะอธิบายแบบนี้ ก็ได้

คำว่า Propaganda ถูกมองในเชิงลบโดยประเทศเสรีนิยม ประเทศเหล่านี้ เวลาต้องการขับเคลื่อนอะไร เขาจะใช้คำว่า Campaign ภาษาไทยแปลได้ไพเราะว่า “การรณรงค์” คือให้ช่วยกันกระพือกระแสสังคม ให้ทำ (สิ่งที่ดี) ให้สำเร็จ เช่นรณรงค์ให้ บริจาคโลหิต หรือให้ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เป็นต้น

แต่ไม่ว่าจะใช้คำอะไร เป้าประสงค์ของทั้งสองคำนี้ ก็คือต้องการเปลี่ยนความคิด หรือเปลี่ยนวิถีปฎิบัติ ของประชาชน ให้เชื่อหรือให้ปฎิบัติในสิ่งที่ผู้สื่อสาร ต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งทั้งสองวิธี มีความคล้ายกันอย่างหนึ่ง คือต้องตอกย้ำด้วยการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง

บ้านเรา มีการรณรงค์บ่อยครั้ง แต่มักไม่ค่อยได้ผล ส่วนใหญ่ก็เลือนหายไปกับกาลเวลา เช่นเรื่องดีๆอย่าง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เป็นต้น ส่วนเวลามีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็จะออกมา รณรงค์ ว่าถ้าเลือกพรรคนี้แล้ว ประชาชนจะได้อะไร แต่พอเข้ามาจริง ที่เคยรณรงค์ไว้ก็มักจะหายไปเยอะ และประชาชนก็เบื่อที่จะติดตามทวงถาม

สำหรับ “อเมซิ่งไทยแลนด์” ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อ อย่างแน่นอน แต่เป็นการรณรงค์ ที่มีเป้าหมายหลักคือ บอกชาวโลกถึงความมหัศจรรย์ของประเทศไทย ว่าน่าท่องเที่ยวเพียงใด โดยมี “ความจริง” เป็นประกันว่า ท้องทะเลของเรานั้นสวยเพียงใด วัฒนธรรมของเราอ่อนช้อยขนาดไหน อาหารไทยเฉียบขาดอย่างไร และรอยยิ้มไทย จะหาชาติใดมาเทียมทัน ฯลฯ

เพียงแต่ระยะหลังๆ คำนี้ถูกนำไปใช้ในความหมายอื่นมากขึ้น เวลาคนไทยบางคนทำอะไรจนเลยเถิด เกินกว่าที่เราคิดว่าจะเป็นไปได้ แต่เขาก็ทำได้และไม่มีใครหยุดยั้งเขาได้ เรามักประชดประชันด้วยคำว่า “อเมซิ่งไทยแลนด์!

กลับไปที่ อเมซิ่งไชน่า อีกครั้ง จนถึงบัดนี้ ผมก็ยังไม่เห็นมีรายงานใดออกมาว่า ใครสั่งให้หยุดฉายภาพยนต์เรื่องนี้ และเพราะเหตุใด ก็รัฐบาลสร้างขึ้นมาเอง และปลุกเร้าผู้คนทั้งประเทศให้ภาคภูมิใจในท่านผู้นำและความสำเร็จของประเทศ แล้วทำไมเปลี่ยนใจกระทันหัน ก็ไม่รู้เหมือนกัน

แต่ที่แน่ๆก็คือ กระแสการปลุกเร้าให้รักชาติ ยังคงมีอยู่ในจีน และเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน เมื่อมีการจับกุมทายาทสาวหัวเหว่ย และเมื่อทรัมพ์ประกาศสงครามการค้ากับจีน

ดิ อีโคโนมิสต์ ฉบับ 15 พ.ค. นี้เอง รายงานว่า สงครามการค้าครั้งนี้ ทรัมพ์ เหนือกว่าผู้นำจีนอย่างชัดเจน ในเรื่องสร้างกระแสและโจมตี ก็จะไม่เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร ในเมื่อพี่ทรัมพ์ของเราแก ทวีต (อาวุธหลัก!) โจมตีจีนไปแล้วถึง 133 ครั้ง ขณะที่ผู้นำจีน ออกมาพูดน้อยกว่านั้นมาก

แต่ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ บางอย่างเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อทรัมพ์ ประกาศขึ้นอัตราภาษีขาเข้าสินค้าบางอย่างของจีน จาก 10% เป็น 25% และสินค้ามีมูลค่ารวมกัน มากถึง 200 พันล้านดอลล่าร์ ทำให้การเจรจาการค้า ที่ดูเหมือนว่ากำลังคืบหน้า สะดุดลง และต่างฝ่ายต่าง โทษกันไป โทษกันมา

ทรัมพ์ ก็คือทรัมพ์ เขายังคงทวีตต่อไปเรื่อยๆ แต่จีนเริ่มเปลี่ยนท่าที เพราะสื่อที่เป็นกระบอกเสียงรัฐบาล เริ่มปลุกกระแสรักชาติ แรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวันจันทร์ที่ 13 พ.ค. นี้ ผู้ประกาศข่าวช่องที่มีผู้ชมมากที่สุด ประกาศว่า “ถ้าคุณต้องการคุย เราก็เปิดประตูคุยด้วย... แต่ถ้าคุณต้องการสู้ เราจะสู้ จนถึงที่สุด”

แรงไหมครับ? ที่แน่ๆก็คือ คลิป ของผู้ประกาศข่าวคนนี้ ได้กลายเป็น ไวรัล ไปแล้ว ในประเทศจีน ตลอดสัปดาห์นี้

ดูเหมือนผู้นำจีนกำลังบอกอเมริกาว่า อย่าคิดว่าอเมซิ่งไชน่า จะเป็นเพียงภาพยนต์โฆษณาชวนเชื่อนะ เวลานี้คือ อเมซิ่ง “ของจริง”

ไม่เชื่อก็ลองดู... ฮึ่ม ฮึ่ม ฮึ่ม!