โจทย์ที่รอประเทศไทยอยู่ข้างหน้า

โจทย์ที่รอประเทศไทยอยู่ข้างหน้า

วันนี้วันจันทร์ ทุกคนคงกลับมาทำงานปกติ หลังพักยาวช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่คงได้พักผ่อนกันเต็มที่แบบลืมงานลืมเรื่องรอบตัวไปเลย

ซึ่งควรเป็นเช่นนั้น ผมเองไม่ได้ไปไหน อยู่กรุงเทพฯ ตลอดและพักเต็มที่เหมือนกัน แต่ปลายอาทิตย์ที่แล้วพวกเราทุกคนก็ต้องกลับมาเผชิญความจริงว่า ประเทศเรามีปัญหาใหญ่รออยู่ เป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก ยังหาฉันทามติไม่ได้ว่าประเทศจะเดินต่อไปข้างหน้าอย่างไร คือหลังการเลือกตั้งผ่านไปเกือบหนึ่งเดือน เรายังตั้งรัฐบาลไม่ได้ เป็นความไม่แน่นอนที่ไม่มีใครตอบได้ว่าจะจบเมื่อไร จบอย่างไร เหมือนคนที่กำลังยืนอยู่หน้าประตูห้องมืดที่ต้องก้าวเดินเข้าไป โดยไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

แต่ที่ชัดเจนคือ โลกจะหมุนต่อไปไม่หยุด นักลงทุนจะลงทุนต่อโดยไม่รอประเทศไทย ในสายตานักลงทุน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นเรื่องของคนไทยที่ต้องแก้ไข ต้องหาทางออก เป็นปัญหาของเราเอง ไม่ใช่ของคนอื่น

การเลือกตั้งและสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ผมคิดว่าได้บอกอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมเราขณะนี้ ที่คนไทยทุกคนควรตระหนัก

อย่างแรก เรื่องเศรษฐกิจ ชัดเจนว่าเศรษฐกิจตอนนี้ในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ไม่ดี เป็นประเด็นที่ทุกพรรคการเมืองยอมรับ และชี้ว่าการทำนโยบายอย่างที่เราทำกันแบบเดิมๆ ต้องเปลี่ยน เพราะแม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะดูดี แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่ความเหลื่อมล้ำยิ่งมีมากขึ้น เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบและอยากให้เปลี่ยนแปลง สะท้อนชัดเจนจากผลการเลือกตั้ง ที่ผู้ลงคะแนนกว่าครึ่งหรือเกือบครึ่งต้องการการเปลี่ยนแปลง เป็นเหมือนเสียงร้องหาความช่วยเหลือและรอความหวัง

2.การเลือกตั้งชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอของสถาบันหลักๆ ของประเทศที่สำคัญต่อความเข้มแข็งและความยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตย เช่น องค์กรอิสระ ระบบยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการบังคับใช้กฎหมาย ใครที่เคยอ่านหนังสือเรื่อง Why Nations Fail หรือทำไมประเทศล่ม เขียนโดย ดารอน เอสมองกูล และ เจมส์ โรบินสัน ตีพิมพ์เมื่อ 7 ปีก่อน คงจำได้ว่าความเข้มแข็งของสถาบันเหล่านี้คือพื้นฐานสำคัญที่สุดของการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสาเหตุหลักที่ทำให้สถาบันเหล่านี้ล้มเหลวก็คือ การเมืองในประเทศ

3.บุคคลระดับนำของประเทศ คือ กลุ่มอีลีธ (Elites) ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักการเมือง ทหารและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดสรรอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง ยังไม่สามารถมีฉันทามติร่วมกันได้ว่าจะนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างไร ที่พูดเช่นนี้ก็เพราะในทุกสังคม คนกลุ่มนี้คือผู้ที่กุมบังเหียนประเทศ ที่ต้องมีความรับผิดชอบ เพราะอิทธิพลที่คนเหล่านี้มีต่ออำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าเปรียบเป็นบริษัท คนกลุ่มนี้คือผู้ถือหุ้น กรรมการและผู้บริหาร ซึ่งเป็นระดับสูงสุดขององค์กร ถ้าคนกลุ่มนี้ทำงานร่วมกันได้ มองประโยชน์ของบริษัทเป็นที่ตั้ง บริษัทก็จะไปได้ดี ตรงกันข้าม ถ้าแต่ละคนมุ่งแต่ประโยชน์ตนเอง ทำงานร่วมกันไม่ได้ ไม่ไว้วางใจกัน บริษัทก็กลายเป็นสนามรบของการแย่งชิงอำนาจเพื่อหาประโยชน์ และในที่สุด บริษัทก็คือผู้แพ้ ซึ่งในกรณีของเราก็คือประเทศ

ข้อสังเกตทั้ง 3 ข้อนี้ ผมคิดว่าใครที่ตามการเลือกตั้งมาตลอดคงจะเห็นคล้ายๆ กัน ซึ่งชี้ว่าประเทศเราคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่เราจะกลับมาตั้งหลักได้ หาฉันทามติได้ และมีรัฐบาลที่จะทำนโยบายเพื่อประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น

แต่อย่างที่กล่าว เศรษฐกิจโลกและนักลงทุนคงรอการเมืองไทยไม่ได้ เศรษฐกิจโลกคงจะเดินต่อและจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเรามากขึ้นๆ โดยไม่สนใจว่าประเทศไทยและคนไทยพร้อมหรือไม่ ต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะจากแรงบีบต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยมากขึ้นๆ ในระยะต่อไป ที่คนไทยทั้งประเทศจะต้องตั้งรับ ต้องปรับตัว และต้องการรัฐบาลที่จะเข้ามาช่วยเหลือจัดระบบ ดูแลการปรับตัวของประชาชนและภาคธุรกิจให้สามารถอยู่ได้จากผลกระทบเหล่านี้

แรงบีบแรก คือ เศรษฐกิจโลกที่เป็นขาลงและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจเราเองที่จะขยายตัวในอัตราลดลง ทำให้ความสามารถในการหารายได้ของคนส่วนใหญ่ของประเทศจะยิ่งลำบากมากขึ้น เพราะในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมากอย่างสังคมไทย ผลกระทบจากแรงบีบด้านเศรษฐกิจต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในระดับล่างจะมีมากเป็นพิเศษ เพราะรายได้คนระดับล่างจะลดลง และความสามารถที่จะดูแลตัวเองจากเงินออม หรือการประกันต่างๆ (Safety Net) มีน้อยหรือไม่มี ทำให้ความเป็นอยู่จะยิ่งเป็นปัญหาและความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดีจะยิ่งมีมากขึ้น

แรงบีบที่ 2 คือ เทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันและความเป็นอยู่ของคนไทยมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามแนวโน้มสากล ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ด้านอุปสงค์ เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในวิถีการบริโภค จากที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้มากและง่าย นำไปสู่ความต้องการสินค้าและบริการที่เน้นความรู้สึกหรือความพอใจของการให้บริการที่ต้องตรงจุด รวดเร็ว หลากหลาย และไม่แพง เป็นความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ด้านอุปทาน เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนแรงงาน ธุรกิจต้องปรับตัวมากเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงเร็ว การผลิตต้องเปลี่ยนรูปแบบบ่อย การผลิตสินค้าเดียวแบบโรงงานที่เน้นปริมาณจะเป็นอดีต เปลี่ยนเป็นการผลิตที่ต้องไหลลื่น และเน้นนวัตกรรม ผลคือคนรุ่นใหม่จะหางานยาก ต้องเปลี่ยนงานบ่อย และต้องพร้อมเคลื่อนย้ายตลอดเวลา หรือไม่ก็ต้องทำธุรกิจเองเพื่อให้มีรายได้ ทำให้ความไม่แน่นอน ความไม่มั่นคงในรายได้และการมีงานทำจะเป็นปัญหาหลักของคนรุ่นใหม่

แรงบีบที่ 3 คือ สังคมสูงวัยที่คนไทยร้อยละ 20 จะมีอายุเกิน 60 ปี ในอีก 2 ปีข้างหน้า คนเหล่านี้จะต้องใช้ชีวิต แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีรายได้ ต้องอยู่ด้วยบำนาญ เงินออม และเงินช่วยเหลือจากครอบครัวและภาครัฐ ทำให้จะเป็นภาระมากต่อภาษีและลูกหลานที่ต้องยื่นมือช่วยเหลือ แม้ตัวเองจะไม่มีความมั่นคงด้านรายได้ก็ตาม

นี่คือแรงบีบที่จะทำให้ความไม่แน่นอนในชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมีมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งคนสูงวัยและคนรุ่นใหม่ เป็นปัญหาที่สังคมไทยจะต้องเผชิญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำถามคือ คนไทยส่วนใหญ่จะอยู่อย่างไรอย่างมีศักดิ์ศรีในสังคมที่ต้องการความสมานฉันท์ภายใต้ความไม่แน่นอนเหล่านี้ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ประชาชนต้องการรัฐบาลที่สามารถให้คำตอบได้ชัดเจนว่า 1.จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต มีความหวัง และสามารถบริหารจัดการความไม่แน่นอนด้านรายได้โดยความสามารถของตนเอง 2.จะจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศใหม่อย่างไร ให้เกิดการแบ่งปันประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงมากกว่าเดิม และ 3.จะสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันที่สำคัญของประเทศอย่างไร เพื่อให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยการใช้เหตุผล และมีเครื่องมือที่สังคมจะใช้แก้ไขปัญหาร่วมกันตามกลไกของระบอบประชาธิปไตย

นี่คือโจทย์ที่รอประเทศไทยอยู่ข้างหน้า ซึ่งดูห่างไกลมากเมื่อเทียบกับคำตอบที่การเมืองของประเทศต้องการหยิบยื่นให้ประชาชนจากป้ายโฆษณาหาเสียงที่เราเห็นๆ กัน