ใครคือคนไทย 4.0

ใครคือคนไทย 4.0

ท่านผู้อ่านคิดว่า คนไทย 4.0 เป็นใครคะ โดยทั่วไปทุกคนก็มักจะตอบว่าเป็นคนไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทย

จะก้าวข้าม กับดักรายได้ปานกลาง ไปแล้ว กับดักฯ นี้หมายถึง ปรากฏการณ์ของประเทศที่เคยยกระดับรายได้จากประเทศที่ยากจนมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง หลังจากนั้น ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกลับชะลอตัวลง ไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้สูงได้จึงเปรียบเสมือนการติดอยู่ในกับดัก ทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมุ่งมั่นพัฒนาไทยสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 คือ เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีฐานการผลิตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ประมาณการในปี พ.ศ. 2550 ไว้ว่า หากไทยมีอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภาพแรงงานอย่างทบต้นประมาณ 4- 5% ต่อปี ต้องใช้เวลาถึง 21 - 26 ปี ในการก้าวข้ามไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว นั่นคือไทยจะก้าวข้ามกับดักได้ในระหว่างปี พ.ศ. 2571 – 2576 หากใช้นิยามนี้ คนไทยที่มีชีวิตในช่วงนั้นจะได้ชื่อว่าคนไทย 4.0 แต่ตามนิยามของคนไทย 4.0 ของยุทธศาสตร์ชาติในเว็บไซต์ของราชกิจจานุเบกษา คนไทย 4.0 ต้องเป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ โดยคนไทยมีความพร้อมทั้ง กายและใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านและมีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย และมีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น มัธยัสถ์ อดออม โอบอ้อมอารี มีวินัย รักษาศีลธรรม และเป็นพลเมืองดีของชาติ มีหลักคิดที่ถูกต้อง มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มีทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาที่สาม และอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น มีนิสัยรักการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สู่การเป็นคนไทยที่มีทักษะสูง เป็นนวัตกร นักคิด ผู้ประกอบการ เกษตรกรยุคใหม่ และอื่นๆ โดยมีสัมมาชีพตามความถนัดของตนเอง(ที่มา: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/082/T_0001.PDF)

รูป แนวคิดภูเขาน้ำแข็งของระบบความคิด

ใครคือคนไทย 4.0

ที่มา: Future Consideration adapted from Booth Sweeny, L. and Meadows,D. 2010. The Systems Thinking Playbook. Chelsea Green Publishing.

ก่อนจะถึงยุคไทยแลนด์ 4.0 คนไทยจะต้องเผชิญกับมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในโลกหลายกระแส ได้แก่ หนึ่ง การพัฒนาเทคโนโลยีป่วนโลก (Disruptive Technology) ซึ่งสร้างโอกาสและความท้าทายทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชากรโลกอย่างมหาศาล สอง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีน ทำให้จีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลต่อโลกมากขึ้น ทำให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคบูรพาภิวัฒน์ ความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของจีนในไทย จะทำให้จีนมีอิทธิพลต่อไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สาม การบูรณาการระหว่างเทคโนโลยีกับเศรษฐกิจการเงิน ทำให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เกิดโอกาสการลดต้นทุนธุรกรรม และทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ระบบ “สังคมไร้เงินสด” เร็วขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงจากโอกาสการเกิดการผันผวนด้านการเงินและอาชญากรรมการเงินข้ามชาติ

โดยทั่วไปแล้ว การตอบสนองของประเทศต่อการผันผวนทางเทคโนโลยีที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จะทำให้รัฐพยายามลงทุนและให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ประชาชนมากขึ้น แต่วิทยากรในการประชุมของ WISE@NY Learning Revolution Conference (https//:www.edsurge.com,2018, October 16) ระบุว่า ความสำคัญของทักษะในด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ปรัชญา และศาสนาภายใต้สถานการณ์ผันผวนก็มีความต้องการมากไม่แพ้กัน เพราะสังคมที่ก้าวผ่านความผันผวนไปได้ ต้องมีฐานคุณธรรมและจริยธรรมที่เข้มแข็ง ยกตัวอย่างเช่น รถไร้คนขับจะมีทางเลือกอย่างไร หากต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องมีความสูญเสียจากอุบัติเหตุอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ระหว่างรถของตนกับรถที่มีผู้โดยสาร เช่น ผู้โดยสารที่เป็นรถรับส่งนักเรียน เป็นต้น ดังนั้น การเสริมสร้างความรู้เพื่อสร้างอนาคตจึงไม่ควรจำกัดที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาใหญ่ของไทย ไม่ใช่ปัญหาการขาดแคลนเทคโนโลยี แต่เป็นปัญหาการเมืองที่มีรากเหง้ามาจากความเชื่อ อคติ อุปาทาน แต่การวิจัยของไทยที่ผ่านมามักสนใจแต่ผลลัพธ์ อันเป็นพฤติกรรมและความขัดแย้งที่เปรียบเสมือนแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง (รูปที่ 1) ตราบใดที่เรายังไม่สามารถศึกษาลงลึกไปถึงฐานราก ก็ยากที่จะหาวิธีการแก้ไขได้

ดังนั้น สภาวิจัยแห่งชาติมุ่งสร้างองค์ความรู้ที่ขยายโอกาสให้เกิดคนไทย 4.0 คือ คนไทยที่ไม่เพียงแต่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม แต่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลก มีความสามารถที่จะเข้าใจและมีความยืดหยุ่นพอที่จะตอบสนองให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวกต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาศัยการพัฒนาการวิจัยอนาคต (Future Studies) ซึ่งเป็นวิธีวิจัยที่ยังไม่แพร่หลายในวงการนักวิชาการไทยสายสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ร่วมกับวิธีวิจัยนโยบายศึกษา (Policy studies) และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการสร้างและตอบโจทย์นโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมทั้งในปัจจุบันและในอนาคต พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายวิจัย และสร้างความตื่นตัวให้สังคมมีบทบาทในการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี รวมถึงให้สามารถเข้าถึงและเรียนรู้กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดีเพื่ออนาคตของคนไทย 4.0 ได้

บทความที่จะตามมาในคอลัมน์นี้ทุกเดือน จึงจะเป็นการนำเสนอผลงานของแผนงานบูรณาการตามยุทธศาสตร์ (Spearhead) ด้านสังคมว่าด้วยคนไทย 4.0

โดย... 

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