“ถนนหมายเลข 1 ควังฮวามุน” นวัตกรรมแห่งนโยบาย

“ถนนหมายเลข 1 ควังฮวามุน” นวัตกรรมแห่งนโยบาย

กระแสการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยตรง เพื่อนำมาจัดทำนโยบายและโครงการพัฒนาประเทศได้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

 เช่น เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ อินเดีย ชิลี เป็นต้น หลังจากที่อดีต การจัดทำนโยบายมักเกิดขึ้นจากผู้ดำเนินนโยบายระดับสูง เทคโนแครต และนักวิชาการเป็นผู้คิดหลัก โดยอาจมีกระบวนการการมีส่วนร่วมผ่านการรับฟังความคิดเห็นจาก “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ที่มีการจัดตั้งเป็นองค์กร เช่น องค์กรทางวิชาชีพ สมาคมทางธุรกิจ และประชาสังคม อย่างไรก็ตาม การรับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชนโดยตรงยังไม่มีที่ทางหรือระบบที่ชัดเจนนัก

ในช่วงที่ผ่านมา การเปิดรับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชนได้เกิดขึ้นมากในภาคธุรกิจ เช่น โครงการ “เป๊ปซี่รีเฟรช” ที่เคยจัดเชิญชวนคนให้ส่งไอเดียในการเติมพลังชุมชนของตนเองให้เป็นชุมชนน่าอยู่ จนได้ไอเดียนับพันและมีผู้เข้ามาร่วมโหวตคัดเลือกไอเดียกว่า 45 ล้านโหวต หรือไม่นานมานี้ได้มีกระแสการจัดการแข่งขันประชันไอเดียเพื่อสร้างนวัตกรรมทั้งเพื่อสร้างสตาร์ทอัพใหม่ๆ หรือกรณีการระดมทุนแบบเปิด (crowdfunding) โดยผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Kickstarter และ Indiegogo เพื่อให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปเข้ามาลงทุนเพื่อสนับสนุนการนำไอเดียไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์

สำหรับ การรับฟังประชาชนโดยตรงเพื่อนำมาจัดทำ นโยบายของภาครัฐ ที่เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีและน่าศึกษาเรียนรู้คือ การริเริ่มของประเทศเกาหลีใต้ผ่านโครงการ “Gwanghwamoon 1st street” ซึ่งได้รับการยกย่องไปทั่วโลก

โดยตั้งแต่ปลายฤดูใบไม้ร่วงปี 2016 ประชาชนกว่าล้านคนได้มารวมตัวกันที่จัตุรัสควังฮวามุน ใจกลางกรุงโซล ทุกเย็นวันเสาร์เพื่อประท้วงอย่างสันติโดยจุดเทียนคนละแท่ง ซึ่งเป็นผลให้ประธานาธิบดีพัก กึน-ฮเย (Park Geun-hye) ถูกฟ้องร้อง ต้องออกจากตำแหน่ง ต่อมาประธานาธิบดีมุน แจ อิน (Moon Jae-in) ประธานาธิบดีคนใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งและเริ่มวาระการทำงาน 5 ปี ได้เรียนรู้ความล้มเหลวจากรัฐบาลก่อน จึงตั้งใจจะเน้นความสำคัญกับการสื่อสารและการทำงานร่วมกันกับประชาชน

โครงการ “ถนนหมายเลข 1 ควังฮวามุน” จึงได้เกิดขึ้นเพื่อสะท้อนเจตนารมย์ดังกล่าว โดยการตั้งชื่อโครงการมีการเล่นคำเล็กน้อย โดยการนำคำว่า “ควังฮวา (Gwanghwa)” อันเป็นสถานที่ที่ประชาชนหลายล้านมาประท้วงนานนับ 6 เดือนนี้มารวมกับชื่อของประธานาธิบดี คือ “มุน (Moon)”

โครงการตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็น แพลตฟอร์มสำหรับการสื่อสารและการมีส่วนร่วมกับประชาชน โดยตั้งใจจะเป็นแพลตฟอร์มที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people-centric governance)

แพลตฟอร์มนี้เริ่มจากการเปิดตัวสำนักงาน People’s Transition Office (PTO) เพื่อเป็นช่องทางในการเปิดรับข้อเสนอแนะจากประชาชน ผ่านช่องทางที่หลากหลาย ทั้งทางเว็บไซต์ของแพลตฟอร์ม (www.gwanghwamoon1st.go.kr) และการตั้งสำนักงานชั่วคราวที่จัตุรัสควังฮวา และสำนักงานท้องถิ่นทุกพื้นที่ รวมถึงการรับข้อเสนอผ่านทางอีเมล์และโทรศัพท์ ส่งผลให้ประชาชนทั่วประเทศได้ส่งข้อเสนอให้สำนักงานถึง 180,705 ข้อเสนอ ในช่วงเวลาเพียง 49 วัน สำนักงาน PTO ทำหน้าที่วิเคราะห์และคัดเลือกข้อเสนอแนะที่ดีที่สุดจำนวน 2,200 ข้อเสนอเพื่อนำไปหารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินความถูกต้อง ซึ่งในที่สุด จึงได้นำข้อเสนอแนะจากประชาชนทั้งหมด 1,718 ข้อนำไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาลใหม่ และ 99 ข้อเสนอแนะได้นำไปผนวกไว้ในวาระแห่งชาติ (national agenda)

นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมน่าสนใจที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการนี้ ได้แก่ “ฟอรัมสาธารณะ” (Open Forum) “ไมโครโฟนประชาชน” (People’s MIC) และ “ชั้นหนังสือประธานาธิบดี” (The President’s Bookshelf) โดย “ฟอรัมสาธาระ” เป็นการเปิดเวทีให้มีการอภิปรายนโยบายของรัฐบาลเป็นประจำ โดยเฉพาะเรื่องที่ถูกละเลยจากรัฐบาลก่อนหน้า สิ่งที่ทำให้ฟอรัมสาธารณะแตกต่างจากอดีตคือฟอรัมนี้เปิดให้ผู้พูดซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมทางสังคมที่โดยปกติเป็นคนวิจารณ์ให้มาเป็นคนพูด ในขณะที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งปกติเป็นคนพูดให้มาเป็นผู้รับฟัง

“ไมโครโฟนประชาชน” เป็นโปรแกรมพูดอิสระ 3 นาที จัดขึ้นทุกวันเสาร์เวลา 17.00 น. โดยผู้คนมากกว่า 100 คนจะมารวมตัวกันและพูดต่อสาธารณชนในสิ่งที่พวกเขาต้องการจากรัฐบาล โดยที่ผ่านมามีหัวข้อที่หลากหลาย เช่น “สิทธิที่เท่าเทียมกันของ LGBT” “สิทธิการออกเสียงของผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ไม่ใช่ 20” หรือ“ไม่เอาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสำหรับคนชราวัย 83 ปีอีกต่อไปแล้ว” เรื่องราวที่พูดทั้งหมดจะถูกบันทึก และพิมพ์ส่งไปยังหน่วยงานเพื่อดำเนินการต่อไป

“ชั้นหนังสือประธานาธิบดี” เป็นโปรแกรมที่เปิดให้บริจาคหนังสือให้กับชั้นวางหนังสือที่ติดตั้งไว้ที่หัวมุมถนนชั่วคราว โดยทุกคนสามารถขีดเส้นใต้ข้อความในหนังสือที่พวกเขาต้องการให้ประธานาธิบดีมุนอ่าน เพื่อนำไปพิจารณาบริหารรัฐบาล ซึ่งประชาชนและผู้มีชื่อเสียงได้บริจาคหนังสือ 579 เล่ม ซึ่งต่อมาได้นำไปวางไว้ที่ชั้นวางหนังสือที่สำนักงานของประธานาธิบดีมุน

โครงการ ถนนหมายเลข 1 ควังฮวามูนดังกล่าวจึงเป็นการสะท้อน การรับฟังเสียงประชาชนของเกาหลีใต้ ที่เป็นรูปธรรมได้อย่างน่าสนใจ โดยในประเทศไทย ก็เป็นที่น่ายินดีว่า เราเริ่มเห็นสัญญาณของกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นบ้างแล้ว ดังเช่นกรณีช่วงก่อนเลือกตั้งที่ผ่านมา ที่มีบางพรรคการเมืองได้ใช้กระบวนการจัดทำนโยบายผ่านการสร้างนโยบายร่วมกันกับประชาชนผ่านการทำแฮ็คคาธอนสร้างนโยบาย (Policy Hackathon) โดยใช้ “การคิดเชิงออกแบบ” (design thinking) ในภาคอีสานและภาคใต้เพื่อสร้างนโยบายที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ในส่วนของภาครัฐก็ได้เริ่มจัดทำห้องปฏิบัติการนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Lab) และห้องปฏิบัติการนวัตกรรมบริการภาครัฐ (Government Lab) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและปรับปรุงบริการภาครัฐ

ในอนาคตต่อไป รัฐบาลจึงควรจัดกระบวนการเหล่านี้ให้เป็น แพลตฟอร์มที่เป็นระบบเพื่อให้รัฐบาลสามารถใช้ประโยชน์จากความรู้ความสามารถและมันสมองของประชาชนทุกคนเพื่อสร้างนโยบายและโครงการที่ดีๆ ที่สร้างสรรค์ เพื่อตอบโจทย์ประชาชนและเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยได้อย่างเป็นรูปธรรม

ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา 

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/