ยุคแห่งการโยนจะมีผลอย่างไร?

ยุคแห่งการโยนจะมีผลอย่างไร?

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว องค์การอนามัยโลกตีพิมพ์แนวปฏิบัติเรื่องการให้เด็กใช้เครื่องมือดิจิทัล

ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการศึกษา การบันเทิง หรือการยึดความสนใจในช่วงที่ผู้ใหญ่ไม่มีเวลาดูแล เรื่องการใช้เครื่องมือดิจิทัลจำพวกมีจอทั้งที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและไม่เชื่อมต่อเป็นเวลานานจะมีผลกระทบแก่ผู้ใช้มากแค่ไหน เป็นประเด็นใหญ่ในยุคปัจจุบัน แม้ผู้เชี่ยวชาญและงานวิจัยจะยังไม่สามารถยืนยันแบบเป็นเสียงเดียวกันได้ แต่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าการใช้เป็นเวลานานเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพ องค์การอนามัยโลกจึงตีพิมพ์แนวปฏิบัติออกมา เนื้อหาของแนวปฏิบัติมีมาก ขอยกตัวอย่างบางข้อ เช่น งดให้เด็กก่อนอายุครบหนึ่งขวบใช้เครื่องมือจำพวกนี้ ส่วนเด็กอายุ 2-4 ปีให้ใช้ได้วันละไม่เกินหนึ่งชั่วโมง

ประเด็นนี้จะมีการศึกษาและวิจัยกันต่อไปและอาจมองได้จากหลายแง่มุม หลายครั้งบทความในคอลัมน์นี้พูดถึง “คำสาปของเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม การนำเทคโนโลยีมาใช้ในทางทำลายเพราะผู้ใช้ไร้ศีลธรรมย่อมทำให้คำสาปร้ายแรงถึงขนาดทำลายโลก แม้แต่การใช้ที่เรามองว่าน่าจะเป็นทางสร้างสรรค์จำพวกเพื่อการศึกษาก็ยังอาจนำมาซึ่งผลกระทบร้ายแรงได้ ภายในการใช้เพื่อการสร้างสรรค์มักมีเรื่องสำคัญแอบแฝงอยู่ด้วย กล่าวคือ ความมักง่ายจำพวกโยนหน้าที่ให้เครื่องมือดิจิทัล เช่น ให้มันยึดความสนใจของเด็กเมื่อผู้ใหญ่ไม่ใส่ใจ หรือไม่มีเวลาดูแล สังคมไหนมีความมักง่ายสูง สังคมนั้นย่อมมีการโยนหน้าที่แบบนี้สูง

แม้ระดับของความมักง่ายจะวัดได้ยาก แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์ชี้ชัดว่าสังคมไทยมีความมักง่ายสูงมากเนื่องจากมีการโยนเรื่องสำคัญๆ ไปให้ผู้อื่น ขอยกตัวอย่าง

ด้านการศึกษาซึ่งน่าจะใกล้ตัวเด็กมากที่สุด เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการศึกษาเกิดตั้งแต่วันที่เด็กลืมตาดูโลก ส่วนนักจิตวิทยาพัฒนาการ มักเชื่อกันว่าการศึกษาเกิดตั้งแต่ทารกอยู่ในท้องแม่ แต่โดยทั่วไปในสมัยนี้ เราโยนหน้าที่ด้านการศึกษาของเด็กไปให้โรงเรียนและครูทั้งที่เด็กเข้าโรงเรียนเมื่ออายุหลายปีและเวลาอยู่ในบ้านมากกว่าเวลาอยู่ในโรงเรียนหลายเท่า บ้านที่มีฐานะพอจะซื้อหาเครื่องมือดิจิทัลมาให้เด็กใช้ต่างพากันทำ เด็กจะเรียนรู้อะไรจากเครื่องมือนั้น หรือมันจะมีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเด็กอย่างไรผู้ใหญ่ไม่ค่อยใส่ใจนัก นอกจากนั้น มีบ้านจำนวนมากที่ปู่ย่าตายายต้องเลี้ยงดูหลานด้วยความจำใจในภาวะไม่เหมาะสมโดยเฉพาะในชนบทเพราะลูกของตนโยนหน้าที่ให้เมื่อลูกไปทำงานในเมือง หรือมีเรื่องอย่าร้างส่งผลให้ทิ้งขว้างเด็ก

ด้านศาสนาซึ่งชาวไทยราว 95 ใน 100 คนนับว่าตนเป็นชาวพุทธ การปฏิบัติส่วนใหญ่ไปติดอยู่แค่พิธีกรรมโดยปราศจากความเข้าใจในแก่นแท้ของคำสอนและหลักปฏิบัติ นอกจากนั้น ยังติดอยู่กับการมุ่งสร้างวัตถุขึ้นมามากมายอีกด้วย ทั้งในวัดที่มีอยู่มากแล้วและวัดที่สร้างขึ้นมาใหม่ส่งผลให้วัดนับพันขาดเจ้าอาวาส หรือพระที่บวชเพื่อศึกษาและอุทิศชีวิตให้แก่กิจของศาสนาอย่างแท้จริง กระนั้นก็ตาม พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปยังโยนภาระการพิทักษ์ หรือทนุบำรุงศาสนาให้วัดและพระ การโยนนี้ขัดต่อบทบัญญัติของพระศาสดาซึ่งกำหนดให้อุบาสกและอุบาสิกามีหน้าที่ดูแลศาสนาโดยตรงร่วมกับพระ

ด้านการบริหารบ้านเมืองก็มีเรื่องการโยนแม้การเลือกผู้แทนเข้าไปนั่งในรัฐสภาจะมองได้ว่าเป็นกระบวนประชาธิปไตยก็ตาม การเลือกผู้แทนโดยไม่ศึกษาปัญหาและภาวะรอบด้านพร้อมทั้งแนวนโยบายของพรรคการเมืองให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เป็นการโยนหน้าที่ด้านการเมืองให้แก่นักการเมือง ร้ายยิ่งกว่านั้น ยังมีการขายเสียงและยอมรับนักการเมืองฉ้อฉลที่แบ่งผลประโยชน์ให้แก่ตนอีกด้วย คนเลวเหล่านี้มีสัดส่วนเท่าไรไม่สามารถคาดเดาได้ แต่น่าจะมีมากเนื่องจากหลังเลือกตั้งมานับสิบครั้ง ความฉ้อฉลยังอยู่ในระดับสูง

ผลของการโยนดังกล่าวมานี้ย่อมมีปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อไปหลายต่อหลายทอด เราคงหวังอะไรจากรัฐบาลไม่ได้เพราะรัฐบาลก็มักได้มาจากและใช้การโยนเช่นกัน ฉะนั้น หากคนไทยยังมักง่ายโดยไม่ลดการโยน ผลสุดท้ายจะได้แก่การโยนเมืองไทยให้นายทุนสามานย์ ข้าราชการกับนักการเมืองฉ้อฉลและทรชนผู้ล่าอาณานิคม?