ผลประโยชน์ทับซ้อน โจทย์ใหญ่ของทุกพรรค

ผลประโยชน์ทับซ้อน โจทย์ใหญ่ของทุกพรรค

ในระหว่างที่เรายังไม่เห็นคะแนนอย่างเป็นทางการ ไม่รู้ว่าจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคได้จะมีจำนวนเท่าไร พรรคไหนจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล

ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และหน้าตาของคณะรัฐมนตรีจะดูดีแค่ไหน อีกเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ คนเหล่านี้ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนได้อย่างไร

ผลประโยชน์ทับซ้อน คืออะไร?

ผลประโยชน์ทับซ้อน หมายถึง สถานการณ์ที่ผู้มีตำแหน่งและอำนาจตัดสินใจ ไม่ใช้อำนาจอย่างอิสระเป็นกลางเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เนื่องจากมีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง

ผลประโยชน์ทับซ้อนโดยตัวของมันเองไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายหากผู้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้มีคุณธรรมสูง สามารถแบ่งแยกได้ว่าตนเองอยู่ในตำแหน่งใด อะไรสมควรไม่สมควร และสามารถควบคุมไม่ให้ผู้ที่มีสายสัมพันธ์กับตนเอาความสัมพันธ์นั้นไปแสวงหาประโยชน์

ปัญหาคือ การจะหาคนที่มีคุณสมบัติแบบนี้นั้นยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร แทบทุกวันเราได้ยินได้ฟังแต่เรื่องการใช้อำนาจนั้นเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดในประเทศไทยเท่านั้น ทุกประเทศ ทุกระบบการปกครองก็เจอกับปัญหานี้ด้วยกันทั้งนั้น แค่มีระดับแตกต่างกัน

เดิมเชื่อกันว่า หากประเทศเป็นประชาธิปไตย มีการแบ่งแยกอำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติอย่างชัดเจน อำนาจทั้ง 3 จะคอยตรวจสอบซึ่งกันและกัน ทำให้แต่ละฝ่ายไม่สามารถใช้อำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนได้ แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น

หรือว่าประชาธิปไตยล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้เราต้องทราบถึงหลักการสำคัญที่ป้องกันการเกิดปัญหาจากผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งมี 4 ข้อ คือ 1) ความโปร่งใส 2) ความรับผิดชอบ 3) ความเป็นกลาง และ 4) ความซื่อสัตย์

หลักการ 4 ประการนี้ถูกเสนอขึ้นมาเนื่องจากคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองถือเป็นบุคคลสาธารณะ อะไรที่เขาทำไม่ได้มีผลต่อตัวเองและคนรอบข้างเท่านั้น บุคคลสาธารณะมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางของสังคม ผู้จะรับตำแหน่งนี้จึงต้องยอมรับมาตรฐานทางคุณธรรมจริยธรรมเข้มข้นกว่าสิ่งที่เขียนไว้ในกฎหมาย

น่าเสียดายว่าเมืองไทยตอนนี้ การจะหานักการเมืองที่ทำงานอย่างโปร่งใส มีความรับผิดชอบ รู้จักวางตัวเป็นกลาง มีความซื่อสัตย์สุจริตมาดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองทุกตำแหน่งคงเป็นเรื่องยาก

หากจะใช้หลักการนี้เป็นแนวทางในการปฏิรูปการเมือง เราก็ควรเริ่มจากการทำให้หลักการ 2 ข้อแรกเป็นจริงขึ้นมาก่อน เพราะหลักการ 2 ข้อแรกเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้หลักการ 2 ข้อที่เหลือเป็นจริงตามไปด้วย เมื่อการเมืองโปร่งใส ทุกคนสามารถตรวจสอบการทำงานของผู้ดำรงตำแหน่งได้ทุกเรื่อง มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับความรับผิดชอบเมื่อเกิดความไม่โปร่งใสขึ้นในการทำงาน ถึงแม้จะมีผลประโยชน์ทับซ้อนมากมายเพียงใด นักการเมืองก็จะถูกบังคับให้อยู่ในกรอบ วางตัวเป็นกลาง และประพฤติตัวอย่างซื่อสัตย์สุจริตไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่ก็ตาม

ในความเป็นจริงแล้ว แต่ละประเทศมีระดับความโปร่งใสทางการเมืองไม่เท่ากัน สื่อในบางประเทศเป็นแค่กระบอกเสียงของรัฐบาล ประชาชนอาจมีสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่มีสิทธิในการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ ออกมาชุมนุมทีไรก็ต้องเจอกับมาตรการรุนแรงจากฝ่ายการเมืองทุกที ดังนั้น สิ่งที่ล้มเหลวไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นเพราะวัฒนธรรมทางการเมืองของประเทศต่างหาก

เราไม่ควรฝากความหวังไว้กับพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว อย่าลืมว่า การปฏิรูปการเมืองแต่ละครั้ง มีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และผู้ที่เดือดร้อน การเมืองที่ดีสำหรับประชาชน อาจเป็นการเมืองที่ไม่ดีสำหรับนักการเมืองบางคนและพรรคการเมืองบางพรรคก็ได้ ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของประชาชน ย่อมหมายถึงประโยชน์ที่ลดลงของนักการเมืองที่คิดเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากตำแหน่ง พวกเขาคงไม่ยอมปล่อยชิ้นปลามันไปง่ายๆ

การปฏิรูปการเมืองมีจึงมีความหมายกว้างกว่าแค่การแก้ไขบทกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพราะคนเป็นผู้ร่างกฎหมาย ไม่ว่ากฎหมายจะรัดกุมเพียงใด สักวันหนึ่งก็จะมีคนหาช่องโหว่จนได้ สิ่งสำคัญคือ การเพิ่มบทบาทของภาคประชาชน องค์กรอิสระ และส่งเสริมให้สื่อวางตัวเป็นกลาง ตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองและพรรคการเมืองทุกพรรคอย่างเข้มข้น

กิจกรรมทางการเมืองของภาคประชาชนนั้นไม่ได้จบลงในวันเลือกตั้ง คะแนนเสียงหนึ่งเสียงที่เราให้ไป ไม่ใช่การให้ขาด เป็นการให้ยืม คนที่เราเลือกจึงเป็นลูกหนี้ของเรา เราต้องคอยตรวจสอบอยู่เสมอว่า ลูกหนี้เอาเสียงที่ให้ไปใช้อย่างไร ถ้านำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ต้อง เราย่อมมีสิทธิทักท้วง หากเขายังไม่ฟังเราอีก เลือกตั้งครั้งหน้าก็อย่าให้เขายืมคะแนนเสียงของเราอีกเลย

ตอนนี้ใครทำอะไรไว้จำให้แม่น บางทีการเลือกตั้งครั้งใหม่อาจไม่นานเกินรอ