วันคุ้มครองโลก แจกเงินให้ไปเที่ยวและภาษีเงินฝาก

วันคุ้มครองโลก แจกเงินให้ไปเที่ยวและภาษีเงินฝาก

วันคุ้มครองโลกเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาแทบไม่ปรากฏในรายงานของสื่อ เหตุปัจจัยได้แก่กิจกรรมที่องค์กรของรัฐจัดทำกร่อยมากเนื่องจากทำแบบขอไปที

จึงมีผลทำให้คนไทยซึ่งให้ความสำคัญแก่การคุ้มครองโลกน้อยอยู่แล้ว ใส่ใจน้อยลงไปอีก หรือสื่อคงมองว่ามีเรื่องสำคัญกว่ามากทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ เช่น เหตุการณ์อันน่าสลดใจเกี่ยวกับไฟไหม้วิหารเก่าแก่ในใจกลางกรุงปารีสและการจุดระเบิดพลีชีพหลายแห่งในศรีลังกา ซึ่งคร่าชีวิตคนไปมากกว่า 300 ราย ส่วนภายในประเทศ ภาพการเมืองหลังการเลือกตั้งยังสับสนจนไม่รู้ว่าผลจะออกมาเมื่อไร ทั้งที่เวลาได้ผ่านไปกว่าเดือน นอกจากนั้น ยังมีเรื่องที่สร้างความสนใจอย่างกว้างขวางอีกด้วย เช่น เรื่องรัฐบาลเสนอแจกเงินให้คนไทยไปเที่ยวคนละ 1,500 บาทและการจะเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากในสถาบันการเงิน

เนื่องจากกิจกรรมของภาครัฐเกี่ยวกับวันคุ้มครองครองโลกนั้นน้อยนิดจนไม่เป็นข่าว ชาวไทยโดยทั่วไปคงไม่ทราบว่าสาระหลักของการจัดกิจกรรมโดยเครือข่ายคุ้มครองโลกปีนี้อยู่ที่การพิทักษ์พืชและสัตว์จำนวนมากจากการสูญพันธุ์ เราทราบกันดีว่า การสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ได้เปลี่ยนไป การสูญพันธุ์ในยุคไดโนเสาร์เกิดจากปัจจัยธรรมชาติ ส่วนการสูญพันธุ์ในยุคปัจจุบันมักเกิดจากการกระทำของมนุษย์ การกระทำหลักได้แก่กิจกรรมในนามของการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งเกี่ยวกับการขยายการผลิตและการบริโภคอันเป็นการใช้ทรัพยการโลกในหลากหลายรูปแบบ

การผลิตเกิดขึ้นเพื่อสนองการบริโภคซึ่งขยายอย่างต่อเนื่องด้วย 2 ปัจจัยได้แก่ จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นและแต่ละคนต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น การบริโภคส่วนหนึ่งสนองความจำเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต แต่โดยทั่วไป การบริโภคมิได้หยุดแค่นั้น หากเพิ่มขึ้นแบบมิหยุดยั้งเพราะความหลงผิดคิดว่ายิ่งบริโภคมากขึ้น ความสุขยิ่งเพิ่มขึ้นอันเป็นเป้าหมายของกระบวนการพัฒนา การบริโภคเกินความจำเป็นพื้นฐานเป็นปัจจัยนำที่ทำให้พืชและสัตว์สูญพันธุ์ ทั้งจากการถูกนำมาบริโภค หรือใช้โดยตรงและจากปฏิกิริยาลูกโซ่ของกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทำลายป่าและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน

การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวจากการบริโภคที่ไม่มีความจำเป็นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตโดยมาตรการของรัฐจำพวกแจกเงินให้คนไทยไปเที่ยว จึงมีค่าเท่ากับการเร่งให้พืชและสัตว์สูญพันธุ์เร็วยิ่งขึ้น นอกจากนั้น มันยังขัดกับคำประกาศซ้ำ ๆ ของรัฐบาลที่ว่าจะยึดแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานของการบริหารประเทศอีกด้วย

อนึ่ง ย้อนไปเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2551 บทความในคอลัมน์นี้เสนอว่า ถ้ารัฐบาลต้องการบริหารประเทศบนฐานของการใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง รัฐบาลควรใช้มาตรการทางภาษีซึ่งมีพลังสูงมากในด้านการสร้างแรงจูงใจ เช่น ยกเว้น หรือเก็บภาษีในอัตราต่ำมากจากสินค้าและบริการที่มีความจำเป็นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตพร้อมกับเก็บภาษีในอัตราสูงมากจากสินค้าและบริการจำพวกไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การท่องเที่ยวเป็นบริการที่ไม่มีความจำเป็นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิต จึงต้องเก็บภาษีในอัตราสูง มิใช่แจกเงินให้ไปเที่ยวเพิ่มขึ้น

นอกจากการยกเว้น หรือเก็บภาษีในอัตราต่ำจากสินค้าและบริการที่จำเป็นแล้ว รัฐไม่ควรเก็บภาษีจากสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับการบริโภค เช่น ภาษีมรดกและภาษีที่เกิดจากการออมทรัพย์ซึ่งรวมทั้งดอกเบี้ยเงินฝากในสถาบันการเงิน

ดังที่ทราบกันดี การออมทรัพย์มีความสำคัญต่อการลงทุนซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการผลิตสินค้าและบริการที่สนองความจำเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตของสมาชิกในสังคม หากขาดการออมทรัพย์ภายในประเทศ การลงทุนจะทำได้ต้องใช้การกู้ยืมจากต่างประเทศซึ่งในหลาย ๆ กรณีมีปัญหาตามมา ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝาก รัฐควรสร้างแรงจูงใจให้คนไทยฝากทรัพย์สินไว้ในสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น

จากเรื่องราวที่เล่ามานี้คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สิ่งที่รัฐจัดทำในวันคุ้มครองโลกและเสนอจะทำในช่วงนี้จะมีผลดีน้อยกว่าผลร้ายในด้านการคุ้มครองโลกโดยเฉพาะด้านการพิทักษ์พันธุ์พืชและสัตว์มิให้สูญ