ทางเลือกเพื่อปรับตัว

ทางเลือกเพื่อปรับตัว

การแสวงหาทางเลือกเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปรับเปลี่ยนองค์กร

ระยะหลังมานี้ ไอโฟนรุ่นใหม่จากค่ายแอ๊ปเปิ้ลดูจะเสื่อมมนต์ขลังลงไปไม่น้อย ในขณะที่คู่แข่งก็ฉวยโอกาสนี้เปิดตัวรุ่นใหม่ที่ดูมีสีสันน่าสนใจในราคาที่คุ้มค่ากว่า จนยอดขายไอโฟนตกต่ำลงอย่างรุนแรงตามการคาดการณ์ของนักการตลาด

ผลประกอบการของแอ๊ปเปิ้ลในไตรมาสแรกของปีนี้ในมุมหนึ่งจึงเป็นข่าวร้ายของทิม คุก ซีอีโอ คนปัจจุบัน รวมถึงแฟนๆ ของแอ๊ปเปิ้ลทั่วโลก เพราะยอดขายไอโฟนที่ตกต่ำลงถึง 15% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2561 แต่ทั้งนี้ผลประกอบการโดยรวมของแอ๊ปเปิ้ลกลับปรับลดลงเพียงแค่ 5% เท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นอีกมุมหนึ่งที่คนมักจะมองข้ามกันไป

รายได้จากธุรกิจบริการของแอ๊ปเปิ้ลนั้นเติบโตได้สวนทางด้วยเม็ดเงินรายได้สูงถึงเกือบ 11,000 ล้านดอลลาร์​ คิดเป็นอัตราการเติบโต 19% ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับรายได้จากไอแพดที่ดูทรงๆ มานานก็เติบโตสูงถึง 17% ทั้งๆ ที่ตลาดแทบเบล็ตดูจืดชืดไร้สีสันมาหลายปีแล้ว

การปลุกตลาดไอแพดให้กลับมาคึกคักอีกครั้งจึงช่วยกอบกู้สถานการณ์ของแอ๊ปเปิ้ลได้มาก เช่นเดียวกับแอ๊ปเปิ้ลวอทช์และคอมพิวเตอร์แมค ที่เติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ไม่แพ้กัน แม้ว่านักวิจารณ์จะมองแอ๊ปเปิ้ลในแง่ลบแต่ฐานะทางการเงินก็ยังคงแข็งแกร่งด้วยกระแสเงินสดกว่า 26,000 ล้านดอลลาร์

การวางแผนของบริษัทระดับโลกอย่างแอ๊ปเปิ้ลคงไม่ได้เรียบง่ายตรงไปตรงมาด้วยการเดิมพันกับสินค้าที่ถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างไอโฟนเท่านั้น แต่ยังมีแผนสำรองที่อาศัยผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมาก เช่นไอแพด และแอ๊ปเปิ้ลวอทช์ที่มาช่วยกู้สถานการณ์ในครั้งนี้

แต่หากเรายังจำกันได้ถึงการเปิดตัวแอ๊ปเปิ้ลวอทช์รุ่นแรก ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีทำให้การตอบรับไม่ได้หวือหวามากนัก แต่นับวันก็จะเห็นการเติบโตของเทคโนโลยีสวมใส่หรือแวร์เอเบิลขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนแอ๊ปเปิ้ลวอทช์มาถึงรุ่นที่ 3 และมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมากด้วยลูกเล่นใหม่ๆ ของมัน

แม้กระทั่งไอโฟนเองที่เปิดตัวพร้อมกันหลายรุ่น หลายขนาด ซึ่งแอ๊ปเปิ้ลสามารถปรับแผนผลักดันบางรุ่นที่มีแนวโน้มจะได้รับการตอบรับจากตลาดได้ดีกว่าทันที อัตราในการทำรายได้และผลกำไรจึงได้ผลกระทบไม่มากเพราะมีทางเลือกอยู่เสมอ

การแสวงหาทางเลือกเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปรับเปลี่ยนองค์กรในทุกวันนี้ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนในบ้านเราคือ ธุรกิจการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง เพราะอัตราการเกิดที่ลดลงนับสิบๆ ปีทำให้มีเด็กนักเรียนที่ต้องการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยลดลงทุกปี

ปัญหานี้เกิดขึ้นกับทุกมหาวิทยาลัย แต่ที่ได้รับผลกระทบก่อนใครเพื่อนย่อมหนีไม่พ้นมหาวิทยาลัยเอกชน เพราะมีค่าเล่าเรียนที่สูงกว่าสถาบันการศึกษาของรัฐ เราจึงเห็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของมหาวิทยาลัยเอกชนเพื่อรักษาจำนวนนักศึกษาในแต่ละปีเอาไว้ให้มากที่สุด

หากยังคงดำเนินธุรกิจแบบเดิม จำนวนนักศึกษาอาจลดลงสูงสุดถึง 60-70% โดยที่รายจ่ายประจำเช่นอาคารสถานที่ อาจารย์ ฯลฯ ล้วนยังคงเท่าเดิม แต่รายได้หดหายไปมหาศาลมหาวิทยาลัยบางแห่งอาจไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากปิดกิจการลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

แต่มหาวิทยาลัยบางแห่งกลับสร้างทางเลือกเป็นของตัวเองด้วยหลักสูตรพิเศษ เน้นการศึกษาเฉพาะด้านเช่นการตลาดออนไลน์ หรือธุรกิจในยุคดิจิทัล โดยไม่จำเป็นต้องอิงกับหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือ สกอ.

หลักสูตรเหล่านี้เน้นให้คนทำงานที่มีประสบการณ์ทำงานแล้วมาศึกษาเพิ่มเติม และเน้นการสร้างเครือข่ายของคนรุ่นใหม่ ทำให้มีความต้องการเรียนสูงมากจนต้องจองกันข้ามปี ทำรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยเอกชนได้ไม่แพ้หลักสูตรปริญญาแบบเดิม ๆ เลย

ดังนั้นภายใต้ความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงนี้ จึงขึ้นอยู่กับว่าเราจะกลายเป็นจุดถดถอย และสิ้นสุดของกิจการ หรือจะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ที่จะปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยี เรียนรู้การตลาดในรูปแบบใหม่ๆ ปรับรูปแบบให้เข้ากับสังคมยุคใหม่ ซึ่งนั่นจะเป็นทางเดินของธุรกิจที่สามารถเอาชนะกระแสการเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกรากในขณะนี้ได้