ร้อยความคิด สิบลงมือทำ หนึ่งความสำเร็จ

ร้อยความคิด สิบลงมือทำ หนึ่งความสำเร็จ

ความต้องการพนักงานที่มีความคิด จินตนาการ และสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้ (Talent หรือ Creative genius) กลายเป็นสิ่งที่องค์กรยุคใหม่ต้องการ 

มากกว่าพนักงานที่ทำงานตามสั่ง หรือตามขั้นตอนมาตรฐานเท่านั้น เพราะงานซ้ำๆ งานที่ต้องการความเที่ยงตรงแม่นยำสูง งานเสี่ยงอันตราย จะค่อยๆทะยอยถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ ด้วยเงื่อนไขสองประการคือ แรงงานหายากขึ้น และค่าแรงเพิ่มสูงขึ้น จนความคุ้มค่าของระบบงานทั้งที่เป็น semi-auto และ fully automated มีความคุ้มค่ามากกว่า

 

พนักงานทั้งหลายจึงควรที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นไปทำงานใหม่ๆที่มีคุณค่ามากกว่าเดิม งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานที่ต้องเข้าไปควบคุมสั่งการหรือโปรแกรมให้คอมพิวเตอร์หรือระบบอัตโนมัตินั้นทำงานได้ในแบบที่เราต้องการ หลายองค์กรชั้นนำของไทยในตอนนี้จึงขยับขยายด้วยการส่งเสริมให้คิดอะไรที่ใหม่ ใหญ่และยากมากขึ้น การสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการกำหนดให้พนักงานต้องนำเสนอไอเดียใหม่ๆในการพัฒนางานของตัวเอง ทั้งที่คิดโดยลำพังแต่ละคน จนถึงร่วมกันคิดเป็นกลุ่ม เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่

 

ในปีแรกๆควรเน้นที่การมีไอเดียที่มากในเชิงปริมาณ มากกว่าบีบเค้นให้พนักงานต้องคิดไอเดียที่มีคุณค่ามากๆในเชิงคุณภาพ เพราะอย่าลืมว่าพนักงานไม่ได้ฝึกให้คิดอะไรใหม่ๆแบบก้าวกระโดดมาก่อน หากแต่การทำงานในอดีตจะใช้เวลาร้อยละ 80 ถึง 100 หมดไปกับการทำงานประจำ มีไม่ถึงร้อยละ 20 ของเวลางานที่ใช้ไปในการคิดปรับปรุงงาน แต่ก็ยังห่างไกลจากการคิดใหม่ทำใหม่ในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน

 

การส่งเสริมให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆที่แตกต่างหลากหลายไปจากสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคย หรือองค์กรเคยมีมาก่อนนั้น องค์กรต้องใจกว้างและพร้อมที่จะรับความเสี่ยงด้วย เพราะการที่จะคิดและทำในสิ่งใหม่ มันคือการทดลองที่ยังไม่รู้คำตอบว่าจะออกมาแบบที่เราคาดคิดไว้หรือไม่ แต่ให้มองว่าการทดลองนั้นช่วยเพิ่มทักษะความสามารถใหม่ให้กับพนักงาน ได้เรียนรู้ทั้งความผิดพลาดและความสำเร็จ รู้ว่าทำแบบนี้แล้วได้ผลแบบนี้ ถ้าทำอีกแบบจะได้ผลที่แตกต่าง คำว่า ประดิษฐกรรม (Invention) นวัตกรรม (Innovation) และการลงทุน (Investment) จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นการลงทุนอีกประเภทหนึ่ง และเป็นการลงทุนที่ผู้ประกอบการและผู้บริหารธุรกิจทั้งหลายไม่คุ้นเคย เพราะในอดีตเวลาเรานึงถึงคำว่าลงทุน เรามักจะนึกถึงการลงทุนทำธุรกิจ (จัดตั้งบริษัท ทำการค้า) หรือสำหรับองค์กรหรือคนที่มีเงินเหลือ ก็จะไปลงทุนทางการเงิน แต่นวัตกรรมเป็นการผสมผสานของแนวคิดการลงทุนแบบเดิม คือเป็นทั้งการลงทุนทำธุรกิจด้วยตัวเอง และเป็นการลงทุนทางการเงินที่แค่เป็นผู้ถือหุ้น

