ควันหลงสงกรานต์ น้ำกับเศรษฐกิจ

ควันหลงสงกรานต์ น้ำกับเศรษฐกิจ

เล่นสงกรานต์เสร็จแล้ว อย่าลืมช่วยประหยัดน้ำกันด้วย

หลายวันที่ผ่านมาช่วงเทศกาลสงกรานต์ น้ำสร้างความสุขให้เราทุกคน

วันนี้มีประเด็นเรื่องน้ำกับเศรษฐกิจมาเล่าสู่กันฟังครับ

น้ำจำเป็นต่อมนุษย์ นอกจากใช้กินดื่มเพื่อดำรงชีพ น้ำยังสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ต่อความมั่นคงทางเกษตรกรรมและการผลิตอาหาร ประเทศที่พึ่งพาภาคเกษตรกรรมเสี่ยงได้รับผลกระทบสูงจากความผันผวนของอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝน ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจ รายได้และคุณภาพชีวิตประชาชน

ในทางกลับกัน หากประเทศที่พึ่งพาภาคเกษตรกรรมสามารถลดความผันผวนของดินฟ้าอากาศได้ ก็ช่วยให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น กรณีตัวอย่าง เช่น ประเทศเคนยา งานวิจัยพบว่า หากสามารถลดความผันผวนของปริมาณน้ำฝน จะช่วยให้เศรษฐกิจหรือ GDP เคนยาเติบโตปีละ 2.4%

นอกจากนี้น้ำยังสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยด้วย ข้อมูลจาก WHO และ UNICEF พบว่า ปัจจุบันประชากรโลกเสียชีวิตจากการบริโภคน้ำไม่สะอาดปีละ 5 แสนคน หนึ่งในสี่ของสถานพยาบาลทั่วโลกยังขาดแคลนน้ำสะอาดและระบบประปาที่ได้มาตรฐาน ซึ่งกระทบคุณภาพชีวิตประชากรโลกกว่า 2,000 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries) มีเพียงครึ่งเดียวของสถานพยาบาลที่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ ทำให้แต่ละปีมีคุณแม่ถึง 17 ล้านคนเสี่ยงติดเชื้อและเสียชีวิตจากการคลอด

ทุกวันนี้การคลอดในสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด ส่งผลให้มีคุณแม่เสียชีวิตจากการคลอด 1 ล้านรายต่อปี มีเด็กแรกเกิดเสียชีวิต 7,000 คนต่อวัน โดยการติดเชื้อเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในเด็กแรกเกิดถึง 26% และการเสียชีวิตของแม่ระหว่างคลอดถึง 11% โดยอัตราการติดเชื้อในเด็กแรกเกิดของประเทศรายได้กลางและประเทศรายได้ต่ำ สูงเป็นสองเท่าของประเทศรายได้สูง

ตัวอย่างการคำนวณผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น ประเทศจีน มีการประมาณการว่า ช่วงปลายทศวรรษ 1990 เฉพาะต้นทุนด้านสุขภาพที่เกิดจากน้ำไม่สะอาดหรือปนเปื้อนมลพิษก่อต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงถึง 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 1.3% ของ GDP จีน

การแก้ปัญหาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงน้ำสะอาดก็ไม่ง่าย เนื่องจากต้องการการลงทุนจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น อ้างอิงจาก UNDP Human Development Report (2006) เพื่อให้แอฟริกาใต้เขตตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราเข้าถึงสุขอนามัยและน้ำสะอาด ต้องการการลงทุนถึงปีละ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ประโยชน์ในแง่เศรษฐศาสตร์จากการที่ประชาชนเข้าถึงน้ำสะอาดมีหลายประการ ทั้งประหยัดต้นทุนการดูแลสุขภาพ ประหยัดเวลาจากการเจ็บป่วย เด็กไปโรงเรียนได้มากขึ้น ผู้ใหญ่ทำงานได้เพิ่มขึ้น ผลิตภาพทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้จากการทำให้คนเข้าถึงน้ำสะอาดอยู่ที่ปีละ 8.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์พบว่า การเข้าถึงน้ำสะอาดของประชากรสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หากเพิ่มการลงทุน 0.3% ให้ครัวเรือนเข้าถึงน้ำสะอาดจะทำให้เศรษฐกิจเติบโต 1% ทำนองเดียวกันหากเศรษฐกิจดีขึ้น ก็ทำให้ประชากรเข้าถึงน้ำสะอาดมากขึ้น

ในส่วนของไทย ไทยยังเผชิญปัญหาด้านน้ำทั้งประเด็นปริมาณและคุณภาพซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชน
ในแง่ปริมาณ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ปีนี้ฤดูร้อนของไทยมาเร็วและมีแนวโน้มกินเวลานานกว่าทุกปี ฤดูร้อนปีนี้ยังร้อนกว่าปีที่แล้วราว 1-2 องศาเซลเซียส ทำให้ไทยเสี่ยงเผชิญภัยแล้ง เสี่ยงสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 15,300 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP (ประเมินความเสียหายจากผลผลิตข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลัก)

ในแง่คุณภาพของน้ำเพื่อการบริโภค ผลสำรวจคุณภาพน้ำดื่มของครัวเรือนไทยในปี 2556 (เผยแพร่โดยกระทรวงสาธารณสุข) พบว่าคุณภาพผ่านเกณฑ์เพียงร้อยละ 33 ส่วนใหญ่ปนเปื้อนแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของโรคอุจจาระร่วง ขณะที่รองลงมา ตกเกณฑ์ด้านกายภาพ เช่น สีขุ่น และตกเกณฑ์ด้านเคมี เช่น มีฟลูออไรด์หรือเหล็กสูงเกินค่ามาตรฐาน ผลการสำรวจยังให้ข้อมูลที่น่าตกใจ โดยพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพ

ทั้งนี้สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยาที่พบว่า คนไทยป่วยจากการดื่มน้ำไม่สะอาดปีละมากกว่า 1 ล้านคน ส่วนใหญ่จากโรคอุจจาระร่วงและโรคบิด

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า การบริหารจัดการน้ำเป็นความท้าทายทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

เล่นสงกรานต์เสร็จแล้ว อย่าลืมช่วยประหยัดน้ำกันด้วยนะครับ