ภูเก็ตกับ “กับดักซ้ำสอง”

ภูเก็ตกับ “กับดักซ้ำสอง”

เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ในคอลัมน์นี้ ผู้เขียนได้กล่าวถึงภูเก็ตว่าอาจจะติดกับดักเมืองท่องเที่ยวระดับปานกลาง

คือไม่สามารถยกระดับตัวเองให้ใกล้เคียงกับเมืองท่องเที่ยว รวมทั้งเกาะท่องเที่ยวชั้นนำของโลกได้ เพราะการลงทุนในสาธารณูปโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านซัพพลายเชนไม่เพียงพอทั้งทั้งที่ภูเก็ตสร้างรายได้ให้กับประเทศ ถึง 400,000 ล้านบาทต่อปี แต่กลับไม่มีการวางแผนและโดยมองภาพระยะยาวอย่างเป็นระบบ วันนี้เราจะมาพูดถึงกับดักอีกอันหนึ่งซึ่งจะฉุดหลังภูเก็ตไม่ให้ไปถึงปลายทางฝันได้

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้ามาร่วมพัฒนาวิสัยทัศน์ของระยะยาว (มาก) ของภูเก็ตโดยได้มีวิทยากรในระดับโลก คือ ศ.ซาริตาส จากมหาวิทยาลัยมอสโคว มาทำการฝึกอบรมโดยมี รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ เป็นผู้นำทีมฝ่ายไทย ซึ่งมีนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยพยายามลองคิดภาพอนาคตของภูเก็ตอีก 20 ปีข้างหน้า จึงมีเกร็ดจากการสร้างภาพระยะยาวของภูเก็ตในความคิดของนักวิจัยมาฝากเล็กน้อย

ในช่วงหนึ่งของการถ่ายทอดวิธีการมองภาพระยะยาวให้แก่นักวิจัยในโครงการ ได้ให้นักวิจัยสมมุติตัวเองให้เป็นนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนภูเก็ตในอีก 20 ปีข้างหน้า แล้วจะทำการวางแผนการท่องเที่ยวตลอดจนจะมาใช้ชีวิตในภูเก็ตอย่างไร เพื่อให้เตรียมรับสถานการณ์ในอนาคต ภาพการมาเที่ยวภูเก็ตในอนาคตนั้นหลากหลายมาก เริ่มต้นจากนักท่องเที่ยวฐานะดีชาวพม่ากำลังหลั่งไหล เมื่อ ASEAN ได้ไร้พรมแดนอย่างแท้จริง และส่วนหนึ่งอาจมาดูงานการพัฒนาท่องเที่ยวด้วย รวมทั้งจากมณฑลภาคกลางของจีนที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเลก็อยากจะมาเห็นทะเลที่ภูเก็ต เพราะเห็นในโซเชียลว่า ผู้ที่มีฐานะใกล้เคียงรอบๆ ตัวก็ได้มาเที่ยวภูเก็ตกันทั้งหมดแล้ว ดูออกจะไม่ตามกระแสถ้าไม่มาสักหน่อย แต่ขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ก็ยังกังวลกับการใช้เงินสดที่เมืองไทย เพราะที่เมืองจีนไม่มีการใช้เงินสดแล้ว รวมถึงความปลอดภัย เพราะมีข่าวอุบัติเหตุทั้งทางบกและทางเรือบ่อยครั้ง นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวสแกนดิเนเวีย ซึ่งเดินทางมาด้วยเรือยอร์ชพลังงานแสงอาทิตย์ ในขณะเดียวกันก็ยังมีเศรษฐีจากตะวันออกกลางมาพร้อมภรรยาทั้ง 4 คน มาทำศัลยกรรมใบหน้าและทรวงอกครั้งที่ 9

ภาพทั้งหมดนี้เป็นการท่องเที่ยวที่คนภูเก็ตคุ้นชินอยู่ แต่ก็มีพลังพอที่จะจี้ให้คนภูเก็ตคิดถึงการรองรับในอนาคต เช่น การใช้เทคโนโลยีในการรองรับคนเหล่านี้จะต้องเพิ่มขึ้น สาธารณูปโภคที่ดูแลความปลอดภัย การเข้าสู่สังคมไร้เงินสด และท่าเทียบเรือมารีน่าสำหรับผู้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่ที่น่าสนใจจะเป็นตัวอย่างสมมุติที่สุดโต่งกว่านั้น เช่น สาวน้อย (แก่มาก) จากเมืองจีนเดินทางมาจากคุนหมิงมารับประทานอาหารทะเลที่ภูเก็ตแบบไปเช้าเย็นกลับโดย Hyperloop นักท่องเที่ยวจากอเมริกาใต้ชาวเปรู ซึ่งได้ยินชื่อภูเก็ตแล้วค้นหาข้อมูลว่าจะไปเที่ยวอย่างไร ในที่สุดก็ได้เลือกมาเที่ยวภูเก็ตผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า เวอร์ชวลเรียลลิตี้เทคโนโลยี (Virtual reality technology) ซึ่งสามารถมาเที่ยวภูเก็ตได้โดยสวมแว่นมหัศจรรย์ที่สามารถสัมผัสภูเก็ตแบบเสมือนจริงโดยที่ไม่ต้องเดินทางมาเลย หรือนักท่องเที่ยวที่สมมุติเป็นสาวน้อยที่ชื่อว่ามาเรีย ซึ่งเป็นนักเดินทางตัวแทน (Surrogate tourist) ที่มีเทคโนโลยีเชื่อมโยงสมองกับผู้พิการที่เป็นสปอนเซอร์การเดินทางของเธอที่ประเทศต้นทาง ให้เธอมาสามารถท่องเที่ยวในภูเก็ตแล้วส่งแล้วสัญญาณของการรับรู้ภาพของภูเก็ตในสมองของเธอจะถูกส่งสัญญาณไปยังสปอนเซอร์ของเธอในต่างประเทศ ทำให้สปอนเซอร์ของเธอรู้สึกเหมือนได้มาเที่ยวภูเก็ตด้วยตัวเอง (ซึ่งเทคโนโลยีการท่องเที่ยวแบบตัวแทนในขณะนี้ยังไม่ดี) ยังมีนักท่องเที่ยวสมมุติที่เป็นคู่รัก LGBT ที่เดินทางมาหาร้านสูบกัญชาที่ถูกกฎหมายที่ภูเก็ต 

