ภัยคุกคามด้านไซเบอร์กับบทบาทยุโรป

ภัยคุกคามด้านไซเบอร์กับบทบาทยุโรป

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ผ่านอินเตอร์เน็ตและระบบพิวเตอร์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่โลกไซเบอร์และเทคโนโลยีด้านอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ก้าวล้ำหน้าไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว ทำให้การดำเนินชีวิต การทำงาน การสร้างเครือข่ายด้านสังคม เปลี่ยนรูปแบบไปอย่างสิ้นเชิง

ลองคิดดู วันนี้คุณจะทำหรือดำเนินกิจกรรมอะไร ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาถึงเข้านอน คุณสามารถทำผ่านอินเตอร์เน็ต หรือออนไลน์ ตั้งแต่คุย chat กับครอบครัว facebook ไปจนถึง จ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จองทริปไปเที่ยว และทำงานหรือประชุมกับเพื่อนร่วมงานที่นั่งอยู่อีกมุมหนึ่งของโลก แต่ความสะดวกสบายมาพร้อมกับความเสี่ยง และด้านมืดของอินเตอร์เน็ต อย่าลืม!

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุม EU Cyber Forum ที่จัดเป็นครั้งแรก ณ กรุงบรัสเซลส์ ระหว่างวันที่ 15- 16 เม.ย. เป็นการรวมตัวของภาครัฐผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วภูมิภาคและทั่วโลกที่รับผิดชอบด้านนี้ และได้มีโอกาสพบปะกับผู้แทนของประเทศไทยด้วย ในขณะที่อียูได้ใช้โอกาสนี้เปิดตัวยุทธศาสตร์และนโยบายการทูตด้านไซเบอร์หรือ EU Cyber Diplomacy เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของอียูที่จะเป็นผู้นำนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก

คุกคามไซเบอร์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มากขึ้น โดยเริ่มที่การระบบที่ปลอดภัยของตนเอง แต่ภัยคุกคามนี้ ไม่สามารถแก้ไขได้โดยประเทศใดประเทศหนึ่ง หนึ่งองค์กรใดองร์กรหนึ่ง แต่เป็นอีกความท้าทายระดับโลก ที่ต้องการความร่วมมือระดับโลกในการสร้างระบบเครือข่ายที่ความมั่นคงปลอดภัย และอียูต้องการเข้ามามีบทบาทสนับสนุนทิศทางความร่วมมือระดับโลกนี้ แต่จะทำได้อย่างไร อยากหันมามองยุทธ์ศาสตร์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของอียูกันก่อน

ภัยคุกคามด้านไซเบอร์กับบทบาทยุโรป

ยุทธ์ศาสตร์และกฎหมายใหม่ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของอียู

เมื่อ 6 ปีก่อน อียูได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาตั้งแต่ปี 2013 และตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา อียูก็เริ่มมีบทบาทชัดเจนมากขึ้นในการปกป้องประชาชนยุโรปจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของระบบเครือข่าย (คอมพิวเตอร์) และข้อมูล (network and information security) และการปกป้องสิทธิ์ของประชาชนออนไลน์

ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและปลอดภัยไซเบอร์ของยุโรป เน้นเป้าหมายหลัก 5 ประการ ได้แก่

เพิ่ม cyber Resilence ซึ่งหมายถึงความสามารถในการเตรียมตัว ตอบรับ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง/การบุกรุก/การโจมตี

ลด cybercrime หรือภัยคุกคาม

พัฒนา EU cyber defence policy and capabilities หรือนโยบายและความสามารถในด้านการกลาโหม อันอยู่ในกรอบของนโยบาย Common Security and Defence Policy (CSDP) ของอียู

พัฒนาทรัพยากรด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่สนับสนุนความมั่นคงและปลอดภัยไซเบอร์

สร้างนโยบายต่างประเทศด้านไซเบอร์สเปสส์ที่เป็นหนึ่งเดียวของอียู และส่งเสริมแนวคิดแบบยุโรป

ที่สำคัญ ในปี 2018 อียูได้บรรลุข้อตกลงทางการเมือง และกำลังจะประกาศกฎหมายใหม่ระดับสหภาพยุโรป EU Cyber Security Act ที่จะมีผลบังคับใช้ในระดับประเทศสมาชิก ในปีนี้

EU Cyber Security Act จะเพิ่มบทบาทของ EU Cybersecurity Agency ที่จะช่วยประเทศสมาชิกในการจัดการกับการโจมตีและภัยคุกคามด้านไซเบอร์ และกำหนดให้มีการใช้ European certification scheme ที่จะกำหนดให้สินค้าและบริการในโลกดิจิตอล์ของยุโรปมีระดับความปลอดภัยทีกำหนดโดยอียู

บทบาทของอียูในการเป็นผู้นำโลกด้านไซเบอร์

ในขณะที่กฎหมายและกฎระเบียบในยุโรปเริ่มเข้มข้นและเป็นระบบขึ้น ยุโรปเดินหน้านโยบายการทูตด้านไซเบอร์ไปพร้อมๆ กัน คือเน้นการสร้างเครือข่ายและการหารืออย่างกว้างขวางกับประเทศและภูมิภาคพันธมิตร ทั้งภาครัฐและองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐทั่วโลก อาทิ บราซิล จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ รวมทั้งในอเมริกาใต้ และเอเชีย เพื่อสร้างและสนับสนุนความร่วมมือและปรับใช้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศด้านไซเบอร์สเปสส์ และส่งเสริมการสร้างบรรทัดฐานระหว่างประเทศ (ของภาครัฐที่รับผิดชอบ) ในการจัดการกับการโจมตีและภัยคุกคามในโลกอินเตอร์เน็ต ที่เกิดขึ้นอยู่เป็นล้านๆ ครั้ง ตลอดเวลา ที่เราออนไลน์

อียูทุ่มงบประมาณไปกว่า 600 ล้านยูโร เพื่อส่งเสริมการลงทุนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงและปลอดภัยด้านไซเบอร์ สำหรับช่วงปี 2014 – 2020 และเน้นการให้ความร่วมมือด้าน capacity building กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิ ผ่านโครงการ EU Cyber Direct https://eucyberdirect.eu/ ก็เน้นการสร้างความร่วมมือในด้านไซเบอร์กับประเทศต่างๆ

คงไม่ต้องย้ำให้ประเทศไทยหันมากำหนดและพัฒนายุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและปลอดภัยด้านไซเบอร์ที่เป็นสากล ร่วมกับนานาชาติและอียู หากต้องการเดินหน้า Thailand 4.0  เห็นว่าอียูพร้อมพันธมิตรในการเดินหน้าของไทยในโลกดิจิตอลอย่างมั่นคงและปลอดภัย

[สำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd]