มองต่างมุมว่าด้วยการแก่ตัว(3)

มองต่างมุมว่าด้วยการแก่ตัว(3)

ครั้งที่แล้วผมสรุปว่า ทฤษฎีว่าด้วยการแก่ตัวทฤษฎีหนึ่ง คือความเชื่อว่าวิวัฒนาการของมนุษย์และสัตว์อื่นๆ นั้น

จะคัดเลือกยีนส์ที่ทำให้แข็งแรงและสามารถผสมพันธุ์ได้เพียงพอที่เผ่าพันธุ์จะสามารถอยู่รอดไปได้ ซึ่งในกรณีของมนุษย์นั้น อายุยืนประมาณ 60 ปีก็เพียงพอที่จะสืบพันธุ์ไปได้ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่ายีนส์ของมนุษย์นั้นถูกโปรแกรมให้ร่างกายอ่อนแอล้มตายลงไปได้ในภายหลัง และหากเป็นเช่นนั้น การดูแลสุขภาพของมนุษย์นั้นน่าจะไม่ใช่การรักษาโรคทีละโรคดังที่ทำกันอยู่ในขณะนี้ แต่คำตอบของการมีสุขภาพดีจนวันตาย (Healthy Aging) น่าจะอยู่กับการค้นคว้าเพื่อให้รู้ว่าการแก่ตัวในระดับเซลล์และยีนส์ที่ควบคุมการทำงานของเซลล์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

แต่ก็จะต้องไม่เป็นการเฟ้อฝันว่าจะมีอภินิหารแบบ Fountain of Youth หรือ Holy Grail คำถามคือมีพื้นฐานทางวิชาการด้านชีววิทยาหรือไม่ที่จะค้นพบกลไกในระดับเซลล์ที่ควบคุมการแก่ตัว และเราจะสามารถปรุงแต่งหรือเปลี่ยนแปลงการทำงานของยีนส์เพื่อควบคุมการแก่ตัวของร่างกายได้ ซึ่งในส่วนนี้ ผมจึงพยายามแสวงหาคำตอบโดยการไปดูการให้รางวัลโนเบลสาขาวิทยาศาสตร์ เพราะตัวเองไม่มีความรู้ แต่สถาบันโนเบลน่าจะมีความสามารถและเป็นมืออาชีพเพียงพอที่จะกลั่นกรองข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ

ผมพบว่า ศ.Yoshinori Ohsumi ได้รับรางวัลโนเบลในปี 2016 จากการค้นพบยีนส์ที่ควบคุมกระบวนการ Autophagy ในเซลล์ของ Yeast ซึ่งเซลล์ของมนุษย์และสัตว์อื่นๆ ก็มีกลไกดังกล่าวเช่นกัน ตรงนี้จะต้องขอให้ท่านผู้อ่านค่อยๆ ทำความเข้าใจพร้อมกันไปว่าการวิจัยของ ศ.Ohsumi นั้นมีความสำคัญยิ่งอย่างไร

Autophagy (self-eating) หรือการกลืนกินตัวเองของเซลล์นั้นเป็นเรื่องที่ค้นพบมานาน 50 ปีก่อนหน้าการค้นคว้าของ ศ.Ohsumi แล้ว แต่ที่ ศ.Ohsumi ได้รับรางวัลโนเบลก็เพราะสามารถทำการทดลองให้เห็นกระบวนการกลืนกินดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ได้ โดยการทำให้เซลล์ของ Yeast อดอาหาร (Caloric Restriction) และต่อมาก็สามารถระบุได้ว่ายีนส์ใดเป็นตัวจักรสำคัญในกลไกดังกล่าว ต่อจากนั้นสามารถพิสูจน์ได้ว่ามนุษย์ก็มียีนส์ดังกล่าวเช่นกัน การวิจัยของ ศ.Ohsumi ทำให้โลกเข้าใจถึงความสำคัญของการกลืนกินของเซลล์ และเมื่อคัดเอายีนส์ที่ควบคุมการกลืนกินดังกล่าวออกมาไม่ให้สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างร้ายแรง เช่น

1.การสร้างพลังงานให้กับเซลล์ (Provide Fuel and Energy) ได้รับผลกระทบ

2.การกำจัดแบคทีเรียและไวรัสที่เข้ามาแทรกแซงร่างกายเสื่อมสมรรถนะลง

3.การทำลายโปรตีนที่ชำรุดแล้ว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการต้านทานผลพวงของการแก่ตัวได้รับผลกระทบ

ตรงนี้ผมขอนำเอาความเป็นภาษาอังกฤษของแถลงการณ์ของสถาบันโนเบลมาให้อ่านโดยตรงคือ

“Cells use autophagy (as)… a quality control mechanism that is critical for counteracting the negative consequences of aging” ทั้งนี้การขัดขวางกลไกกลืนกินของเซลล์นั้นผูกโยงกับการเป็นโรค Parkinson’s โรคเบาหวาน และโรคอื่นๆ ของผู้สูงอายุ รวมทั้งโรคมะเร็ง (ขอนำเอาภาษาอังกฤษมาให้อ่านอีกครั้ง)

Disrupted autophagy has been linked to Parkinson’s disease, type 2 diabetes and other disorders that appear in the elderly. Disturbances in the autophagic machinery have also been linked to cancer”

ผมจึงสรุปว่า ยาเพื่อรักษาโรคแก่นั้นน่าหาได้จากการวิจัยในระดับเซลล์ไม่ใช่เรื่องเฟ้อฝัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาว่ายีนส์ตัวใดเป็นยีนส์ที่ควบคุมการทำงานและการแก่ตัวของเซลล์ ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารจัดการให้ยีนส์ดังกล่าวมีความสมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ แต่ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการกระตุ้นการกลืนกินนั้น ทำได้โดยการอดอาหารหรือการกดดัน (stress) ร่างกายซึ่งเป็นที่มาของการต้องออกกำลังกายและอดอาหารเพื่อให้อายุยืนและมีสุขภาพแข็งแรง กล่าวคือข้อสรุปพื้นฐานข้อแรกคือหากอยู่ดีกินดีและจำกัดกิจวัตรประจำวัน ก็น่าจะทำให้อายุสั้นและสุขภาพไม่ดี ขัดกับความต้องการของคนสูงอายุอย่างผมที่อยากใช้ชีวิตแบบสบายๆ และนั่งกินนอนกินตามใจปาก แต่ก็ต้องจำนนด้วยเหตุผลและข้อมูลที่ค้นพบมาครับ