ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างวิชาชีพในระบบสาธารณสุขภาครัฐ

ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างวิชาชีพในระบบสาธารณสุขภาครัฐ

อ่านข่าวเกี่ยวกับการฟ้องร้องดำเนินคดีระหว่างฝ่ายวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ กับวิชาชีพพยาบาลที่ต่างก็ทำงานให้รัฐ แล้วก็ออกจะงงๆ ว่า

 หนักหนาสาหัสถึงกับฟ้องร้องดำเนินคดีกันเลยหรือ

ก่อนหน้านี้ ก็มีเรื่องระหว่างสภาพยาบาลกับสภาเภสัชกร เรื่องพยาบาลกับสาธารณสุขชุมชน

จริงๆแล้ว เรื่องอย่างนี้ก็เคยเกิดขึ้นในหลายหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่เฉพาะในระบบสุขภาพภาครัฐเท่านั้น แต่ไม่เคยได้ยินว่ามีความขัดแย้งเช่นนี้ในระบบสุขภาพเอกชน

สมัยหนึ่ง ในขณะที่เป็นผู้บริหารระดับกลางของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจของกลุ่มเกือบแสนล้าน มีบริษัทในกลุ่มอยู่ในตลาดหลักทรัพย์หลายบริษัท ก็เกิดปัญหาคล้ายกันนี้ เพราะบริษัทมีโครงสร้างที่แยกแต่ละกลุ่มบริษัทออกจากกัน เนื่องจากแต่ละกลุ่มก็มีบริษัทลูก บริษัทร่วม บริษัทย่อยอีกมากมายหลายบริษัท แต่ละกลุ่มมีคณะกรรมการ คณะผู้บริหาร กรรมการผู้อำนวยการหรือ president ของตัวเอง และเมื่อมีการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอีกกลุ่มหนึ่ง ต่างก็มีจุดยืนในการทำธุรกิจของตัวเอง

พูดง่ายๆว่า ต่างคนต่างมีปืนใหญ่อยู่ในเมืองของแต่ละคน และเมื่อเป็นเช่นนั้น เวลามีข้อขัดแย้งทางธุรกิจ แทนที่จะปรึกษาหารือกันภายใน เพราะต่างก็อยู่ภายใต้ร่มเดียวกัน ก็กลับเผชิญหน้ากัน

เคยเปรยๆว่า ทำแบบนี้ แทนที่จะหันกระบอกปืนไปทางศัตรู กลับหันกระบอกปืนเข้าหากันเอง

ในที่สุด ผู้ถือหุ้นใหญ่ของทั้งกลุ่มก็ปรับโครงสร้างใหม่ ใช้ Holding Company เป็นผู้ถือหุ้นในทุกกลุ่มบริษัท และกรรมการผู้อำนวยการหรือ president ของทุกกลุ่มบริษัท ต้องมาเป็นกรรมการร่วมกันใน Holding Company เป็นการสลายขั้ว ไม่ให้ยกปืนใหญ่มาตั้งขู่กันเอง

กระทรวงสาธารณสุขของเรานั้น ดูๆ แล้วมีสภาพเหมือนกลุ่มบริษัทที่เล่าให้ฟังข้างต้น เพราะดูเหมือนจะเป็นกระทรวงเดียวที่มีสภาวิชาชีพมากที่สุด เกือบสิบวิชาชีพ ตั้งแต่แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัช เทคนิคการแพทย์ และอีกสองสามวิชาชีพที่จำไม่ได้ รวมถึงที่เพิ่งเป็นวิชาชีพใหม่ล่าสุดคือ สาธารณสุขชุมชน แต่ละวิชาชีพต่างมีกฎหมายของตนเอง เพื่อคุ้มครองดูแลให้ผู้อยู่ในวิชาชีพปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของสภาวิชาชีพที่ตนเองสังกัด และควบคุมการทำหน้าที่ของสมาชิกให้ทำงานภายใต้จรรยาบรรณวิชาชีพ ดังนั้น แต่ละสภาวิชาชีพจึงเป็นอิสระต่อกัน แม้จะทำงานด้วยกัน แต่เวลามีข้อขัดแย้ง ก็ต้องกลับไปหาสภาวิชาชีพที่ตนเองสังกัด และดำเนินการตามจุดยืนของสภาวิชาชีพ

แล้วจะทำอย่างไร

ถ้าเอาอย่างการแก้ปัญหาของกลุ่มบริษัทที่ขัดแย้งระหว่างกัน โดยการตั้ง Holding Company กระทรวงสาธารณสุขก็คงต้องตั้ง Super Board ที่ประกอบด้วยนายกสภาวิชาชีพทุกวิชาชีพมาเป็นกรรมการ เพื่อสลายขั้ว และให้รวมเป็นหนึ่งเดียวในฐานะข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขด้วยกัน มีเป้าหมายเดียวกันเพื่อดูแลรักษาสุขภาพประชาชนทุกคนตามนโยบายของรัฐบาล

รัฐมนตรีกระทรวงมีอำนาจในการบริหารจัดการกระทรวงตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินก็จริง แต่ไม่มีอำนาจบริหารสภาวิชาชีพ

บางทีกระทรวงสาธารณสุขอาจต้องตั้ง Super Board ที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสภาวิชาชีพขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าทุกสภาวิชาชีพในกระทรวงสาธารณสุขมีปากเสียงที่จะปกป้องสมาชิกของสภาวิชาชีพของตัวเอง และทำความเข้าใจระหว่างทุกสภาวิชาชีพด้วยกันจนตกผลึกเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่รอจนกระทั่งเอาปืนใหญ่หันมาเล็งปากกระบอกปืนใส่กันแบบนี้