สร้างคน สร้างทีม แบบ “สร้างสรรค์!”

สร้างคน สร้างทีม แบบ “สร้างสรรค์!”

การสร้างคน สร้างทีม มีหลายแบบหลายวิธี ขึ้นอยู่กับ จริต ของผู้สร้างด้วยว่า ชอบหรือถนัดแบบใด

ผู้นำหรือหัวหน้าทีมประเภทสายแข็ง ก็จะถนัดในการสร้างและหล่อหลอมทีมงานให้แข็งแกร่งด้วยวิธีการที่แข็งกร้าว วิธีนี้จะถูกจริตกับทีมงานที่มีลูกอึดลูกฮึด มีน้ำอดน้ำทน ส่วนทีมงานที่จิตตกง่าย ท้อง่ายก็ไม่สามารถที่จะอยู่กับทีมนี้ได้

ผู้นำหรือหัวหน้าทีมประเภทสายเมตตา ก็จะถนัดในการใช้เวลาและให้โอกาสทีมงานมาก เพื่อให้พัฒนาเพื่อให้เก่งขึ้น ถ้าเจอลูกทีมประเภทใจร้อน ใจเร็ว เป้าหมายชัด ต้องการความสำเร็จเร็ว ก็อาจไม่ค่อยเข้ากันได้กับหัวหน้าทีมหรือผู้นำประเภทนี้

อย่างไรก็แล้วแต่ ยังมีวิธีสร้างทีมงานอีกแบบ ที่น่าสนใจที่อยากจะให้ท่านในฐานะผู้นำ/ผู้จัดการหรือหัวหน้าทีม ลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ เพราะแนวทางนี้ใช้แล้วได้ผลดีกับทีมงานและหน่วยงานอย่างชัดเจน คือ สร้างคน สร้างทีม แบบสร้างสรรค์

ถ้าจะใช้แนวทางนี้ให้ได้ผล ก็ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า พนักงาน (และทุกๆคนบนโลกนี้) ต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย.. บางคนก็มีเรื่องที่ทำได้ดี เรื่องที่ทำพอใช้ได้ ไปจนถึงเรื่องที่ผิดพลาด...

แต่บรรดาผู้จัดการและผู้บริหารทุกระดับมักคาดหวังว่า..พนักงานโดยเฉพาะลูกน้องของตนเองจะต้องไม่มีข้อผิดพลาด และต้องได้ดังใจ!

ถ้าเริ่มต้นด้วยการคิดแบบนี้...ก็จะไม่สามารถใช้แนวทางการสร้างคนสร้างทีม แบบสร้างสรรค์ได้! ให้เปลี่ยนวิธีคิดก่อนครับ.... ลองถามตัวเองดูนะครับ...

ตัวท่านเอง สมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ สำหรับลูกน้อง สำหรับคนอื่นหรือเปล่า?!” ตอนที่ท่านยังเป็นลูกน้องท่านผิดพลาดและไม่ได้ดังใจเจ้านายของท่านกี่เรื่องกี่ครั้ง?

ปัจจุบัน ท่านก็ยังมีข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาดอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่หรือ

ก็ในเมื่อโลกแห่งความเป็นจริง ทุกคนไม่มีใครไร้ที่ติ และไม่มีใครที่จะไม่มีเรื่องที่ดีที่จะชมได้....

คำถามก็คือ.... “แต่ละวันที่ผ่านมา ท่านเน้น ติ/ตำหนิลูกน้องของท่านเป็นหลัก ใช่หรือไม่?” และนอกจากติ ตำหนิควบคู่ไปกับการจับผิด... ท่านได้แก้ไข หรือทำอะไร ในเชิงสร้างสรรค์กับคนที่ท่านตำหนิบ้างหรือไม่!?

เชื่อเถอะครับ...ไม่มีลูกน้องหรือพนักงานคนไหน จะพัฒนาและดีขึ้นได้... ภายใต้การดุด่า ต่อว่าหรือตำหนิอย่างไม่สร้างสรรค์!

ถ้าท่านเปลี่ยนมุมมองและเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว การสร้างคน สร้างทีม อย่างสร้างสรรค์ ก็ไม่ยาก

คำถามคือ... “ท่านเคย มองและเห็นข้อดี ของลูกน้องของท่านแต่ละคนหรือไม่?” หรือมองเห็นแต่ข้อดีไปหมดเฉพาะลูกน้องคนโปรด.. ส่วนลูกน้องที่ไม่โปรด..ไม่เคยเห็นสิ่งดีๆ เลย!?