กลุ่มที่ 2 นี้กระตุ้นให้คิดถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ทั้งในด้านการส่งเสริมและการป้องกันและการลงทุนในระยะยาวที่ต้องเพิ่ม หากคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และยังชี้ให้เห็นภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ในกรณีของการไม่จำเป็นต้องมาเที่ยวด้วยตัวตนเอง แต่ใช้เทคโนโลยีของการเห็นภาพเสมือนในประเทศของตน การสมมุติเป็นนักท่องเที่ยวเหล่านี้ จึงเป็นวิธีการสำคัญที่ทำให้ผู้วางแผนคิดย้อนกลับว่า ถ้านักท่องเที่ยวสมมุติเหล่านี้มาเป็นกลุ่มใหญ่ เราหรือประเทศไทยต้องลงทุนในอะไร แค่ไหน และอย่างไร เช่น ททท. อาจจะต้องไปลงทุนสร้างเทคโนโลยีสร้างภาพเสมือนนี้ในต่างประเทศเพื่อขายการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวไม่ต้องมาเยือนประเทศไทย

ที่สำคัญ คือ นอกจากกับดักรายได้ปานกลางแล้ว ศ.ซาริตาส ยังชี้ให้เห็นถึงการติดกับดักอันที่ 2 คือ กับดักของนักท่องเที่ยววัยกลางคน เพราะการรองรับภูเก็ตในปัจจุบันนั้น มุ่งรองรับนักท่องเที่ยววัยกลางคนที่เป็นผู้ชาย (เช่น ย่านท่องเที่ยวในเขตบางลา ซึ่งก็คือซอยคาวบอยของเมืองภูเก็ต) ในขณะที่นักท่องเที่ยวหญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจีนกำลังเพิ่มในสัดส่วนที่สูงกว่าชาย และนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากก็คือ กลุ่มที่อายุ 60-65 ปี แต่ภูเก็ตก็ควรคิดกิจกรรมกลางคืนอื่นๆ สำหรับผู้หญิงนอกเหนือจากช้อปปิ้ง ภาคเอกชนของภูเก็ตควรคิดถึงการเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียว การขยายบริการยามค่ำคืนที่ไม่ใช่บริการทางเพศ เช่น บริการเสริมความงาม รวมทั้งคนหนุ่มสาวอาจเริ่มคิดถึงธุรกิจสตาร์ทอัพในการทำทัวร์ ฟิตเนสกลางแจ้งสำหรับหนุ่มสาว สวนสนุกแบบงานวัดสมัยใหม่สำหรับครอบครัว เป็นต้น

สำหรับนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้หญิงกลุ่มครอบครัวและผู้สูงวัยนั้น ซึ่งในกลุ่มท่องเที่ยวที่เป็นครอบครัวก็มักจะมีผู้หญิงผู้สูงวัยและเด็กมาพร้อมพร้อมกันจะสนใจปัญหาเรื่องความปลอดภัยมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ความปลอดภัยนี้ไม่ใช่ความปลอดภัยของท่าเรือและการเดินเรือซึ่งเรามีบทเรียนอันน่าเจ็บช้ำมาแล้ว แต่รวมไปถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนเส้นภูเก็ต ไม่มีทางเท้าที่เป็นมาตรฐานทำให้การเดินไม่ปลอดภัย ภูเก็ตอาจจะต้องคิดถึงการขนส่งทาง Cable car และ/หรือเรือ Catamaran ระหว่างหาด ภูเก็ตอาจจะต้องคิดถึงการเจาะภูเขาเพื่อสร้างเส้นทางลัดระหว่าง 2 ฝั่งทะเล แต่ทั้งนี้จะเกิดผลทางด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจะต้องนำมาคำนวณว่าจะได้คุ้มเสียหรือไม่ รวมทั้งผลกระทบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ โดยเฉพาะคนท้องถิ่น

ในงานวิจัยท่องเที่ยวของ สกว. โดยทีมวิจัยคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มี รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ เป็นหัวหน้าทีมวิจัย ได้เริ่มต้นมองทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ 10 ปีของภูเก็ตไว้แล้ว โดยได้เสนอจินตภาพของอ่าวกะรนและกะตะ การฟื้นฟูย่านเมืองเก่าภูเก็ตให้กลายเป็นที่เที่ยวอารยธรรมในเวลาค่ำคืน การยกระดับเมืองภูเก็ตนี้ยังได้มองถึงการนำขุมเหมืองต่างๆ มาพัฒนาให้เป็นเขตที่อยู่อาศัยเพื่อลดปัญหาเรื่องน้ำและลดปัญหาการเดินทาง จะเป็นเรื่องน่าเสียดายหากรัฐไม่ได้เอาเรื่องนี้ไปต่อยอดเพื่อให้ภูเก็ตยังคงเป็นเพชรน้ำหนึ่งของการท่องเที่ยวต่อไป หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า หากปล่อยให้ภูเก็ตเสื่อมโทรมลงไป ลูกค้าท่องเที่ยวของภูเก็ตและคนไทยที่ฐานะดีคงต้องไปเที่ยวทะเลของพม่าในอนาคต!!