สะท้อนเงา “บิ๊ก ดาต้า” ในจีน แข็งแกร่งเชื่อมโยง

สะท้อนเงา “บิ๊ก ดาต้า” ในจีน แข็งแกร่งเชื่อมโยง

จีนมียุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้ข้อมูลมาใช้ทำ บิ๊กดาต้า อนาไลติกส์

ว่าด้วยเรื่อง บิ๊ก ดาต้า ขอเล่าประสบการณ์ก่อนที่จะกล่าวไปถึงหลักการ เมื่อผมไปเซินเจิ้นต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และได้สังเกตการเก็บข้อมูลของหน่วยงานในประเทศจีนที่ทำให้ไม่แปลกใจว่าทำไมเขาถึงสามารถทำ Social credit scoring หรือทำการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของประชาชนของเขาได้ตลอด

ประสบการณ์ที่พบตั้งแต่เข้าประเทศจีนครั้งแรกเขาสแกนลายนิ้วมือผมเก็บไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง และหลังจากนั้นทุกครั้งที่่เข้าประเทศจีนผมก็ไม่ต้องทำการสแกนแล้ว เพราะได้เก็บประวัติไว้แล้ว และเมื่อขึ้นแท็กซี่จากสนามบินไปโรงแรมก็สังเกตเห็นรถที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้านอกจากมีระบบติดตามแล้วยังมีกล้องที่จับภาพทั้งคนขับและผู้โดยสารตลอดเวลา

ครั้งล่าสุดเมื่อถึงโรงแรมที่พักค่อนข้างแปลกใจที่ต้องถ่ายรูปทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่มีการถ่ายรูป ซึ่งรูปไม่ได้นำไปใช้ในการอำนวยความสะดวก แต่ใช้ระบุตัวตนคู่กับพาสปอร์ตที่ผมคิดว่ามีระบบจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ได้เป็นอย่างดี ทำให้นึกถึงระบบตรวจสอบคนทำผิดกฎหมาย เช่น การไม่ข้ามทางม้าลายด้วยการทำ Realtime Facial Recognition จากกล้องซีซีทีวีที่อยู่ในที่สาธารณะทั่วเมืองเมืองเซินเจิ้น หรือแม้แต่อินเทอร์เน็ตในประเทศจีนก็บล็อกโซเชียลมีเดีย และเสิร์ซเอนจิ้นของต่างชาติอย่าง เฟซบุ๊ค กูเกิล คนจีนต้องใช้ระบบในประเทศอย่าง Baidu หรือ Weibo จึงไม่แปลกใจที่รัฐบาลจีนสามารถเก็บข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ต การใช้โซเชียลมีเดีย และการสืบค้นข้อมูลของประชากรได้

นอกจากนี้การใช้อีคอมเมิร์ซ และ โมบาย เพย์เม้นท์ ของระบบในจีนอย่าง Taobao, Tmall, Alipay หรือ WeChat ทำให้เขาสามารถติดตามพฤติกรรมของประชาชนได้ว่ามีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไร

แม้แต่คนต่างชาติอย่างผมจะซื้อตั๋วโดยสารรถไฟ ผมก็ต้องแสดงพาสปอร์ต เพราะเมื่อซื้อครั้งแรกเขาจะเก็บข้อมูลต่างๆของผมไปหมด เช่น การขึ้นรถไฟก็ต้องใช้พาสปอร์ตสแกนผ่านประตูเข้าออกแทนที่จะใช้บัตรโดยสาร แสดงให้เห็นว่าเขาใช้วิธีการเก็บข้อมูลโดยตรงผ่านการระบุตัวตนที่อาจเป็นบัตรประชาชน, พาสปอร์ต, WeChat หรือ Alipay

ทั้งนี้หลักการของ บิ๊ก ดาต้า ที่สำคัญ คือ ต้องมีข้อมูลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง (Velocity) ไม่ใช่แค่ข้อมูลสรุปขนาดใหญ่ ซึ่งประเทศจีนมียุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้ข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการทำ บิ๊ก ดาต้า อนาไลติกส์ ในเรื่องต่างๆ ซึ่งนอกเหนือจากการวางกลยุทธ์ให้ได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลที่รัฐบาลอาจต้องใช้กฎหมายมาบังคับแล้ว รัฐบาลเองยังต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่อาจมีเซร์ฟเวอร์นับล้านเครื่องในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เหล่านี้

การเก็บข้อมูลประชาชนของรัฐบาลจีน มีอยู่หลายมิติ เช่น การติดตั้งกล้อง ซีซีทีวี ที่สามารถใช้ระบบ Facial Recognition ตรวจสอบพฤติกรรมประชาชนทั่วประเทศจีนจำนวน 176 ล้านกล้อง และจะขยายเป็น 450 ล้านกล้องในปี 2020

การติดตามข้อมูลการซื้อสินค้าออนไลน์และการใช้จ่ายเงินผ่าน โมบาย เพย์เม้นท์ อย่าง Alipay หรือ WeChat ที่นำมาทำ Social credit scoring อย่าง Zhima (Sesame) Credit การบังคับให้รถยนต์ไฟฟ้าทุกยี่ห้อทั้งในและต่างประเทศตั้งแต่ Tesla, Volkswagen, BMW, Ford, General Motors, Nissan, BYD ต้องส่งข้อมูลตำแหน่งรถยนต์กลับมายังรัฐบาลตลอดเวลา

การดึงข้อมูลจากโมบาย แอพ ต่างๆ เข้ามา และมีการบังคับให้คนบางกลุ่ม เช่นชาวอุยกูร์ต้องติดตั้งโมบาย แอพที่ชื่อ Jingwang เพื่อตรวจสอบรูปภาพ ไฟล์ หรือเอกสารต่างๆ ที่อยู่ในมือถือ

จากตัวอย่างของข้อมูลที่เก็บมาจึงไม่แปลกใจที่จีนสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของประชาชนได้ตลอดเวลา หากมองในแง่ความสะดวกและความปลอดภัยเป็นเรื่องดี แต่หากมองด้านเสรีภาพและสิทธิส่วนบุคคลก็เริ่มเป็นข้อสงสัยที่ถูกถาม และหากมองในแง่เทคโนโลยีก็ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม บิ๊ก ดาต้า อนาไลติกส์ ของประเทศจีนมีความก้าวหน้าไปอย่างมากแต่ก็ต้องแลกมาด้วยคำถามการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่