จุดอ่อนของอิสระ

จุดอ่อนของอิสระ

เมื่อกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา นิตยสาร The Economist ตีพิมพ์บทความที่ตรงใจนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักส่วนใหญ่

โดยกล่าวว่าความเป็นอิสระของธนาคารกลางทั่วโลกกำลังตกอยู่ในหายนะ เนื่องจากถูกแทรกแซงจากภาคการเมือง ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น

นิตยสาร The Economist มองว่าธนาคารกลางจำเป็นต้องคงความเป็นอิสระทางวิชาการและนโยบายเนื่องด้วยเหตุผลสำคัญคือ “เงินเฟ้อ” ซึ่งโดยใจความหลักมาจากแนวคิดที่ว่านักการเมืองมักมีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตสูงกว่าศักยภาพ เพื่อให้ตนเองได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารเศรษฐกิจที่ “เก่ง” และได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกครั้ง

โดยวิธีที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตสูงกว่าศักยภาพก็คือการทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงกว่าเงินเฟ้อที่ควรจะเป็น ทำให้ผู้คนรู้สึกอยากจับจ่ายมากขึ้น ทำให้ยอดขายของธุรกิจต่างๆ ดีขึ้น เกิดการจ้างงานมากขึ้น และทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นกว่าปกติในช่วงสั้น แต่ในระยะยาวไม่ได้ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจเริ่มปรับลดคนงาน แต่เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงและกดดันเศรษฐกิจในช่วงต่อไป

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ธนาคารกลางจึงจำเป็นต้องเป็นอิสระ มีความน่าเชื่อถือ เพื่อให้สาธารณชนเชื่อได้ว่าจะสามารถคุมเงินเฟ้ออยู่

ตัวอย่างของธนาคารกลางที่ถูกแทรกแซงคือในยุคประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันในช่วงปี 1972 ที่ต้องการให้ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้ง จึงกดดันให้อาเธอร์ เบิร์น ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในช่วงนั้นทำนโยบายการเงินผ่อนคลายพร้อมๆ กับยกเลิกนโยบาย “มาตรฐานดอลลาร์” (Dollar Standard) หรือการที่ค่าเงินดอลลาร์ผูกติดกับทองคำ ทำให้ Fed สามารถพิมพ์เงินได้โดยไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง และเป็นผลให้เงินเฟ้อในสหรัฐพุ่งขึ้นจาก 4% เป็น 12% และทำให้เศรษฐกิจตกต่ำจนทำให้ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ต้องตั้ง พอล โวล์กเกอร์ มาเป็นประธาน Fed และขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง จึงจะสามารถลดเงินเฟ้อได้

The Economist มองว่า กระแสสังคมและการเมืองทั่วโลกที่เริ่มกดดันธนาคารกลางว่าทำนโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไปนั้น จะทำให้เกิดเงินเฟ้อรอบใหม่ขึ้นได้ โดยในสหรัฐ ประธานาธิบดีทรัมพ์ส่งสัญญาณกดดัน เจย์ พาว์เวลล์ ประธาน Fed คนปัจจุบันให้ลดดอกเบี้ยตลอดมา ในญี่ปุ่น นายกฯ ชินโซ อาเบะ เปลี่ยนผู้ว่าฯ ธนาคารกลาง (BOJ) มาเป็น ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ในปี 2013 ก็เพื่ออให้ BOJ หันกลับมาใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและคุณภาพ (ซึ่งก็มีส่วนทำให้ญี่ปุ่นหลุดจากภาวะเงินฝืด) ส่วนในอินเดีย นารินดรา โมดิ ก็เปลี่ยนผู้ว่าการธนาคารกลาง (RBI) เพื่อให้ RBI ลดดอกเบี้ยเช่นกัน

กระแสการเมืองที่กดดันความเป็นอิสระของธนาคารกลางเหล่านี้ ทำให้ The Economist และนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะหากเงินเฟ้อกลับมา จะทำให้ผู้คนไม่เชื่อว่าธนาคารกลางจะคุมเงินเฟ้ออยู่ได้ และอาจทำให้เงินเฟ้อพุ่งกระฉูด (Hyperinflation) ได้

แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่าการให้อิสระต่อธนาคารกลางอย่างเต็มที่โดยปราศจากความรับผิดชอบนั้นไม่เหมาะสมกับบริบทปัจจุบันของเศรษฐกิจโลกและไทยด้วยเหตุผล 3 ประการ

1.เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันต่างจากอดีตเพราะปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับภาวะ New Normal จากการเติบโตที่ “ซึม” ยาว (หรือที่เรียกกันว่า Secular stagnation) อันเป็นผลจาก

(1) สังคมสูงวัยที่เกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศเจริญแล้ว ทำให้กำลังแรงงานลดลง

(2) ภาวะหนี้ทั่วโลกที่สูงขึ้น ทั้งหนี้สาธารณะในประเทศพัฒนาแล้วและหนี้ครัวเรือนในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ภาครัฐและเอกชนต้องนำเงินไปจ่ายภาระดอกเบี้ยมากขึ้นและเหลือเงินน้อยลงในการบริโภคและลงทุน และ

(3) เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง ขณะที่่ความต้องการใช้จ่ายของประชาชนมีน้อยลง (Excess supply)

ภาวะเหล่านี้จะกดดันให้เงินเฟ้อทั่วโลกต่ำลงระยะยาว และไม่ตอบสนองต่อการเกิดปัญหาด้านการผลิต (Supply shock) เช่นในอดีต

แม้บริบทโลกจะเปลี่ยนไป แต่ธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะ Fed ยังคงใช้แบบจำลองเศรษฐกิจ (Economic Model) เดิมในการวิเคราะห์เศรษฐกิจ ทำให้ Fed คาดการณ์เงินเฟ้อสูงกว่าความเป็นจริงตลอดมา และทำให้ Fed ทำนโยบายการเงินตึงตัวเกินไป และส่งผลลบต่อตลาดการเงินสหรัฐ รวมถึงเศรษฐกิจอื่นๆ ทั่วโลกผ่านต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น และทำให้ธนาคารกลางอื่นๆ ต้องขึ้นดอกเบี้ยตามแม้เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้เศรษฐกิจยิ่งตกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

2.การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกันการที่ธนาคารกลางมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างเป็นเอกเทศแล้ว มักดำเนินนโยบายที่ยึดแต่เสถียรภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก และละเลยการพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจ

นโยบายดังกล่าว มักไม่สอดคล้องกับนโยบายการคลังที่มุ่งเน้นการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจ เช่น การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการ LTV เพื่อคุมเข้มภาคอสังหาฯ ขณะที่กระทรวงการคลังทำมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ผ่านการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง

ในเชิงทฤษฎีผลของนโยบายที่ขัดกันดังกล่าวจะหักล้างกัน แต่จะก่อให้เกิดผลเสียคือต้นทุนทางการเงินของผู้พัฒนาโครงการและผู้กู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ในเชิงปฏิบัติ การขัดกันของนโยบายจะส่งสัญญาณที่สับสนไปสู่ผู้ประกอบการว่าควรจะชะลอหรือเร่งขยายธุรกิจ อันเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม

3.การที่ธนาคารกลางเป็นอิสระจนเกินไป ทำให้นโยบายเศรษฐกิจโดยรวมขาดความยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจ

โดยจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผู้เขียนนั้น พบว่าธนาคารกลางที่มีความเป็นอิสระสูง มักจะมีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างตายตัว (เช่น นโยบาย ธปท. ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997)

ซึ่งแม้ว่าสองนโยบายดังกล่าวจะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือในการดำเนินนโยบายการเงิน แต่การตอบสนองต่อเศรษฐกิจจะต่ำกว่าธนาคารกลางที่ความเป็นอิสระต่ำกว่า แต่มีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

เช่น ธนาคารกลางเกาหลีใต้ที่มีการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนที่สอดผสานกับนโยบายการคลังของรัฐบาล ทำให้เกาหลีใต้ฟื้นจากวิกฤตต้มยำกุ้งเร็วกว่าไทยในช่วงดังกล่าว

เหตุผลทั้งสามบ่งชี้ว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกไม่มีความเสี่ยงเงินเฟ้อนั้น ธนาคารกลางที่อิสระจนเกินไป จะขาดความยืดหยุ่น และการสอดผสานเชิงนโยบายเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที

วอลแตร์ เชอร์ชิลและสไปเดอร์แมนเคยกล่าวคำพูดเดียวกันว่า “อำนาจที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมด้วยความรับผิดชอบที่สูงยิ่ง

ตรรกะดังกล่าว ใช้ได้กับความเป็นอิสระของธนาคารกลางเช่นเดียวกัน

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]