รอดอย่างไรโดยไม่แข่งเรื่อง price บน M-commerce

รอดอย่างไรโดยไม่แข่งเรื่อง price บน M-commerce

สุธีร์ ลีลานันทกิจ เริ่มกิจการร้าน Brain Toy Shop ในปี 2554 จากความชอบส่วนตัวในการเล่นเกมส์ กอปรกับ การศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับของเล่น

อย่างจริงจัง เพื่อเสริมพัฒนาการให้ลูก เดิมสุธีร์เป็นเจ้าของธุรกิจ MakeWebEasy เป็นการรับจ้างออกแบบเว็บไซต์และการตลาดออนไลน์แบบครบวงจร สุธีร์ได้ทดลองทำเว็บไซต์ตัวอย่าง สำหรับทำธุรกิจ E-commerce ให้ลูกค้าดู โดยดาวน์โหลดรูปสินค้าของเล่นที่ตัวเองมีอยู่ลงไป เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพของเว็บไซต์ชัดเจน ปรากฏว่ามีลูกค้าเข้ามาสั่งซื้อสินค้านั้นจริงๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจร้าน Brain Toy Shop

จากการขายของออนไลน์ได้รับความนิยมอย่าง และการมี M commerce อย่าง Shopee และ Lazada ทำให้การเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ยิ่งง่ายขึ้นไปอีกทำให้การแข่งขันสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่จะแข่งขันกันด้วยราคา ทางสุธีร์ ยังคงขายที่ราคาเดิมอาจจะมีโปรโมชั่นบ้างเป็นครั้งคราว โดยได้เข้าไปขายใน M commerce เหล่านี้ด้วย แต่ Brain Toy Shop ก็ยังใช้หน้าเว็บไซต์เป็นช่องทางหลักในการจำหน่ายสินค้า

โดย สุธีร์เน้นในเรื่องของการนำเสนอถึงประโยชน์และคุณภาพของสินค้า รวมไปถึงการให้คำแนะนำ ตอบคำถามลูกค้าทั้งทางเว็บไซต์ รวมไปถึงกรณีที่ลูกค้าโทรมาสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์ แทนการเข้าสู่สงครามการลดราคา

ในเว็บไซต์ของร้าน Brain Toy Shop มักนำบทความ สาระน่ารู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการเด็ก และประโยชน์จากของเล่นมาอัพเดตอยู่เรื่อยๆ และในที่สุดผู้เล่นหน้าใหม่ที่เลือกใช้กลยุทธ์ด้านราคาก็ไม่สามารถอยู่ในตลาดได้เนื่องจากราคาที่ถูกเกินไป สุดท้ายก็จำเป็นต้องปรับราคาขึ้นเนื่องจากการขายในราคาที่ถูกเกินไปทำให้แทบไม่ได้กำไรเลย ซึ่งมันไม่คุ้มค่ากับการลงทุน 

อีกจุดแข็งที่ทำให้ร้าน Brain Toy Shop อยู่มาจนถึงทุกวันนี้คือ ระบบการสั่งซื้อจากเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น การเข้าถึงข้อมูลของสินค้าได้ง่าย รูปแบบการวางหน้าเว็บไซต์ง่ายต่อการเลือกดูสินค้า อีกทั้งยังเน้นในด้านความรวดเร็วในการบริการ ทั้งลูกค้ารายย่อย เมื่อกดสั่งสินค้าลูกค้าโอนเงินเรียบร้อย ก็สามารถรอรับสินค้าได้เลย ได้เปรียบในเรื่องความรวดเร็วในการจัดส่งกว่าคู่แข่ง เพราะร้านค้าในโลกออนไลน์ ลูกค้าจะต้องกดสั่งซื้อสินค้า จากนั้นจะต้องรออีเมล์ยืนยันการชำระเงินจากร้านค้าที่จะคำนวณราคาสินค้ากับค่าจัดส่งให้ แล้วลูกค้าถึงจะสามารถโอนเงินได้ และรอร้านค้าตรวจสอบ ร้านค้าจึงจะจัดส่งสินค้าให้ ซึ่งทำให้ระยะเวลาตั้งแต่สั่งของจึงถึงจัดส่งสินค้าใช้เวลานาน เว็บไซต์ร้าน Brain Toy Shop จึงพัฒนาเว็บไซต์เพื่อให้แก้ pain point ของลูกค้าในจุดนี้ได้ดี

