ปัญจะมหาบุรุษโยค (1)

ปัญจะมหาบุรุษโยค (1)

จุดเปลี่ยนสู่ความเจริญรุ่งเรืองของเผ่าพันธุ์มนุษย์คือการปฏิวัติเกษตรกรรม มนุษย์หยุดเร่ร่อนล่าสัตว์

ตั้งหลักปักฐาน เพาะปลูก และสร้างบ้านแปงเมือง นครรัฐเริ่มถือกำเนิด ทั้งหมดเกิดได้เพราะมนุษย์ค้นพบความสัมพันธ์ของฤดูกาลกับวงรอบดวงอาทิตย์ ทั้งสร้างจักรราศีขึ้นมาเพื่ออ้างอิงตำแหน่งอาทิตย์และดาวต่าง ๆ อารยธรรมของมนุษยชาติแท้จริงแล้วเริ่มต้นจากความรู้โหราศาสตร์ในลักษณะนี้

หลักฐานโบราณคดีชี้ว่า โหราศาสตร์ถือกำเนิดปลายยุคหินใหม่ 4,000 – 3,000 ปีก่อนค.ศ. (อาจย้อนไปได้นานกว่านั้น 1,000 – 2,000 ปี) ในเมโสโปเตเมีย เริ่มต้นที่อาณาจักรซูเมเลียน ส่งต่อไปยังอัคคาเดียน อัสซิเลียน บาบิโลเนียน ฯลฯ แต่ถิ่นกำเนิดที่แท้จริงของโหราศาสตร์ยังเคลือบคลุมอยู่ ระหว่างซูเมเลียน อียิปต์ เปอร์เซีย อินเดีย และจีน เพราะต่างมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานพอกัน มีจุดเหมือนแต่ก็มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันชัดเจน

โหราศาสตร์ทุกอารยธรรมเริ่มผสมผสานกัน 1,200 – 800 ปีก่อนค.ศ. หลังจากอเล็กซานเดอร์มหาราชพิชิตเอเซีย มันหลอมรวมจนกลายเป็นโครงสร้างและรูปแบบที่สืบต่อมาถึงปัจจุบัน โดยรุ่งเรืองที่สุดในยุค Hellenistic (323 – 31 ปีก่อนค.ศ.) โหราศาสตร์ชะตาบ้านเมืองเกิดราว 500 ปีก่อนค.ศ. โหราศาสตร์ชะตาบุคคลเกิดทีหลังและรุ่งเรืองมากช่วงค.ศ. 200 – 400

ปัญจะมหาบุรุษโยค (1)

จากปูมโหรบาบิโลเนีย จักรราศีดั้งเดิมอ้างอิงจาก 12 กลุ่มดาวฤกษ์ (Constellation) เรียกว่าระบบคงที่ (Sidereal Zodiac : นิรายะนะ) กรีกค้นพบว่า จุดเริ่มต้นราศีเมษเคลื่อนถอยหลังไป (เทียบกับกลุ่มดาวฤกษ์) จึงได้สร้างความรู้เรื่อง Precession of Equinox และจักรราศีใหม่ซึ่งอ้างอิงฤดูกาลของตน เรียกว่าระบบเคลื่อนที่ (Tropical Zodiac : สายะนะ) เพราะความยิ่งใหญ่ของกรีก ระบบเคลื่อนที่จึงได้รับความนิยมในยุโรปและชาติตะวันตก ส่วนระบบคงที่ยังคงใช้กันในอินเดียอาเซียนและชาติตะวันออก ความต่างของทั้งคู่เป็นคำสันสกฤต อายนางศ์ปัจจุบันมีค่า 24 องศา

อินเดียเป็นหนึ่งในต้นธารของโหราศาสตร์ โหราศาสตร์อินเดียปรากฏในคัมภีร์โบราณ เช่น พระเวท ภควัทคีตา วิษณุปุราณะ ซึ่งย้อนหลังไปได้ไกลกว่า 3,000 ปีก่อนค.ศ. ใน “มหาภารตะยุทธ” กล่าวถึง 2 คราสภายใน 13 วันก่อนเกิดสงครามที่ทุ่งกุรุเกษตร ใน “มนูสังหิตา” กล่าวว่า 1 วงรอบของยุคทั้ง 4 กินเวลา 24,000 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับวงรอบของจุดวสันตวิษุวัต ในจารึกโบราณกล่าวว่า มหาฤาษีวสิษฐะ-ผู้รจนาคัมภีร์ฤคเวท ได้ทำนายถึงการค้นพบดาวเคราะห์สำคัญ 3 ดวงในกลียุค นั่นคือประชาปติ วรุณ และยม ซึ่งเทียบได้กับมฤตยู เนปจูน และพลูโต

ในสมัยจักรวรรดิคุปตะที่เป็นยุคทองของอินเดีย (ค.ศ. 320 – 550) โหราศาสตร์รุ่งเรืองมากภายใต้การนำของท่านวราหะมิหิรา (ค.ศ. 499 – 587) สุดยอดโหราจารย์ของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 (วิกรมาทิตย์)  ท่านได้แต่งคัมภีร์ 3 เล่มที่โด่งดังและสืบทอดจนถึงปัจจุบัน (1) พฤหัสชาตะกะ – ทำนายดวงชะตาบุคคล (2) พฤหัสสังหิตา – ทำนายชะตาเมือง (3) ปัญจสิทธานตะ – คำนวณตำแหน่งดาว คัมภีร์ทั้ง 3 ถือเป็นต้นกำเนิดของโหราศาสตร์ในภูมิภาคนี้ เช่น พม่า ลังกา ลาว ไทย

ความรู้ดั้งเดิมถูกเก็บรักษาอย่างดีในอินเดีย ไม่เพียงจักรราศีคงที่ แต่รวมถึงดวงชะตาที่แบ่งภพแบบเหมารวมราศี (Whole-sign Chart) หมายถึง 1 ราศีเท่ากับ 1 ภพ ซึ่งเหมือนกับบาบิโลเนียและแตกต่างจากฝรั่งตะวันตกอย่างชัดเจน เมื่อใช้รูปแบบนี้ มุมดาวจึงไม่สำคัญนัก ขอแค่ดาวร่วมหรือเล็งราศีกัน ก็ก่อให้เกิดผลได้แล้ว ขณะที่ตะวันตกถือว่า ดาวจะทำปฏิกริยากันได้ก็ต่อเมื่อเข้ามุมดาวอันใดอันหนึ่งเท่านั้น

การไม่ใช้มุมดาว ไม่ได้ทำให้ความแม่นยำลดน้อยลง โหราศาสตร์อินเดียพัฒนาทฤษฎีของตนเองขึ้นมาทดแทน เรียกกันว่า “โยค (Combination)” หมายถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเมื่อดาว 2 ดวงร่วมราศีกัน (บางโยคนับเล็งหรือเกณฑ์ราศีด้วย) โยคถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่ปรากฏในชาติอื่นใด แม้กระทั่งโหรไทย โหราจารย์อินเดียพัฒนาความรู้ด้านนี้อย่างกว้างขวางลึกซึ้ง โยคจึงมีมากมายหลายพัน เฉพาะที่สำคัญ ๆ ก็ 300 โยคแล้ว

โยคคือจุดเด่นที่สุดของโหราศาสตร์อินเดีย มันเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญและให้ความถูกต้องแม่นยำสูงมาก โดยเฉพาะพื้นดวงกำเนิด ความสำเร็จล้มเหลว ร่ำรวยยากจน สูงส่งต่ำต้อย ชั่วดีต่าง ๆ เห็นได้กระจ่างจากโยค ยากจะหาเครื่องมืออื่นใดมาเทียบเทียม

หนึ่งในโยคสำคัญที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือ “ปัญจะมหาบุรุษโยค” โยคนี้ใช้พิจารณาตรวจสอบความยิ่งใหญ่ เกียรติยศชื่อเสียง ตำแหน่งหน้าที่ ความมั่งคั่งร่ำรวย ความสำเร็จอย่างสูง ฯลฯ ในดวงชะตาบุคคล ปัญจะแปลว่าห้า หมายถึงดาวทั้ง 5 ได้แก่อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ โหราศาสตร์โบราณใช้ดาว 7 ดวง ทำไมโยคนี้ไม่มีอาทิตย์จันทร์ ? เพราะทั้งคู่เป็นดาวมีแสงในตัวเอง (Luminary) ที่ให้คุณอยู่แล้ว แต่ทั้ง 5 เป็นเพียงดาวเคราะห์ (Planet) โยคต้องการบอกว่า แม้ดวงชะตาไม่มีอาทิตย์จันทร์ที่เข้มแข็ง แต่ถ้ามีดาวอื่นที่เข้มแข็งให้คุณ เจ้าชะตาก็สามารถประสบความสำเร็จ มีศักดิ์ศรีเกียรติภูมิ และยิ่งใหญ่ได้เหมือนกัน

ปัญจะมหาบุรุษโยคไม่ได้เกิดจากความสัมพันธ์ของดาว 2 ดวง แต่เป็นความสัมพันธ์ของ 1 ในดาวทั้ง 5 กับลัคนาหรือจันทร์ในดวงกำเนิด โยคเกิดขึ้นเมื่อ (1) ดาวเป็นเกษตร์-อุจจ์ (ในทัศนะและประสบการณ์ของผู้เขียน ดาวเกาะวรโคตมนวางค์หรือดาวที่เพ็ญมาก ๆ ก็ใช้ได้เช่นกัน) (2) ดาวนั้นต้องอยู่ในภพเกณฑ์ของลัคน์หรือจันทร์ ข้อนี้สำคัญมาก

ภพเกณฑ์คือภพที่ 1, 4, 7, 10 แม้ดาวเข้มแข็งแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าไม่อยู่ภพเหล่านี้ ก็ไม่ถือเป็นปัญจะมหาบุรุษโยค ทำไมถึงนับจากจันทร์ด้วย ? เพราะจันทร์เป็นจุดสำคัญในดวงชะตา โหราศาสตร์อินเดียถือจันทร์สำคัญไม่แพ้ลัคน์ และยิ่งสำคัญมากในการพิจารณาดวงสตรี

บารัค โอบามาเป็นตัวอย่างที่ดี เขามีลัคนามังกร เสาร์อยู่มังกร (ภพ 1) ที่ 2:01 องศา เป็นเกษตร์และเกาะวรโคตมนวางค์ เสาร์เป็นดาวเจ้าเรือนลัคน์ด้วย เสาร์หมายถึงอำนาจทางการเมืองหรือในองค์กรขนาดใหญ่

จากเด็กน้อยบ้านแตก เขากลายเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