ประชาธิปัตย์-ลีลา & เงื่อนไขเข้าร่วมรัฐบาล

ประชาธิปัตย์-ลีลา & เงื่อนไขเข้าร่วมรัฐบาล

เสร็จศึกชิงหัวหน้าพรรค ที่ลงเอยด้วยการมีมติให้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นผู้นำคนใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ นับเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 8 ในรอบ73ปี

ภารกิจเร่งด่วนสำคัญ คือการตัดสินใจของหัวหน้าและกรรมการบริการพรรคชุดใหม่ ว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ที่ประกาศสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ

ภารกิจเร่งด่วนของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 8 และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ คือการตัดสินใจที่จะเข้าร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาล 

แม้คำตอบจะคาดหมายได้ว่า ท้ายที่สุด ประชาธิปัตย์ อาจจะตัดสินใจเข้าร่วมเพราะเป็นตัวแปรสำคัญ หากคิดแบบ “ทารกทางการเมือง” เป็นฝ่ายค้านอิสระ รังแต่จะทำให้ประเทศเข้าสู่ทางตัน และเกิดวิกฤติการเมืองรอบใหม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ประชาธิปัตย์จะกลายเป็น “จำเลย”ทางการเมือง

แต่ให้ดูลีลา หรือจังหวะก้าวทางการเมืองต่อการเข้าร่วมของประชาธิปัตย์ ที่จะร่วมรัฐบาล จะต้องมีเงื่อนไขที่มิใช่เรื่องการต่อรอง “ตำแหน่ง”ทางการเมือง เพราะนั่น “ธรรมดาเกินไป” สำหรับพรรคเก่าแก่ทางการเมืองที่สุดซึ่งมีนักการเมือง “ชั้นเซียน” อยู่เต็มพรรค

จะเป็นการเข้าร่วมที่พร้อม ถอนตัวตลอดเวลา หากไม่ทำตามสัญญาก่อนเข้าร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเงื่อนไข ต้องจัดการไม่ให้เกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในรัฐบาลใหม่ ซึ่งเคยเป็นเงื่อนไขที่ประชาธิปัตย์ประกาศถอนตัวในรัฐบาล “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต” ของรัฐบาลสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2533 มาแล้ว

หรืออาจมีการขอสัตยาบันต่อกัน ในการ แก้รัฐธรรมนูญ 2560” ซึ่งถูกวิจารณ์มากว่า มีหลายจุดที่ “ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ” แลกกับ “ความชอบธรรม” ที่ประชาธิปัตย์จะสามารถอธิบายกับแฟนคลับที่เหลืออยู่ 3.9 ล้านเสียง และฟื้นฟูกอบกู้ศรัทธาพรรคกลับคืนมา

แต่การอยู่ข้างนอก เป็นฝ่ายค้านอิสระ ดีแต่พูดไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ ไม่ได้กอบกู้ภาพลักษณ์ เก่งแค่ปาก ทำงานไม่เป็น ที่ถูกตีตราไว้อย่างยาวนานได้

ฝ่ายค้านอิสระ” คือ วาทกรรม" ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นของกลุ่มที่พิสูจน์แล้วว่า ล้มเหลวทางการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์