สำหรับลูกค้ารายใหญ่ เช่น หน่วยงาน หรือโรงเรียนต่างๆ ที่ถือว่าเป็นฐานลูกค้าหลักของทางร้าน มักต้องการใบเสนอราคาเพื่อนำไปดำเนินการเช่นกัน โดยร้านส่วนใหญ่จะล่าช้าในส่วนนี้ แต่ร้าน Brain Toy Shop มีระบบจัดทำใบเสนอราคาให้ลูกค้าได้อย่างอัตโนมัติ เพียงลูกค้าเลือกสินค้าที่ต้องการ และกรอกชื่อผู้ต้องการเสนอราคา พร้อมที่อยู่หน่วยงานสำหรับขนส่งและออกใบเสนอราคา (ใบเสร็จ) จากนั้นระบบจะทำการสร้างและส่งใบเสนอราคาเต็มรูปแบบให้ลูกค้าทางอีเมล์โดยอัตโนมัติ จึงง่ายต่อการสั่งซื้อ มากกว่าเจ้าอื่น 

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยสุธีร์ ที่มีธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างเว็บไซต์อยู่แล้ว ทำให้สามารถพัฒนาเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไม่จำกัด ตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังรู้แนวโน้มความเป็นไปของตลาดออนไลน์ก่อนคู่แข่งเสมอ อีกทั้งยังมองว่าหากมีระบบการทำงานที่ประสิทธิภาพ จะให้ใช้คนน้อยลง บางกิจกรรมสุธีร์เลยเลือกที่จะใช้ out source แทนการทำด้วยตนเองเพื่อลดต้นทุนในการจ้างพนักงาน

เพื่อที่จะรักษาลูกค้าเก่าไว้กับการติดตามลูกค้าที่เป็นรายใหญ่กับรายย่อยจะใช้วิธีที่แตกต่างกัน โดยลูกค้ารายย่อย นั่นคือกลุ่มผู้ปกครอง เมื่อเลือกซื้อสินค้าผู้ปกครองมักมองสินค้าไว้หลายตัวแต่จะค่อยๆซื้อ ดังนั้นลูกค้ากลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะกลับมาซื้อใหม่เสมอ ดังนั้นต้องทำให้ลูกค้ารู้สึก Active ก็จะเกิดการกลับมาซื้อซ้ำ โดยการลงคอนแทนต์ต่างๆ อัพเดตสินค้าใหม่ๆ พัฒนาเว็บไซต์ให้ใกล้เคียงแอพพลิเคชันมากขึ้น หรือ Progressive Web App ซึ่งรูปแบบของ PWA นี้จะทำให้เว็บไซต์มีความใกล้เคียงกับ App ในมือถือมากขึ้น การออกแบบให้เข้าเมนูต่างๆสะดวกขึ้น ในขณะเดียวกันก็เก็บข้อดีของเว็บไซต์เอาไว้ เช่น ความใหม่ของข้อมูล โดยทางเจ้าของเว็บไซต์สามารถอัพเดทได้ทันที ไม่ต้องไปอัพผ่านทาง App Store หรือ Play store ความเข้าถึงง่ายไม่ต้อง Install ให้ยุ่งยาก 

ดังนั้นการสื่อสารกับลูกค้าจึงทำได้ง่ายขึ้น ทั้งคูปอง ส่วนลด รับข่าวสาร และ การติดตามสินค้าระหว่างจัดส่ง ทำให้ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาโหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆมาใช้

กรณีศึกษา Brain Toy Shop สะท้อนภาพของการยืนหยัดของธุรกิจที่อยู่บนออนไลน์ได้อย่างชัดเจนว่า จะขายออนไลน์ผ่าน E commerce หรือ M commerce การราคาไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด คุณภาพสินค้า การบริการที่ตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว และบริการถือเป็นหัวใจหลักของความยั่งยืน

----------------------------

เครดิตกรณีศึกษาและการสัมภาษณ์ สุธีร์ ลีลานันทกิจ เจ้าของร้าน Brain toy shop โดย นางสาวชนิศวรา ขันตีวีรวัฒน์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาการจัดการธุรกิจ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล