“รถ EV กับ Micro Mobility”

“รถ EV กับ Micro Mobility”

เรื่องการมาของรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า โดยเฉพาะแบตเตอรี่หรือ BEV: Battery-driven Electrical Vehicle

ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าจะเริ่มมีผลกระทบต่อทั้งการเดินทางของผู้คน การผลิต และผู้ประกอบการของรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน หรือแม้กระทั่งห่วงโซ่อุปทานอย่างมีนัยยะสำคัญและจะ Disrupt ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาใด บ้างก็ว่าภายในปี ค.ศ. 2025 บ้างก็ว่า ค.ศ. 2035 แล้วแต่ว่าจะเป็นตัวเลขคาดการณ์จากหน่วยงานวางแผนของธุรกิจใด ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ EV ก็คาดว่าจะมาเร็วขณะที่ฝั่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันก็คาดว่าจะเป็นตัวเลขหลัง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ในประเทศจีน เมื่อปลายปี 2018 ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ยอดขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมียอดขายลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า บ้างก็ว่าเป็นผลมาจากการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน แต่ที่น่าสนใจคือ ยอดขายรถ EV ของจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในไตรมาสเดียวกัน และปรากฎการณ์ต่อเนื่องมายังไตรมาส 1 ของปี 2019 ด้วย

ปัจจุบัน โลกเรามีประชากรรถกว่า 3 ล้านคันที่เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งอยู่ในประเทศจีน และในปีที่ผ่านมา กว่าร้อยละ 70 ของรถ EV ที่ผลิตได้ถูกนำมาขายในประเทศจีน ซึ่งน่าจะเกิดจากการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน โดยเฉพาะในส่วนของผู้ผลิต ที่นอกจากจะบังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์ ICE หรือที่เติมน้ำมัน ต้องผลิตรถยนต์ EV ในสัดส่วนที่รัฐกำหนด (จะคล้ายๆกับเรื่อง Carbon Credit ที่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล จะต้องมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม) ถ้าไม่สามารถผลิตได้ก็ให้กันเงินส่วนหนึ่ง เพื่อลงทุนหรือสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของใบรับรองหรือ  certificate จากผู้ผลิตรถ EV แล้วสามารถซื้อขายกันได้ หรือการสนับสนุนในรูปแบบเงินให้เปล่ากับผู้ผลิต โดยรถยนต์ EV โดยเฉพาะรถบัสหรือรถแท็กซี่ ที่ถ้าออกวิ่งได้ถึง 20,000 กิโลเมตรก็จะได้เงินให้เปล่าก้อนหนึ่ง หรือเพื่อเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ถ้ารถยนต์ EV ที่มีแบตเตอรี่สามารถวิ่งได้มากกว่า 400 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ก็สามารถขอเงินชดเชยได้ 100,000 บาทต่อคันเป็นต้น ในส่วนของผู้บริโภคก็มีการให้สิทธิพิเศษ ในการขับเข้าเมืองใหญ่ ซึ่งในนครปักกิ่ง หรือเซี่ยงไฮ้ จะมีข้อจำกัดอยู่สำหรับรถ ICE

จะเห็นว่า การเติบโตของรถยนต์ EV ในประเทศจีนนั้น เกิดจากการอุดหนุนของภาครัฐเป็นหลัก และประมาณการณ์จาก Center for Strategic and International Study คาดว่ารัฐบาลจีนได้อุดหนุนอุตสาหกรรมดังกล่าวกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่า 2 ล้านล้านบาท ในช่วงไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่ต่างจากประเทศนอร์เวย์ ประเทศที่มีจำนวนรถยนต์ EV ต่อประชากรสูงสุดในโลกนั้น ก็มีการอุดหนุนในด้านของผู้ซื้อรถ ไม่ว่าเรื่องสิทธิพิเศษ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ร้อยละ 25) หรือการยกเว้นภาษีประจำปี (yearly road license fee) จนคาดกันว่ารัฐบาลนอร์เวย์สูญเสียรายได้กว่า 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่ออุดหนุนผู้บริโภค 50,000 ราย ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวที่สูงทีเดียว และในอีกหลายๆประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ ประเทศในกลุ่มยุโรป ก็มีการอุดหนุนกันอย่างต่อเนื่อง และมีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อการอุดหนุนต่างๆเหล่านี้หมดไป การขยายตัวของรถยนต์ EV ยังจะเป็นไปอย่างรวดเร็วหรือไม่

 

อุปสรรคสำคัญที่เป็นที่รู้กันในการพัฒนารถ EV คือตัวแบตเตอรี่ ที่ทั้งราคาค่อนข้างสูง มีน้ำหนักตัวมาก มีรอบการใช้งานหรือ charging cycle ค่อนข้างจำกัดที่ 500 ถึง 1000 ครั้ง (ถ้าชาร์จทุกวัน ก็ประมาณ 3-4 ปี) และที่สำคัญในการชาร์จหนึ่งครั้งเดินทางได้สูงสุดประมาณ 400 กิโลเมตร ซึ่งข้อจำกัดต่างๆเหล่านี้ก็ทำให้มีรูปแบบธุรกิจที่จะมาตอบโจทย์ เช่น เมื่อ ต้นทุนแบตเตอรี่แพง ก็นำเข้าไปใส่ในรถสปอร์ต รถพรีเมียมหรือรถ SUV ก่อน จนกว่าราคาแบตเตอรี่ที่ลดลงอย่างรวดเร็วนั้นจะลดลงถึงจุดที่ใช้กับรถบ้านได้  หรือเรื่องสถานีชาร์จไฟ ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องมีการจัดการ โดยเฉพาะ Super Charger ที่มีต้นทุนสูงและอาจจะกระทบระบบไฟฟ้าทั้งระบบ ถ้ารถชาร์จพร้อมๆกันหลายสิบคัน โดยในสหรัฐอเมริกา จะเห็นว่า ผู้ประกอบการด้านไฟฟ้าหรือ State Utility เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ อีกทั้งผู้ผลิตรถยนต์เอง ก็ต้องมีการจัดการสายพานผลิตใหม่ เนื่องจากต้นทุนในการผลิตรถ EV อาจจะสูงถึงสามเท่าของรถ ICE ว่ากันว่า VW เตรียมลงทุน สามหมื่นล้านยูโร เพื่อพัฒนาสายพานผลิตใหม่เพื่อ EV โดยเฉพาะ และอีก ห้าหมื่นล้านยูโรเพื่อพัฒนาตัวแบตเตอรี่เอง

ฟังดูวิวัฒนาการข้างต้นแล้วดูแล้วน่าตื่นเต้น เมื่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันให้ EV เป็นรถแห่งอนาคต แต่ก็เป็นทั้งหมดการพัฒนาต่อยอดจาก business model เดิมคือ รถบ้านหนึ่งคันเป็นรถสารพัดประโยชน์ ไม่ว่าจะไปจ่ายตลาด ส่งลูกเข้าโรงเรียน ซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าบ้าน หรือไปเที่ยวทะเล แต่ทาง BNEF ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของ Bloomberg พบว่า กว่าร้อยละ 50 ของการเดินทางของเราเป็นการเดินทางคนเดียวที่สั้นกว่า 8 กิโลเมตรหรือ 5  ไมล์ กว่า 3 ใน 4 ครั้งของการเดินทางเป็นการเดินทางที่สั้นกว่า 10 ไมล์ และ ร้อยละ 95 เดินทางต่ำกว่า 30 ไมล์ จึงมีการคิดต่อว่า ถ้าการเดินทางส่วนใหญ่เป็นการเดินทางสั้นๆแล้ว ยังจำเป็นต้องขับรถยนต์คันเก่งไปอีกหรือไม่ หรือง่ายๆคือรถที่กำลังพัฒนาเพื่อให้แบตเตอรี่ชาร์จครั้งหนึ่งแล้ววิ่งได้ 400 กิโลเมตร ยังมีความจำเป็นเช่นไหน เนื่องจากเราต้องการแค่ 10 ถึง 30 ไมล์หรือ 16 ถึง 50 กิโลเมตรต่อการเดินทางหนึ่งครั้ง ก็เป็นการคิดนอกกรอบหรือ  out of the box ของกลุ่ม starlet up ที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจเดิมมาก่อน และมีมุมมองต่อธุรกิจที่แตกต่างออกไป และเริ่มมีการกำหนดประเภทการเดินทางแบบใหม่ที่เรียกว่า Micro Mobility

ได้มีการกำหนดความหมายของคำว่า micro mobility หรืออุปกรณ์เดินทางที่มีน้ำหนักเบา (ไม่เกิน 200 กก) เช่น e-bike สกูตเตอร์ หรือแม้กระทั่งรถยนต์ส่วนบุคคลคันเล็กๆหรือรถสามล้อเป็นต้น การพัฒนาสามารถทำได้ง่าย เนื่องจากเป็นกลุ่มใหม่ที่อาจจะเรียกว่าเป็น Blue Ocean และถ้าไม่เริ่มจาก EV เลยก็สามารถพัฒนาต่อยอดให้เป็น EVได้ง่าย โดยไม่มีแรงเสียดทานหรือแรงเฉื่อยจากผู้ประกอบการเดิมที่มีอิทธิพลอยู่ จึงมีการวิเคราะห์ต่อว่าการเดินทางในอนาคต อาจจะมีการใช้พาหนะให้เหมาะกับสถานการณ์ เช่น การเดินทางไม่เกิน 10 ไมล์ อาจใช้ e-bike หรือ e-scooter การเดินทางไม่เกิน 20 ไมล์อาจใช้มอเตอร์ไซค์ ไม่เกิน 30 ไมล์ใช้บริการอูเบอร์หรือ ride hailing หรือรถโดยสารขนาดเล็ก เช่น model Smart ของเบนซ์ หรือ Fomm ที่หาได้ในบ้านเราและเมื่อเดินทางไกลกว่านั้นจึงใช้รถยนต์คันเก่งหรือแม้กระทั่งรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งรูปแบบธุรกิจก็น่าจะเปลี่ยนไป จากที่เป็นเจ้าของรถ ก็จะใช้บริการผ่านผู้ให้บริการไม่ว่านะเป็น e-scooter ride hailing หรือรถโดยสารสาธารณะต่างๆ ผ่านการสมัครเป็นสมาชิกในแอปต่างๆ  ซึ่งยานพาหนะต่างๆเหล่านี้ก็จะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าหรือก็คือ EV อีกจำพวกหนึ่ง เมื่อต้องการใช้ก็ไปรับพาหนะที่ที่จอด และเมื่อเดินทางที่จุดหมายปลายทางก็จะมีที่จอดให้ที่ปลายทางเช่นกัน และเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในอนาคต ก็อาจจะมีการพัฒนาต่อยอดในส่วนของ Autonomous driving เพิ่มขึ้น คือจะมารับมาส่งให้เลย

แนวโน้มของ micro mobility เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในสหรัฐ และในประเทศอิสราเอล โดยในนิตยสาร Forbe เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้พูดถึงข้อดีว่า การเดินทางด้วย e-bike e-scooter จะช่วยแก้ปัญหาจราจรในเวลาเร่งด่วน และคาดว่าต่อไปพวกรถส่งของตามบ้านหรือส่งอาหารก็คงหันมาใช้พาหนะดังกล่าวเช่นกัน เมื่อความปลอดภัยในการเดินทางโดยวิธีนี้ดีขึ้น ในส่วนของประเทศจีนนั้น รถมอเตอร์ไซค์ทั้งหมดที่วิ่งในเมืองก็เป็นรถมอเตอร์ไซค์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2012 และล่าสุด บริษัทรถยนต์ของประเทศจีน Geely ก็กำลังเจรจาเพื่อซื้อ model Smart จากเบนซ์เพื่อมาต่อยอด เป็นพาหนะขนาดเล็กที่สะอาดและเพื่อเดินทางในเมืองต่อไป จะเห็นว่าอนาคตอันใกล้ของ EV น่าจะเป็น micro mobility vehicle มากกว่า และการมาของ micro mobility ก็น่าจะมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงหรือ disrupt ธุรกิจการเดินทางของพวกเราอย่างน่าสนใจและรวดเร็วทีเดียว