ยุคจอใครจอมัน จัดการอย่างไร (ในด้านการตลาด)

ยุคจอใครจอมัน จัดการอย่างไร (ในด้านการตลาด)

หลายครั้งที่ผมใช้ระบบขนส่งมวลชนและรู้สึกชวนให้คิดในทุกๆครั้ง ผมได้พบว่าคนที่ขึ้นรถไฟฟ้าขบวนเดียวกัน อาจจะลงสถานีเดียวกัน ทำงานที่เดียวกัน

หรือแม้กระทั่งอาจจะเป็นญาติพี่น้องกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านี้จะชื่นชอบเรื่องเดียวกัน หรือมีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเหมือนกัน ทุกวันนี้ทุกคนต่างมีโลกของตัวเองอยู่บนจอของตัวเอง เราเลือกที่จะเสพสื่อหรือสนใจเฉพาะเรื่องที่เราชอบ เราจะเห็นว่าทุกวันนี้การเติบโตของบรรดา youtuber หรือ blogger มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นที่สนใจของคนบนโลกออนไลน์มาก เพราะคนเหล่านี้มีความสุดในเรื่องของตัวเองต่างจากช่องทีวี หรือช่องข่าวที่นำเสนอแบบกว้างๆ รวมๆ และเมื่อมองเขาหรือเธอเหล่านี้ต่างไม่ใช่ศิลปินคนดัง ดารานักแสดง แต่กลับเป็นคนทั่วๆ ไปที่รักหรือสนใจในสิ่งหนึ่งมากพอที่จะลุกขึ้นมาทำเรื่องที่เขาชอบให้คนอื่นชอบ

การเติบโตของคนกลุ่มนี้นำมาซึ่งการเปลี่ยนอย่างช้าๆ 2 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือคำว่าดีของคนจะห่างกันเรื่อยๆ เมื่อก่อนเรามีทีวีอยู่ไม่กี่ช่องที่จะบอกเราในเรื่องต่างๆ เหมือนๆ กัน คนหล่อต้องหน้าตาแบบนี้ คนสวยต้องหน้าตาแบบนี้ แต่ทุกวันนี้คนเลือกดูในสิ่งที่เขาอยากดูนั้นหมายความว่าค่านิยม ความชอบของแต่ละคนก็จะห่างกันตามสื่อที่เขาเสพต้องไม่ลืมว่าเวลาของทุกคนมีเท่าเดิม เรื่องที่สองคือคนจะเชื่ออะไรง่ายขึ้นเพราะบรรดา youtuber หรือ blogger เขาหรือเธอเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะการรับสารหรือส่งสารอาจจะขาดการกลั่นกลองที่ดี ทำให้การกระจายข่าวลือ ข่าวหลอก หรือการให้สรรพคุณเกินจริงจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต ขณะที่ผู้เสพสื่อเมื่อเลือกสื่อแล้วก็หมายความว่าเขามี “ศรัทธา” ต่อเจ้าของสื่อ ดังนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากที่เขาจะคล้อยตามก่อนที่จะคิดไตร่ตรอง ดังที่เราจะเห็นการทำ social bullying ผ่านโลกออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง แม้หลายครั้งจะขาดข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิงก็ตาม

แล้วเมื่อเราทราบว่าสังคมออนไลน์กำลังมีผลต่อพฤติกรรมของคนในระยะต่อไปในฐานะนักการตลาดจะทำอย่างไรให้เหมาะสม ผมแนะนำ 2 ช. ครับ

 ช. ที่ 1 “ใช้”

เมื่อเราทราบว่า youtuber และ blogger มีผลต่อพฤติกรรมและอาจจะพูดได้ว่าชี้นำความคิดได้ในบางเรื่อง เราอาจจะต้องใช้เขาเหล่านี้ในการทำการตลาดให้เพิ่มมากขึ้น แต่การทำนั้นอาจจะเริ่มคิดแบบเดิมไม่ได้ เพราะในแต่ละช่องเขาก็มีลักษณะเด่นเฉพาะที่สามารถดึงคนได้ เช่น ตลก จิกกัด เล่าแรง ล้อเลียน ให้ข้อมูลเชิงลึก ฯลฯ ดังนั้นเราต้องวางกรอบการสื่อสารให้ชัดเจนว่ากลุ่มเป้าหมายเราสนใจเรื่องแบบไหน ไม่แบ่งตามกลุ่มอายุ เพศ วัย แต่แบ่งตามความสนใจ เราจึงจะเลือกช่องทางที่เหมาะสมได้

 ช. ที่ 1 “ชัวร์”

 จริงอยู่ว่าการให้ข้อมูลที่ดีเกินจริงกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการได้ง่าย และเราก็เห็นโฆษณาประเภทนี้อยู่มาก แต่ต้องไม่ลืมว่าท้ายสุดผู้ซื้อเขาก็จะต้องใช้บริการหรือสินค้า เรากำลังพูดถึงคนออนไลน์ที่ทุกคนพร้อมจะเล่า ระบาย และบอกต่อให้คนอื่นๆ ในโลกของเรารับทราบ ซึ่งผลตีกลับจากการโฆษณาเกินจริงก็จะแรงพอๆ กับตอนที่มันออก ถ้าคุณอยากให้สินค้าคุณอยู่ในตลาดในระยะยาวไม่ได้คิดจะทำธุรกิจวันนี้พรุ่งนี้แล้วเลิก ผมแนะนำว่าก่อนจะลงโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์สินค้าตัวเองผ่านสื่อออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นช่องทางใด เช็คให้ชัวร์ว่าข้อมูลเราไม่มั่ว อย่าคิดเพียงผลกำไรในระยะสั้นแต่ควรหวังให้โลกออนไลน์เป็นอนาคตของเราและธุรกิจ เพราะท้ายที่สุดแล้วการขยับตลาดขึ้นสู่ออนไลน์ก็เป็นเพียงแค่การเพิ่มช่องทางในการสื่อสารและขายสินค้า แต่หัวใจของธุรกิจคือคุณภาพและบริการที่ดีเช่นเดิม...คุณว่าจริงไหม??