ทรงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

ทรงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

วันที่ 4 พฤษภาคม 2562 กำลังจะเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย

ในมหามงคลวโรกาสที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร จะได้ทรงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ และจะได้มีการเรียกขานพระนามเป็น “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ” ซึ่งปี 2562 นี้ถือเป็นปีที่สี่ในรัชกาลปัจจุบัน

ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัติรย์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นเรื่องที่ซึมซับอยู่ในดวงใจของผู้เรียกตนเองว่า “คนไทย” โดยไม่มีคำถามหรือข้อสงสัยใดๆ แต่ในห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมการเมืองของโลก คนที่เรียกตัวเองว่า “คนหัวสมัยใหม่” มักตั้งข้อสังเกตหรือมีความพยายามจะครอบงำความคิดของคนอื่นๆ ให้คล้อยตามหรือเชื่อในแนวทางวิธีการที่ตนเองเห็นว่าถูกต้อง ทั้งทีหลักการของความเป็นประชาธิปไตยนั้นเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกได้โดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

ความตั้งใจของผู้เขียนเองในฐานะข้าราชการที่รับใช้แผ่นดินและปวงชนชาวไทยมาเกือบสามสิบปีเต็ม จะเดินทางไปรอรับเสด็จพระราชดำเนินในสถานที่ซึ่งทางราชการจัดให้ตั้งแต่รุ่งเช้าของวันที่ 4 พฤษภาคม เพื่อหวังที่จะได้ชื่นชมพระบารมีของพระองค์แม้จะเป็นในระยะที่อยู่ห่างจากเหตุการณ์สำคัญ แต่ถือเป็นการแสดงความจงรักภักดีและเป็นบุญวาสนาที่ได้เกิดมาภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ทรงมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อผืนแผ่นดินนี้

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระยะเวลาที่ผ่านมาแม้จะไม่ทำให้เกิดความแตกแยกความสมัครสมานสามัคคีในชาติดังเช่นที่เคยเกิดขึ้น แต่ได้ปรากฎความพยายามอย่างยิ่งยวดของฝ่ายที่ต้องการนำประเทศไปสู่จุดมุ่งหมายที่อาจถึงขั้นเปลียนแปลงระบอบการปกครอง (regime change) อันถือเป็นอันตรายร้ายแรง และอาจสร้างความเสียหายในขั้นอุกฤษฎ์ มากกว่าปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา นี่คือเหตุผลที่มีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจไม่เห็นด้วยกับวิธีการและความพยายามอันแฝงเร้นด้วยวัตถุประสงค์ที่ร้ายกาจนี้ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นรวมถึงใช้ช่องทางที่ถูกต้องขอบธรรมตามกฎหมายในการดำเนินการป้องกันปัญหามิให้ลุกลามบานปลายออกไป

ความพยายามประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้ในวันที่ 9 พฤษภาคม อาจเป็นความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างผู้ยกร่างกฎหมายกับฝ่ายจัดการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามฝ่ายออกกฎหมายได้ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า กรอบระยะเวลาการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ มิได้กินความถึงการประกาศผลการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเร่งการประกาศผลการเลือกตั้งให้เสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 9 พฤษภาคม ทั้งที่ระยะเวลาตามรัฐธรรมนูญได้ให้เวลา 60 วันหลังการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม อันจะทำให้กำหนดการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งจะเป็นวันที่ 24 พฤษภาคม 62

การเร่งรีบประกาศโดยยึดหลักปฎิบัติที่ว่า “แขวนไว้ก่อนแล้วค่อยมาสอยในภายหลัง” ย่อมเป็นวิธีการที่สุ่มเสี่ยง เพราะบุคคลที่ได้รับการรับรองเป็น สส จะได้รับเอกสิทธิคุ้มครอง และถือว่าพวกเขามีสถานะเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมานับแต่วันได้รับเลือกตั้ง เราคงได้เห็นแล้วว่า ปัญหาความเสียหายอย่างกรณีเส้นทางเดินรถไฟโอปเวลล์ที่รัฐต้องจ่ายค่าเสียหายนับหมื่นนับแสนล้านให้ภาคเอกชน อันเนื่องมาจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ การเร่งการประกาศรับรองผลฯ ท้งที่มีเวลาเหลืออยู่อีกมาก อาจเป็นข้อร้องเรียนของฝ่ายที่เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการ “ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่” ก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี ในวันที่ปวงชนชายไทยต่างแซ่ซ้องสรรเสริญที่ประเทศไทยได้มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงแสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติป็นประมุขของประเทศและทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม เราเชื่อมั่นว่า แผ่นดินไทยต่อแต่นี้ไปจะมีความสุขสงบและด้วยพระปรีชาสามารถของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่แม้จะมิได้ทรงเกี่ยวข้องใดๆ กับการเมือง แต่ด้วยแนวทางวิธีการที่พระองค์ได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นเยี่ยงอย่าง รวมถึงพระราชโองการ พระราชดำรัสและพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงแนะนำให้ข้าราชการและพสกนิกรได้ยึดถือปฎิบัติตามวาระโอกาสต่างๆ ย่อมเป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องยึดถือเป็นสรณะ และย่อมถือเป็นหลักปฎิบัติที่ทุกฝ่ายจะต้องน้อมนำเพื่อช่วยกันพัฒนาสร้างสรรค์ประเทศไทยของเราให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาสืบไป