ติฉิน อิจฉา และมุทิตาจิต

ติฉิน อิจฉา และมุทิตาจิต

แต่ไหนแต่ไรสังคมไทยเราค่อนข้างจะมีความสนอกสนใจเรื่องราวของคนรอบข้างมากกว่าสังคมฝรั่ง และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่บรรดาโซเชียลเน็ตเวิร์ค

แพลตฟอร์มต่างๆเฟื่องฟูมากในบ้านเรา เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ตรงกับจริตพฤติกรรมการส่องเฟซบุ๊ก ตามอินสตาแกรม(ของคนอื่น)เพื่อรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวและเรื่องราวชีวิตที่เป็นไปจึงกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาสิ่งที่เห็นบนออนไลน์อาจนำมาขยายผลเป็นการตั้งวงสนทนาแบบพูดถึงหรือนินทาในชีวิตจริงซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเนืองๆเป็นวัฏฏะของความน่าจะเป็นเมื่อมีการบอกเล่าก็ย่อมมีการรับรู้แล้วก็วิเคราะห์วิจารณ์กันต่อไป คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทาไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ใช่ว่าจะหลีกหนีพ้น“การติฉินนินทา”

แต่ไหนแต่ไรเราต่างได้รับรู้สิ่งที่ศาสนาหรือญาติผู้ใหญ่สั่งสอน“อย่าอิจฉาริษยาใคร”เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้ไม่เป็นสุขรุ่มร้อนชีวิตไม่สงบสุข แต่ระยะหลังๆเรามักได้ยินคำคมประเภทที่มีนัยเพิ่มเข้ามาคือ“จงอย่าอิจฉาใครแต่จงใช้ชีวิตให้คนอื่นอิจฉา” ซึ่งถ้าพิจารณาดีๆทุกวันนี้บนโลกออนไลน์เราเห็นภาพคนที่มีการใช้ชีวิตในลักษณะที่ใครเห็นแล้วมักจะตามมาด้วยคอมเมนต์ประมาณว่า“ชีวิตดี๊ดี,อิจฉาจัง,อยากมี-เป็นแบบนี้บ้าง”แน่นอนว่าการที่ภาพออกมาแบบนี้สำหรับหลายๆคนก็เพราะธรรมชาติของเขาเป็นแบบนั้นจริงๆหรืออีกนัยหนึ่งคนเราก็มีทั้งชีวิตที่ธรรมดาและพิเศษแต่ชีวิตที่ธรรมดาก็ย่อมน่าสนใจน้อยกว่าไม่น่าจดบันทึกเท่าชีวิตพิเศษ

ยกตัวอย่างง่ายๆการกินอาหารบ้านๆที่บ้านย่อมมีโอกาสปรากฏสู่สายตาชาวโซเชียลน้อยกว่าอาหารหรูๆน่ากินในมื้อพิเศษ ดังนั้นถ้าคนส่วนใหญ่จะอัพเดทเรื่องราวชีวิตในวันพิเศษกิจกรรมพิเศษทริปพิเศษหรือมื้อพิเศษก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้

แต่มนุษย์เราก็มีความหลากหลายจึงพบเห็นว่ามีคนส่วนหนึ่งที่พยายามสร้างภาพหรือพยายามนำเสนอเรื่องราวการใช้ชีวิตที่ไกลห่างจากสภาพเป็นจริงมีบางรายถึงขนาดประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเพราะพิษของการพยายามสร้างภาพเพื่อให้ใครๆทึ่งในคุณค่าราคาหรือเพื่อให้ใครๆอิจฉาและชื่นชมเห็นดังนี้แล้วก็เกิดดวงตาเห็นธรรมการไม่อิจฉาใคร และการไม่ต้องพยายามทำให้ใครอิจฉา ล้วนเป็นสิ่งดี

อย่างไรก็ตาม หากเราพบเห็นภาพชีวิตใครๆบนโลกออนไลน์ที่เป็นชีวิตดี๊ดีช่างน่าอิจฉากระไรนี่เราควรทำอย่างไรดีที่ไม่ใช่การอิจฉาและหาทางสร้างภาพสู้?คำตอบคงมีหลายแบบแต่แบบหนึ่งที่น่าสนใจคือการใช้ธรรมะข้อสุดท้ายในพรหมวิหาร 4มาจัดการ นั่นคือ “มุทิตา”หรือการพลอยยินด้วย การยินดีกับผู้อื่นที่ชีวิต(ดูมี)ความสุขถือว่าดีกับทุกฝ่ายทั้งคนโพสต์คนเห็นและคนคอมเมนต์เรียกว่าบรรยากาศในสังคมโซเชียลจะดีไม่มีความรุ่นร้อนเป็น“สังคมอุดมความปรารถนาดี”ดีเหมือนกันนะ!