ตลาดหุ้นไทยยังน่าลงทุนหรือไม่

ตลาดหุ้นไทยยังน่าลงทุนหรือไม่

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีนักวิเคราะห์จำนวนมากออกมาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเกิดภาวะถดถอย

หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาค่อนข้างชะลอตัว ทำให้ธนาคารกลางเฟดส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ (จากเดิมคาดขึ้น 2 ครั้ง) และยังส่งสัญญาณจะชะลอการปรับลดงบดุลอีกด้วย ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.43% ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 15 เดือน และได้ปรับลดลงมาต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น

ซึ่งทางเศรษฐศาสตร์เรียกภาวะนี้ว่า “Inverted Yield Curve” ที่มักเกิดก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้เกิดความกังวลเรื่องตลาดจะปรับฐานในหมู่นักลงทุน

ยิ่งไปกว่านี้ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2019 ทาง IMF ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีโลกปี 2019 ลงเหลือ 3.3% จากเดิม 3.5% ในเดือนมกราคม และเป็นการปรับลดครั้งที่ 3 ในรอบ 6 เดือน ส่วนการเติบโตของจีดีพีในปี 2020 ยังคงประมาณการเดิม โดยประเทศที่ถูกปรับลดการเติบโตมากที่สุดได้แก่ ประเทศเยอรมัน ลดลง -0.5% จากเรื่องการปรับมาตรฐานการปล่อยก๊าซพิษจากรถยนต์ ที่กระทบอุตสาหกรรมยานยนต์ ประเทศอิตาลี -0.5% จากปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูง

ประเทศอังกฤษ -0.3% จากการออกสหภาพยุโรปที่ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป และสหรัฐอเมริกา ลดลง -0.2% จากการที่รัฐบาลสหรัฐยุติการจ่ายงบประมาณ (Government Shutdown) ในเดือนมกราคม และการใช้จ่ายภาครัฐที่น้อยกว่าคาด ส่วนประเทศจีน ถูกปรับขึ้น 0.1% จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาลจีน

อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการขึ้นดอกเบี้ย แท้จริงแล้วเป็นผลบวกต่อตลาดเกิดใหม่ เช่น ตลาดหุ้นไทย เนื่องจากน่าจะมีการไหลของเงินทุนมาในภูมิภาคนี้ จากการหาผลตอบแทนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ส่วนการปรับลดการเติบโตของจีดีพีโลกของ IMF นั้น ส่วนใหญ่เป็นการลดในประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้ยิ่งเป็นผลดีต่อประเทศกำลังพัฒนา ที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจที่สูงกว่าและยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในปีนี้และปีหน้า

สำหรับตลาดหุ้นไทยเอง แม้ว่าจะมีการปรับตัวขึ้นมาจากต้นปี แต่ SET Index บริเวณปัจจุบันที่ 1,674 จุด ยังให้ค่าพีอีตลาดในปี 2019 เท่ากับ 15.5 เท่า ซึ่งยังอยู่ในระดับไม่แพง อีกทั้งการถือครองหุ้นของต่างชาติ (รวม NVDR) ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 30% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2005 และในเวลาอีกไม่นาน ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1 ปี 2019 จะทยอยประกาศออกมา ซึ่งคาดว่าตัวเลขจะออกมาติดลบประมาณ 5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีที่แล้ว เนื่องจากฐานกำไรปีที่แล้วที่ค่อนข้างสูงของกลุ่มธนาคารพาณิชย์

และในไตรมาสนี้บริษัทจดทะเบียนบางส่วนต้องตั้งสำรองค่าใช้จ่ายชดเชยพนักงานตามกฎหมายเพิ่มจาก 300 วันเป็น 400 วัน สำหรับพนักงานที่อายุงาน 20 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นการตั้งสำรองเพียงครั้งเดียว หากตลาดหุ้นมีการตอบรับเชิงลบจากตัวเลขกำไรในไตรมาส 1 ที่ออกมาต่ำกว่าคาดเนื่องจากเหตุนี้ คิดว่าน่าจะเป็นจังหวะให้นักลงทุนเข้าสะสมหุ้นได้ครับ