ปัญหาเศรษฐกิจไทยในทัศนะผู้ว่าธนาคารชาติ

ปัญหาเศรษฐกิจไทยในทัศนะผู้ว่าธนาคารชาติ

“เศรษฐกิจไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง” โดย วีรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันนักข่าวเมื่อ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา

เป็นปาฐกถาที่น่าสนใจนำไปเผยแพร่ต่อและวิเคราะห์กันให้มากกว่านี้ ผมจะสรุปเนื้อหาสำคัญก่อนและเสนอบทวิเคราะห์ในคอลัมน์นี้อีก 2 สัปดาห์ถัดไป

 เศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตลดลงจากศตวรรษก่อนหน้านั้น และต้องเผชิญกับข้อจำกัดจากโครงสร้างประชากรที่มีคนวัยทำงานลดลง คนสูงอายุเพิ่ม การจ้างงานเติบโตเฉลี่ยลดลง เศรษฐกิจไทยจะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฉุดรั้งศักยภาพของเศรษฐกิจไทยไว้ 3 ข้อ คือ 1. ผลิตภาพ (Productivity) ที่ต่ำ 2.การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นธรรม และ 3.การขาดภูมิต้านทานที่ดี มีจุดเปราะบางที่จะสร้างปัญหาหรือนำไปสู่วิกฤติได้ในอนาคต

ข้อ 1 ผลิตภาพ

10 ปีที่ผ่านมาผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ผลิตภาพที่ทรงตัวนี้เกิดจากสาเหตุเชิงโครงสร้างอย่างน้อย 4 เรื่องหลักๆ คือ

1.แรงงานจำนวนมากมีผลิตภาพต่ำ ขาดการพัฒนาและไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่ภาคการผลิตที่มีผลิตภาพที่สูงขึ้น 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งประเทศอยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำที่สุด นโยบายภาครัฐที่ผ่านมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในเศรษฐกิจชนบทได้ดีในระยะสั้น แต่ไม่ช่วยพัฒนาผลิตภาพของภาคเกษตรในระยะยาว

2.ระบบการศึกษาไม่สามารถผลิตแรงงานออกมาตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจได้ แรงงานที่จบการศึกษาออกมามักจะทำงานไม่ตรงกับที่เรียนมา และยังขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะอย่างจริงจังตลอดช่วงชีวิตของการทำงาน แรงงานจำนวนมากยังทำงานแบบเดิมๆ ด้วยวิธีการเดิมๆ แม้ว่าจะผ่านการทำงานมาหลายปี

3.ระดับการลงทุนที่แท้จริงของทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกันยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในภาคอุตสาหกรรม การลงทุนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก เป็นการลงทุนเพื่อทดแทนเครื่องจักรเก่าที่เสื่อมลงไป ซึ่งไม่ได้สร้างผลิตภาพให้เพิ่มขึ้นมากนัก

4.ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจจากกฎระเบียบข้อบังคับของทางการที่มีจำนวนมากและล้าสมัย ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว

  ข้อ 2 ความเหลื่อมล้ำของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

  ผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่มีรายได้สูง มีสินทรัพย์สูง โดยเฉพาะเจ้าของทุนขนาดใหญ่ ภาครัฐขาดประสิทธิภาพและความสามารถที่จะทำหน้าที่จัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม ทั้งเรื่องโครงสร้างภาษี การใช้จ่ายภาครัฐ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสฝังตัวอยู่ในทุกระดับ ในภาคธุรกิจ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ได้เปรียบธุรกิจขนาดเล็กเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

WEF จัดอันดับให้ไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินมากที่สุดในอาเซียนและอยู่ในอันดับที่ 97 จาก 106 ประเทศ ส่งผลไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ครัวเรือนไทยที่มีฐานะดีส่งลูกหลานเข้าถึงการศึกษาในระดับสูงได้มากกว่าครัวเรือนยากจนมากถึง 3 เท่า และนักเรียนในเมืองใหญ่มีโอกาสสอบได้คะแนนสูงกว่านักเรียนในเมืองรอง เยาวชนจากครัวเรือนยากจนขาดโอกาสสำคัญที่จะยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองและครอบครัว และจะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กว้างขึ้นในอนาคต

  ข้อ 3 ภูมิต้านทานของเศรษฐกิจไทย

หนี้ครัวเรือนมีปัญหาทั้งปริมาณและคุณภาพ ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ประมาณร้อยละ 77.8 ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกับเรา สัดส่วนหนี้เสียอยู่ในระดับสูงและยอดหนี้ของคนไทยจำนวนมากไม่ได้ลดลงแม้ว่าจะมีอายุมากขึ้นจนถึงวัยเกษียณ ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศแรกในโลกที่คนส่วนใหญ่จะแก่ก่อนรวย

นอกจากภาระค่าใช้จ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นมากแล้ว ภาครัฐยังจะมีภาระด้านประกันสังคม รายจ่ายประจำที่ต้องเพิ่มขึ้น ภาระเงินอุดหนุนสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ การดำเนินนโยบายประชานิยมที่หวังผลทางการเมืองในช่วงสั้น รัฐบาลจะต้องทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องไปอีกประมาณ 12 ปี จึงจะเริ่มมีงบประมาณสมดุลได้ ภูมิต้านทานด้านการคลังของเราอาจจะต่ำกว่าที่หลายคนคิดมาก การให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐและการลดขนาดของภาครัฐจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

เราจะต้องร่วมกันมองให้ไกลและคิดร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อเตรียมประเทศให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างน้อยใน 3 เรื่องหลักๆ

1.การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสารสนเทศกำลังเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน หรือผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ จะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับผู้เล่นจากทั่วโลกที่ใช้เทคโลโลยีพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเองให้สูงขึ้น

2.การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ (Climate Chang) จากภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภัยแล้งและน้ำท่วมใหญ่บ่อยครั้งขึ้น เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะเกษตรกร

3.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และกระแสการต่อต้านโครงสร้างเชิงสถาบัน เสี่ยงที่จะปะทุเป็นปัญหารุนแรงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างพลิกผันได้ตลอดเวลา ไทยต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพและผลิตภาพ (ของแรงงาน) อย่างจริงจัง การเพิ่มคุณภาพและผลิตภาพเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้รายได้ของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญกับอย่างน้อย 3 เรื่อง

1.ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าด้วยคุณภาพและผลิตภาพ (ของแรงงาน) เป็นหลัก โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและ SMEs

2.เร่งเพิ่มคุณภาพของแรงงานไทย 38 ล้านคน ให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการแข่งขันจากประเทศอื่นที่มีประชากรวัยหนุ่มสาวมากกว่าเรามาก

3.ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อศักยภาพของเศรษฐกิจ ทำให้ทรัพยากร ทุน ที่ดิน และแรงงานสามารถเคลื่อนย้ายจากภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพสูงกว่า

ปฏิรูปบุคลากรภาครัฐมีมากกว่า 2 ล้านคนให้มีขนาดเล็กลง แต่มีคุณภาพ/ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

 ปฏิรูปกฎหมายและกฎเกณฑ์ของภาครัฐอย่างจริงจัง เราทุกคนต้องช่วยกันคิดว่าธุรกิจหรือหน่วยงานของเราจะมีส่วนช่วยให้คนอื่นในสังคมได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาสกว่า เราจะลดการเบียดเบียนคนอื่นในสังคมได้อย่างไร และช่วยกันสร้างภูมิต้านทานให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทยได้อย่างไร ช่วยกันสร้างพลังบวกที่จะนำไปสู่ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่