 

ผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment) มักมาพร้อมกับความเสี่ยง (Risk) ซึ่งนวัตกรรมจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า High risk high return ดังนั้นการตัดสินใจว่าจะนำเม็ดเงินที่มีไปใส่ให้กับโครงการใด การประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ (Project feasibility) จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระบวนการของการสร้างนวัตกรรม มีองค์ประกอบสำคัญคือ ความคิดใหม่ (Idea) การทดลองหรือการประดิษฐ์คิดค้น (Invention) และผลของการนำไปใช้งาน (Impact) โดยกระบวนการที่เปลี่ยนจากความคิด เป็นต้นแบบของสิ่งใหม่นั้น ต้องมีการประเมินว่าสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้งานทั่วไปแล้วในปัจจุบัน (existing technology) หรือจากการค้นคว้าจนได้กรรมวิธีใหม่ที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น (inventive step) เรียกว่า การประเมินความเป็นไปได้ทางเทคนิค (Technology feasibility)

 

และเมื่อได้ต้นแบบ (prototype หรือ Lab-scale) แล้ว กระบวนการที่จะพัฒนาจนนำไปสู่การใช้งานจริงในวงกว้าง (Industry-scale) จะต้องประเมินความเป็นไปได้ทางการตลาด (Market feasibility) โดยพิจารณาทั้ง Market size ขนาดของตลาด และ Market value ราคาที่จะกำหนดแล้วผู้ซื้อรับได้

 

ซึ่งการประเมินความเป็นได้ทางเทคนิค ถือว่าเป็นฝั่งรายจ่ายหรือเงินลงทุนที่ต้องใส่เข้าไป ในขณะที่การประเมินความเป็นไปได้ทางการตลาด เป็นฝั่งรายรับที่จะก่อให้เกิดผลตอบแทน ซึ่งจะต้องนำมาใช้ในการประเมินความเป็นไปได้ทางการเงิน (Financial feasibility) ซึ่งจะเป็นคำตอบว่าสมควรใส่นำเม็ดเงินลงทุนให้กับโครงการนั้นๆหรือไม่

 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอาจมีการนำเสนอมาเป็นร้อยๆความคิด แต่จะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองเพื่อดูความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ การคัดกรองจากร้อยความคิด จนเหลือสิบโครงการที่สมควรลงมือทำ ใส่เม็ดเงินลงไปเพื่อผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ เมื่อนำเสนอสู่ตลาดและลูกค้า ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี ในทุกวันนี้มีความพยายามที่จะนำเสนอสิ่งใหม่ ทั้งที่เป็นสินค้านวัตกรรม นวัตกรรมเชิงกระบวนการ (นวัตกรรมการบริการผ่านสมาร์ทโฟน) หรือนวัตกรรมทางธุรกิจ (รูปแบบการค้าขายแบบใหม่ๆ) แต่ก็จะมีที่ประสบความสำเร็จ และที่ล้มเหลว คำว่าร้อยความคิด สิบลงมือทำ หนึ่งความสำเร็จ จึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพียงแต่หนึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น จะต้องสร้างผลตอบแทนที่มากเพียงพอกับเงินที่ต้องเสียไปในการคัดกรองไอเดียจำนวนมาก เงินที่ต้องเสียไปกับ 10 โครงการที่ทดลอง และยังต้องครอบคลุมงบการตลาดที่ทำให้นวัตกรรมนั้นแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับ

 

ถ้าผู้ประกอบการ ผู้บริหาร เข้าใจในกระบวนการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งไม่ต่างจากการลงทุนธุรกิจ การขยับขับเคลื่อนจากบริษัทที่เอาแต่รับจ้างผลิตกินส่วนต่างกำไรไม่มากและเริ่มน้อยลงทุกวัน ไปสู่การสร้างคุณค่าใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น น่าจะเป็นทางออกของทุกอุตสาหกรรมในประเทศไทย