เพราะบ่อยครั้งมากที่ผมไป Coach ผู้บริหารระดับสูง/ผู้จัดการทุกแผนก..ในแต่ละองค์กรให้ เปลี่ยนมุมมอง ที่มีกับลูกน้อง... ให้เลิกมองแบบคาดหวังในสิ่งที่เกินจริง... ให้เลิกมองแบบมีอคติ ให้เลิกมองแบบจ้องแต่จับผิด แล้วก็ได้ผลเร็วกว่าที่คาด

เพราะให้มองมุมใหม่... เราเห็นด้านดีๆเรื่องใดจากลูกน้องแต่ละคนบ้าง...? เห็นแล้ว...ควรทำยังไงต่อ เพื่อให้ลูกน้องแต่ละคน รักษาด้านที่ดี ต่อยอดด้านที่ดี จนกลายเป็นจุดแข็งที่สามารถนำมาใช้กับเรื่องงานได้ และยังทำให้ลูกน้องมีขวัญกำลังใจมากขึ้นจากการได้รับความไว้วางใจ ได้รับคำชม (ที่ไม่เกินจริง).

อันที่จริงเรื่องการ บริหารคน มีตำรับตำรา ทฤษฎีมากมายจากโลกตะวันตก... จะว่าไปแล้ว...บริหารลูกน้องแบบไทยๆ ไม่ต้องใช้ทฤษฎีอะไรมากมายให้ปวดหัว...ใช้เพียงแค่ “จิตที่คิดดี” มีความปรารถนาดีที่จะพัฒนา ส่งเสริมลูกน้องแต่ละคนที่ดี ที่ตั้งใจ ให้เต็มที่ที่สุด

ส่วนคนไหนที่ ร้ายกาจเกินเยียวยาก็ตัดทิ้ง ก็แค่นั้น!

บ่อยครั้งที่บรรดาผู้จัดการ ผู้บริหาร เรียนรู้ เข้าอบรม หรืออ่านตำรับตำราการบริหารคนซะมากมายก่ายกอง...แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถข้ามพ้น“จิตใจที่คับแคบของตนเอง”ไปได้! วันๆเอาแต่คาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้. จับแต่ผิด ไม่คิดจับถูก...สุดท้าย ก็เหลือแต่ทีมงานที่ไร้คุณภาพ ขาดขวัญและกำลังใจเต็มไปหมด!

ถ้าเข้าใจ “สภาพความเป็นจริงของลูกน้องแต่ละคนแล้ว... ความคาดหวังที่ผิดๆก็จะค่อยๆเปลี่ยนเป็น ความมุ่งมั่นที่จะเล็งเห็นด้านที่ดี และพยายามช่วยแก้ไข พัฒนาเรื่องที่ยังต้องปรับปรุงด้วยความเข้าใจปราศจากอคติ นอกจากบรรยากาศการทำงานจะดีขึ้น ขวัญกำลังใจของลูกน้องก็ดีขึ้น

เรื่องที่ดีอีกเรื่องก็คือ..บรรดาผู้บริหารที่เปลี่ยนมุมมอง ต่างก็จะเข้าใจลูกน้องมากขึ้น ความเครียดความหงุดหงิดงุ่นง่านที่เคยจ้องแต่จับผิดก็หายไป ทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น สรุปทุกข์น้อยลงสุขเพิ่มขึ้นทั้งเจ้านายและลูกน้อง!

ลองเปลี่ยนมุมมองในเรื่องลูกน้องของท่าน...พยายามเล็งให้เห็นด้านที่ดี และชมอย่างสร้างสรรค์ ส่วนด้านที่บกพร่องหรือทำผิดพลาดที่ไม่ใช่ผิดซ้ำซากหรือตั้งใจสร้างปัญหา ท่านก็คุยก็พยายามเป็น Coach อย่างสร้างสรรค์ ให้ทั้งกำลังใจ ให้ทั้งคำชี้แนะ กระตุ้นให้คิดให้แก้ไขด้วยคำถามอย่างสร้างสรรค์ ไม่นานหรอกครับ ท่านจะพบว่า ทีมของท่าน...จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีอย่างที่ท่านเองก็คาดไม่ถึง!

ย้ำอีกครั้ง...อย่าเชื่อผม จนกว่าท่านจะลองทำ!