‘หุ่นยนต์’ ทางเลือกการศึกษา สู่การพัฒนาชาติ-เยาวชน

‘หุ่นยนต์’ ทางเลือกการศึกษา สู่การพัฒนาชาติ-เยาวชน

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เวลามีคนบอกว่า หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนคน ทุกท่านอาจจะเอียงคอและอดสงสัยไม่ได้ว่า จะเป็นไปได้หรือ

แต่มาวันนี้ มันคือเรื่องจริงครับ ปัญหาแรงงานและค่าแรงในหลายประเทศ เป็นตัวผลักดันให้ธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมเริ่มพัฒนาหุ่นยนต์เข้ามาใช้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต ที่มีการใช้แขนกล ระบบอัตโนมัติแทนแรงงานคน 

ทราบหรือไม่ว่า เดี๋ยวนี้ ไม่ว่าอาหารที่ท่านรับประทานในร้านค้าสะดวกซื้อ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสวย เกี๊ยวซ่า ไม่ได้ใช้แรงงานคนหุงข้าว หรือ จีบเกี๊ยวอีกต่อไป แต่เป็นฝีมือหุ่นยนต์ ไม่ใช่แค่ภาคการผลิตที่ได้ใช้หุ่นยนต์มาทำหน้าที่แทนแรงงานคน การบริหารคลังสินค้าต่างก็พึ่งพาหุ่นยนต์เข้ามาจัดการความเป็นระเบียบในคลัง อาลีบาบา เว็บไซต์ออนไลน์ชื่อดัง ก็เป็นหนึ่งในผู้นำร่องการใช้หุ่นยนต์ในการบริหารจัดการสินค้าในคลังก่อนการจัดส่งถึงมือผู้สั่งสินค้าปลายทาง

โลกหมุนไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง แล้วประเทศไทย จะปรับตัวอย่างไร?

หุ่นยนต์จะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราในอนาคต หลายประเทศเข้าใจและมีนโยบายและกิจกรรมในเชิงส่งเสริมพัฒนาหุ่นยนต์ในหลายมิติ วันนี้ผมอยากจะมาเล่าให้ฟัง ถึงการส่งเสริมพัฒนาหุ่นยนต์ในมิติเชืิงการศึกษาและกีฬาในภาคของเยาวชน

ชมรมหุ่นยนต์ในหลายโรงเรียนของไทย เกิดขึ้นจากความชอบโดยตรงของเด็กนักเรียนและการสนับสนุนของผู้ปกครอง เป็นการแบ่งปันความรู้ระหว่างพี่สู่น้อง การขวนขวายหาความรู้จากสื่ออินเทอร์เน็ต การจะสั่งบังคับหุ่นยนต์ได้ จะต้องเข้าใจวงจรไฟฟ้าพื้นฐาน เข้าใจภาษาหุ่นยนต์ เช่น ภาษา C ซึ่งล้วนส่งเสริมพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชน 

ใครจะทราบว่า จากการรวมกลุ่มจากความชอบนี้ นอกจากจะเพิ่มพูนทักษะความรู้ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังกลับกลาบมาเป็นกีฬาโปรด ที่นำไปสู่การแข่งขันระดับประเทศ และระดับโลกด้วย

การแข่งขันหุ่นยนต์ในระดับประเทศ มีหลากหลายรูปแบบ อาทิ หุ่นยนต์แข่งขันความเร็ว หุ่นยนต์ซูโม่ แข่งขันพละกำลัง หุ่นยนต์เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ เช่น หุ่นยนต์ดับไฟ หรือหุ่นยนต์กีฬาฟุตบอล หรือรักบี้ โดยเวทีประชันความสามารถที่จัดโดยภาครัฐและเอกชนมีมากมายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งผู้ชนะในระดับประเทศจะได้รับสิทธิเป็นตัวแทนประเทศไทยสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติ เปรียบเทียบได้กับกีฬาโอลิมปิกกันเลยทีเดียว

สนามแข่งของไทยมีมากมาย สนามของสำนักงานคณะกรรมการการศึกขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อเฟ้นหาตัวแทนสู่การแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์โลก (World Robot Olympiad: WRO) สำหรับเยาวชนระดับมัธยมศึกษา แต่ถ้าหากเป็นเยาวชนระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (ส.ส.ท.) ก็จัดแข่งเพื่อเฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยสู่เวทีภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ABU Asia-Paciffic Robot Contest) 

ทั้งนี้ยังมีสนามย่อยอีกมากมาย เช่น เวทีของสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย เพื่อเฟ้นหาตัวแทนประเทศสู่การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก (World RoboCup)

เยาวชนไทยมีความสามารถไม่ด้อยไปกว่าเยาวชนต่างชาติแต่อย่างใด อย่างปีที่แล้ว จีนจัดแข่ง Robot Challenge 2018 ซึ่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันกว่า 2,288 คน จาก 33 ประเทศ เยาวชนไทยก็เข้าวินคว้า 10 เหรียญรางวัล ซึ่งนอกจากเหรียญรางวัล และความภาคภูมิใจแล้ว ยังได้มีมิตรภาพ การเรียนรู้การทำงานร่วมกันเป็นทีม น้ำใจนักกีฬา และประสบการณ์ความรู้เพื่อพัฒนาต่อยอดความชอบด้านหุ่นยนต์ทั้งในการประกวด หรือการศึกษาต่อๆ ไป

ปัจจุบัน ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้ความสนใจกับความชอบในหุ่นยนต์ของเยาวชนมากขึ้น แต่ก็ยังมีช่องว่างเพื่อรอโอกาสเติบโตอีกมาก ใครจะรู้ว่า หุ่นยนต์ที่เคยเป็นแค่เพียงของเล่น เป็นเพียงความรักความชอบส่วนตัว จะกลายมาเป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาเยาวชน พัฒนาทักษะและความรู้ของเยาวชน และพัฒนาชาติของเราต่อไป

ยุคสมัยแห่งการศึกษา ที่เน้นการท่องจำได้ผ่านพ้นไปแล้ว ยุคใหม่ของการศึกษา ที่เน้นความสนุกสนาน ทันสมัยทันโลกได้เกิดขึ้นแล้ว