ผีเสื้อพันธุ์ใหม่เมื่อหลายสายพันธุ์ใกล้สูญ

ผีเสื้อพันธุ์ใหม่เมื่อหลายสายพันธุ์ใกล้สูญ

2 สัปดาห์ก่อน องค์การสหประชาชาติชื่อ “เวทีนโยบายทางวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศว่าด้วยประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ”

 (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services) พิมพ์รายงานออกมา รายงานนั้นรวบรวมผลงานของผู้เชี่ยวชาญ 500 คนจาก 50 ประเทศและมีความยาว 1,800 หน้ากระดาษพร้อมกับบทคัดย่ออีก 40 หน้ากระดาษ สำหรับผู้ขาดเวลาอ่านรายละเอียด ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อหลายสำนักย่อยเนื้อหามาเสนอ บทความนี้มีที่มาจากการอ่านรายงานของสื่อเหล่านั้นเนื่องจากผมยังเข้าไม่ถึงรายงานฉบับเต็ม คนไทยน่าจะให้ความใส่ใจแก่สาระของรายงานดังกล่าวเป็นพิเศษ แม้รายงานในแนวนี้จะมีบ่อยจนอาจทำให้ชินชาแล้วก็ตาม

สาระหลักที่สื่อมักนำมาเสนอคือ พืชและสัตว์ราว 1 ล้านสายพันธุ์หรือ 25% ของทั้งหมดกำลังจะสูญหายไปจากโลก ในจำนวนนี้คงมีผีเสื้ออยู่ด้วย ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้การสูญพันธุ์เกิดขึ้นได้แก่ การดำเนินชีวิตของมนุษย์ซึ่งนำไปสู่การสูญที่อยู่อาศัย ความเป็นพิษในสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน แม้การสูญพันธุ์ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์จะมีมานานแล้ว แต่ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมามันเกิดขึ้นในอัตราเร่งมากเนื่องจากการบริโภคของชาวโลกเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัวและจำนวนคนเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว

การทำลายป่าเป็นประเด็นที่มองเห็นกันอย่างกว้างขวางว่ากำลังสร้างปัญหาใหญ่หลวง แต่การทำลายป่ายังดำเนินต่อไปทั้งในเอเซีย แอฟริกาและอเมริกาใต้เพื่อนำผืนดินมาใช้ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ นอกจากนั้น ยังมีการทำลายดินจากการพังทลายและการใช้สารเคมีและการทำลายพื้นที่ชุมน้ำและแหล่งน้ำพร้อมกับคุณภาพของน้ำในแหล่งที่มิได้ถูกทำลายอีกด้วย ภาวะโลกร้อนซึ่งสะท้อนกิจกรรมที่ทำให้ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นสร้างผลกระทบต่อไปในรูปของปฏิกิริยาโลกโซ่จนเป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดแล้ว

การสูญพันธุ์เหล่านี้จะมีผลกระทบต่อมนุษย์อย่างใหญ่หลวงแม้ยากที่จะวัดออกมาในรูปของตัวเลขก็ตาม รายงานเสนอว่ายังไม่สายเกินไปที่เราจะหยุดการสูญสายพันธุ์ดังกล่าว แต่เท่าที่พอจะอนุมานได้ คงยากที่จะทำให้เกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลายอย่างรวมทั้ง 3 ปัจจัยนี้

(1) แม้ฝ่ายวิชาการจะเตือนมานานแล้วเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ฝ่ายการเมืองโดยทั่วไปยังแทบไม่ขยับอย่างจริงจัง ยิ่งกว่านั้น ตอนนี้รัฐบาลอเมริกันมีท่าทีต่อต้านฝ่ายวิชาการอย่างเห็นได้ชัด

(2) ประเทศก้าวหน้าทางวิชาการจำนวนมากเริ่มสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมีลูกเพิ่มขึ้นเพื่อให้คนรุ่นหลังทำงานเลี้ยงผู้สูงวัยซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราสูง

(3) ทุกประเทศยังสร้างแรงจูงใจให้การบริโภคเพิ่มขึ้น แต่ซ่อนไว้ในนามของการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งต่างคิดว่าดี ปัจจัยนี้เป็นเรื่องที่นักวิเคราะห์พูดถึงกันมากและดูจะเห็นพ้องต้องกันว่า ชาวโลกต้องเปลี่ยนแนวคิดพื้นฐานที่ฝังใจมานานแล้ว กล่าวคือ ความสุขของมนุษย์มาจากการบริโภค ยิ่งบริโภคมากขึ้นเท่าไร ความสุขยิ่งมากขึ้นเท่านั้น แต่ดังที่คอลัมน์นี้อ้างถึงหลายครั้ง ผลการวิจัยไม่สนับสนุนแนวคิดนี้ซึ่งมีผลเท่ากับสรุปว่าแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

เมื่ออ่านข้อเสนอแนะของนักวิเคราะห์ดังกล่าว ผมสรุปว่าพวกเขาหมายถึงต่อไปโลกจะต้องใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงถึงแม้พวกเขาจะมิได้ใช้คำนี้ ทั้งที่นักวิชาการออสเตรเลียคนหนึ่งจะใช้มา 4 ปีแล้วก็ตาม (หนังสือเรื่อง Sufficiency Economy: Enough, For Everyone, Forever โดย Samuel Alexander ซึ่งคอลัมน์นี้ประจำวันที่ 10 มิ.ย.2559 กล่าวถึงว่าฝรั่งคนนี้ก็เพียงนำชื่อไปใช้โดยมิได้เข้าใจสาระของแนวคิดอย่างถ่องแท้ การวิพากษ์หนังสือเล่มนี้มีอยู่ในหนังสือของผมชื่อ “ฝากภูมิปัญญาชาติไทยไว้กับครู” ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ www.bannareader.com)

ด้วยเหตุนี้ คนไทยน่าจะภูมิใจและเริ่มใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจังทั้งในระดับบุคคลและในระดับรัฐ หากทำได้ ไทยจะเป็นเสมือนหัวหน้าผีเสื้อพันธุ์ใหม่ในทฤษฏีความอลวน (Chaos Theory) ที่ ศ. เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ อ้างถึงว่า ในภาวะเหมาะสม แรงลมจากการกระพือปีกของผีเสื้อในอเมริกาใต้จะทำให้เกิดพายุใหญ่ในอเมริกาเหนือ ในบริบทของเรา พายุใหญ่จะทำให้โลกเปลี่ยนการเดินจากแนวที่นำไปสู่ความล่มสลายไปสู่ทางแห่งความยั่งยืน