กลยุทธ์เปลี่ยนแปลงบริษัทสู่ยุค AI

กลยุทธ์เปลี่ยนแปลงบริษัทสู่ยุค AI

บริษัทควรต้องมีแผนกและตำแหน่งใหม่ๆ เช่น วิศวกรด้านแมชชีน เลิร์นนิ่ง, นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือแผนกเอไอ

บนคลื่นแห่งเทคโนโลยีในทศวรรษปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยในการชี้อนาคตขององค์กร หากองค์กรใดไม่มีการปรับตัว หรือพัฒนาให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อาจหมายถึง ความล้มเหลวที่รอคอยอยู่ก็เป็นได้ หนึ่งในนั้น คือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้อ่านหนังสือ AI Transformation Playbook ของ Andrew Ng ที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงบริษัทใดๆ ให้เป็นบริษัทปัญญาประดิษฐ์ (AI Company) โดยกล่าวว่า ทุกบริษัทสามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้ในยุคของ AI โดยควรคำนึงถึงด้านต่างๆ ดังนี้

ต้องมีกลยุทธ์ในการเก็บข้อมูลจำนวนมากเข้ามาโดยอาจผ่านสินค้าหรือบริการที่บางครั้งไม่ได้สร้างรายได้ให้กับบริษัทโดยตรง เช่น กูเกิลได้พัฒนาจีเมล์ (Gmail) หรือฟิตบิท ได้พัฒนา Wearable Device

ต้องมีการพัฒนา ดาต้า แวร์เฮ้าส์ ที่เป็นศูนย์กลางหนึ่งเดียวในการเก็บข้อมูลของทั้งบริษัทจากแหล่งต่างๆ หรืออาจสร้าง Data Lake ในการเก็บข้อมูลดิบ

ต้องให้ความสำคัญและมองเห็นโอกาสในการทำระบบออโตเมชั่นในบริษัท

ต้องมีแผนกและตำแหน่งใหม่ๆ ในบริษัท เช่น วิศวกรด้าน แมชชีน เลิร์นนิ่ง, นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือแผนก AI

ทั้งนี้ Andrew Ng ได้ระบุขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงบริษัทในยุค AI ไว้ 5 ขั้นตอน โดยเขาได้บอกว่า เราไม่จำเป็นต้องทำตามลำดับนี้ทุกขั้นตอน แต่ก็ควรที่จะเริ่มต้นจากการทำขั้นตอนแรก (ทำ AI Pilot Project) เสมอ โดยมีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ทดลองทำ AI Pilot Project เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้บริษัท โดยเน้นให้เลือกโปรเจ็คที่น่าจะทำสำเร็จมากกว่าโปรเจ็คที่อาจสร้างผลกำไรให้กับบริษัทโดยตรง โดยโปรเจ็คอาจมีระยะเวลา 6-12 เดือน ซึ่งเป็นการพัฒนาโดยทีมภายในหรือจ้างทีมภายนอกในการทำ ทั้งนี้เพื่อที่จะให้บริษัทเห็นผลสัมฤทธิ์ของการทำ AI รวมทั้งมีแรงกระตุ้น และความเข้าใจในการพัฒนาโปรเจ็ค AI อื่นๆ ต่อไป

ขั้นตอนที่ 2 สร้างทีมงาน In-house AI โดยเป็นทีมงานกลางที่จะช่วยสนับสนุนการทำ AI ให้กับแผนกต่างๆ ของบริษัท ทั้งนี้บริษัทอาจจะมี AI แพลตฟอร์ม ที่ทุกแผนกสามารถใช้งานได้และทีมงานนี้จะมาช่วยในการพัฒนา โดยทีมงานอาจอยู่ภายใต้ CEO, Chief Information Officer, Chief Technology Officer หรือ Chief Data Officer ก็ได้

ขั้นตอนที่ 3 ทำการอบรม AI ให้กับบุคลากรทุกฝ่ายในบริษัท โดย Andrew Ng ได้สรุปให้เห็นว่าในแต่ละตำแหน่งควรจะอบรมด้านใด

ขั้นตอนที่ 4 การกำหนดกลยุทธ์ด้าน AI ทั้งนี้ Andrew Ng ได้แนะนำว่าไม่ควรกำหนดกลยุทธ์ไว้ในขั้นตอนแรก แต่ควรมีการทำ Pilot Project ก่อนเพื่อทำความเข้าใจด้าน AI และเน้นการกำหนดกลยุทธ์ที่จะทำให้บริษัทมีข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งในอุตสาหกรรม และกลยุทธ์ควรสอดคล้องกับสิ่งที่เรียกว่า Virtuous cycle of AI กล่าวคือ ถ้าบริษัทมีข้อมูลมากขึ้นก็จะสามารถทำ AI ได้ดีขึ้น เพื่อสร้างโปรดักท์ที่ดีขึ้นและมีลูกค้ามากขึ้นตามลำดับ

นอกจากนี้บริษัทควรจะมีกลยุทธ์ด้านข้อมูล (Data Strategy) โดยเฉพาะเรื่องของการเก็บและดึงข้อมูล, การพัฒนา Data Lake และการเข้าใจถึงคุณค่าของข้อมูลต่างๆ

ขั้นตอนที่ 5 ทำการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกบริษัท เพื่อให้ทราบว่าบริษัทกำลังพัฒนาด้าน AI ทำการสื่อสารกับนักลงทุน ทำการสื่อสารกับหน่วยงานภาครัฐที่ AI อาจไปกระทบกับกฎระเบียบต่างๆ ทำการสื่อสารกับลูกค้าและผู้ใช้หากมีการนำ AI เข้ามาใช้งาน และทำการสื่อสารกับบุคลากรภายในเพื่อให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลง

อาจกล่าวได้ว่าทั้ง 5 ขั้นตอนข้างต้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการพัฒนาด้าน AI ซึ่งอีกไม่นานนัก AI อาจไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือที่จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในภาคธุรกิจเท่านั้น หากแต่จะเป็นหัวใจสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตนั่นเอง