อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ในวันที่รอพบเจ้าหน้าที่สรรพากรเพื่อปรึกษาเรื่องภาษี ก็นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ที่พาดหัวข่าวต่างๆ

ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องการเลือกตั้ง การตั้งรัฐบาล จำนวนเสียง ส.ส. ที่เป็นประเด็นร้อน ดูทีวีทุกค่ำก็เหมือนจะวนเวียนอยู่กับเรื่องนี้ ไม่ได้ต้องการวิพากษ์วิจารณ์ใครหรืออะไร เพราะเป็นเรื่องที่นักการเมืองต้องเจรจาต่อรองกัน และไม่คิดว่านักการเมืองในยามนี้คงไม่คิดอะไรมากกว่าการเอาชนะได้เป็นรัฐบาล 

ที่สนใจนั้นคือเรื่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้เป็น ส.ส.ของพรรค สูงสุดก็ได้กว่า 40 คน นอกนั้นก็ลดหลั่นกันลงมาจนหลายพรรคมีแค่คนเดียว

คิดอยู่เรื่อง 2 เรื่องคือ

หนึ่ง...หลายพรรค ปรากฎว่าหัวหน้าหรือผู้นำพรรคไม่ได้เป็น ส.ส. และ

สอง...หลายพรรคที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาแบบไม่คาดคิด

เรื่องที่สองนี้ ผู้ที่ได้เป็น ส.ส.บางคนหรือหลายคนไม่เคยลงพื้นที่หาเสียงหรือมีประวัติทำงานอะไรที่ประสบความสำเร็จ ที่จะชี้วัดศักยภาพในการทำงานทางการเมือง ยกตัวอย่างพรรคที่ได้ ส.ส.จากการเลือกตั้งมากที่สุด ที่หัวหน้าพรรคและแม้กระทั่งผู้นำพรรคก็ไม่ได้เป็น ส.ส.ทั้งสองแบบ และอีกหลายพรรคก็เป็นเช่นนั้น

แบบนี้จะคุมลูกพรรคกันอย่างไร โดยเฉพาะเวลาประชุมกันในสภาฯ มันเหมือนเรือไม่มีหางเสือ ไม่มีผู้นำข้างในแท้จริง พวกลูกพรรคที่ได้เป็น ส.ส. โดยเฉพาะที่มาจากบัญชีรายชื่อนั้นเกือบทั้งหมดไม่เป็นที่รู้จักเลย no name เอามากๆ ไม่มีประสบการณ์เลย ไม่นับความรับผิดชอบในฐานะพรรคที่มี สส. เกือบ 100 คน ต้องเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง และประธานกรรมาธิการอีกนับ 10 คณะ ไม่ทำก็ไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร

เรื่องแรกนั้น กรณีที่ไม่ไม่มีหัวหน้าพรรค ในทางทฤษฎีก็คงจัดการเลือกกันใหม่ได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้น ถ้าคนที่ได้รับเลือกมาไม่มีอำนาจบารมีพอ การจะคุมลูกพรรคก็อาจจะยากลำบากหรือทำไม่ได้เลย แล้วจะทำอย่างไร...

พรรคการเมืองที่เพิ่งลงเลือกตั้งครั้งแรกหลังก่อตั้งพรรคมาไม่กี่เดือน เชื่อว่าแนวคิดทางการเมืองยังไม่ค่อยตกผลึก ส่วนใหญ่เป็นการรวบรวมคนใกล้ชิดมาเป็นบัญชีรายชื่อ แต่บังเอิญได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 10-40 คน โดยไม่คาดฝัน เหมือนหนูตกถังข้าวสาร อยู่ๆ ก็มีอำนาจวาสนามานั่งเป็นผู้แทนราษฎรในสภา โดยที่ไม่เคยลงพื้นที่ หรือเพียงเคยทำบางกิจกรรมเป็นที่รู้จักของคนกลุ่มหนึ่งอยู่บ้างเท่านั้น แล้วจะทำงานกันอย่างไร

อาจจะบอกว่า...ไม่เป็นไร ให้ทดลองทำงานไปก่อน แล้วค่อยๆ ปรับตัว ปรับกระบวนทรรศน์ แนวคิด...พูดอย่างนี้ พูดได้...

แต่พอลงมาทำจริง อุปสรรคจะมากมายมหาศาล คนที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน กว่าจะปรับตัวได้ก็ต้องใช้เวลา แต่ที่สำคัญคือเมื่อมาเป็น ส.ส.ในสภา ก็จะเจอแรงกระแทกจากความต้องการของมหาชนที่หลากหลายที่ไม่เคยเจอมาก่อน อย่าลืมว่า ผู้ที่ได้รับเลือกผ่านบัญชีรายชื่อนี้ ก่อนๆ นี้ เป็นผู้สร้างแรงกดดัน แต่เมื่อมาเป็น ส.ส.จะกลับเป็นผู้ตั้งรับแรงกดดัน

คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดใหม่ๆ คิดนอกกรอบ ทันสมัย ทันเทคโนโลยี ถือเป็นจุดแข็ง แต่อย่าลืมว่าทั้งประเทศมีคนรุ่นใหม่แค่ไม่กี่ล้านคน นอกนั้นเป็นคนรุ่นเก่า และจำนวนมากก็เก่าขนาดเข็นอย่างไรก็ไม่ขึ้น แล้วก็เป็นเสียงส่วนใหญ่เสียด้วย

ไม่ได้อยู่ข้างใด ใครจะมาเป็นรัฐบาล เป็นแล้วจะอยู่นานหรือไม่กี่เดือน ก็ไม่มีปัญหาอะไร ขอให้เป็นไปตามกติกา

แต่ที่พูดมาทั้งหมดนี้ เป็นความเห็นของคนที่ผ่านโลกผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกือบ 70 ปี ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย......