ซินเจียง

ซินเจียง

ถ้ากล่าวถึง Belt Road Initiatives (BRI) หรือเส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน โดยไม่มีซินเจียงอยู่ในภาพเลยนั้นคงเป็นไปไม่ได้

โดยเมื่อช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนช่วงหนึ่งของเส้นทางสายไหมในอดีต ตั้งแต่เมืองตุนหวง ถึงเมืองทักซ์คอร์กัน ในคัชการ์ เป็นระยะทางร่วม 3,087 กม. ใช้ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถยนต์ ขึ้นเขา ข้ามทะเลทราย ยังรู้สึกว่าลำบากเพียงนี้ ให้นึกถึงพ่อค้าในยุคพันกว่าปีก่อนที่ต้องเดินทางรอนแรมด้วยอูฐ ม้า และลา เป็นระยะทางกว่า 6,440 กม. ว่าจะต้องลำบากมากเพียงใด

ด้วยเหตุที่ซินเจียงเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญระหว่างเอเซียและเอเซียกลาง ดังนั้นก็ย่อมเป็นเส้นทางผ่านของหลากหลายอารยธรรมเช่นเดียวกัน เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เป็นที่รวมกลุ่มชาติพันธุ์มากถึง 13 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ อุยกูร์ ฮั่น คาซัค หุย คีร์กิซ มองโกล ซีบอ แมนจู ตะอูร ทาจิค ตาตาร์ หรือแม้กระทั่งอุซเบค รัสเซียน เป็นต้น โดยมีหน้าตาตั้งแต่ละม้ายอินเดีย เปอร์เซีย จีน จนไปถึงหน้าฝรั่งกันไปเลย โดยกลุ่มชาติพันธุ์นี้มีภาษาถิ่นเป็นของตนเอง และคนรุ่นใหม่ก็สามารถพูดและฟังภาษาจีนกลางได้ด้วย  

ความพิเศษของซินเจียงไม่ใช่เป็นเพียงทางผ่านทางการค้าในสมัยโบราณเท่านั้น แต่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแร่ธาตุใต้ดินที่มากที่สุดในประเทศ ไม่นับรวมภาคเกษตรที่มีความสำคัญสูงถึงเกือบ 20% ของขนาดเศรษฐกิจของจีน

ที่ผ่านมารัฐบาลจีนก็ตระหนักถึงความสำคัญของซินเจียงมาโดยตลอด โดยมีนโยบายการพัฒนาสำคัญสู่ภาคตะวันตก (Great Leap West) ในสมัยประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ในปี 2534 โดยทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มจำนวนสนามบิน ทางด่วน พัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคม และโครงข่ายกระแสไฟฟ้าแรงสูง เป็นต้น

ในด้านการท่องเที่ยว นอกเหนือจากธรรมชาติอันงดงาม เช่น เทือกเขาที่สูงเป็นลำดับสองของโลก ทะเลทรายที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากทะเลทรายซาฮาร่าแล้ว ซินเจียงยังเคยเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนามาก่อน ปรากฏผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติในถ้ำโบราณตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 เป็นอย่างน้อย และไม่ได้มีอยู่ที่สองที่ แต่หลักฐานการเป็นชุมชนพุทธนั้นมีกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งในถ้ำและในนครโบราณซึ่งทยอยค้นพบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีร่องรอยที่ตั้งพระพุทธรูปปางปรินิพพาน และอิริยาบทอื่นๆในถ้ำมากมายเป็นร้อยๆถ้ำ หลายแห่งมีช่องเจาะเข้าไปในผนังคล้ายกับบ้านเรา ซึ่งในวัฒนธรรมรุ่นหลังของซินเจียงใช้เป็นที่ใส่ของประดับห้อง แต่สันนิษฐานกันว่าในอดีตนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเพื่อการบูชาของชุมชนในอดีตนั่นเอง

ในแง่ของผู้คนนั้น เรียกได้ว่ามีมารยาทงาม มีน้ำใจ ยิ้มแย้มแจ่มใสกันเป็นส่วนใหญ่ ร้านรวงเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ประมาณ 10 โมงเช้า จนถึงเที่ยงคืนก็มี เสมือนหนึ่งวงจรชีวิตของคนซินเจียงจะช้ากว่าที่อื่นๆของจีนไปประมาณ 2 ชม. เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ ที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆก็สามารถมีบุตรได้มากกว่า 1 คน เนื่องจากรัฐบาลกลางให้เกียรติกับวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ ทำให้เราได้เห็นสาวๆซินเจียงจำนวนมากแตกต่างจากเมืองอื่นๆของจีน (ซึ่งสัดส่วนผู้หญิงมักจะน้อยกว่าผู้ชายเป็นจำนวนมาก) ทั้งยังได้คะแนนเพิ่มพิเศษในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย นอกจากนี้ร้านรวงต่างๆก็ขึ้นป้ายทั้งภาษาจีน และภาษาถิ่นประกอบกันไปด้วย

สิ่งหนึ่งที่มีความแตกต่างจากเมืองอื่นๆในโลกก็ว่าได้ คือ ปริมาณเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสถานีตำรวจ โดยในบางเมืองนั้น สถานีตำรวจมีมากพอๆกับร้านสะดวกซื้อในบ้านเรา มากชนิดที่ว่ามีตู้ถอนเงินสดไปติดตั้งหน้าสถานีเลยก็มี ซึ่งเป็นเรื่องน่าทึ่งที่ไม่สามารถถ่ายรูปมาเป็นหลักฐานได้ เนื่องจากมีกฏห้ามถ่ายรูปเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารในเครื่องแบบ และสถานีตำรวจทุกแห่ง เพราะจะมีการสุ่มตรวจรูปถ่าย และลบรูปถ่ายทั้งหมดที่เราถ่ายไว้ หากพบว่ามีการละเมิดกฏที่ว่านี้

สุดท้าย ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวนั้น ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน เชื่อว่าขณะนี้ซินเจียงเป็นหนึ่งในเมืองที่ปลอดภัยมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลก เนื่องจากมีจุดตรวจหลักฐานแสดงตน พร้อมอุปกรณ์สแกนร่างกายที่ทันสมัยแบบเดียวกับในสนามบิน (แต่มีแทบทุกหนทุกแห่ง!) เกือบทุกโรงแรม ทุกร้านอาหารติดตั้งเครื่องตรวจวัตถุระเบิด และมีตำรวจประจำอยู่ทุกแห่ง แม้แต่กรรไกร หรือมีดพก ต่อให้ขนาดเล็กแค่ไหนก็พกไม่ได้ทั้งสิ้น

เรียกได้ว่าเป็นระบบรักษาความปลอดภัยแบบขั้นสุดจริงๆก็ว่าได้