“เทรนด์ในการกำกับเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต”

“เทรนด์ในการกำกับเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต”

ในช่วงที่ผ่านมา เทรนด์การผลักดันให้มีการกำกับเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต หรือ Social Network เป็นประเด็นที่หลายประเทศ

รวมถึงผู้ให้บริการ Social Networking Service เช่น facebook ต่างเห็นในทำนองเดียวกันว่า “อาจถึงเวลาที่ภาครัฐต้องกำกับดูแลเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต”

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสาร

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีส่งผลให้การติดต่อสื่อสาร รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลทำได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น อินเทอร์เน็ตถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่ถูกใช้เป็นช่องทางเพื่อให้ผู้บริการเชื่อมต่อกับผู้บริโภคได้โดยง่าย เช่น การใช้ Social Network ประเภทต่างๆ (facebook, Instagram) เพื่อเป็นช่องทางในการนำเสนอเนื้อหาหรือให้บริการ การติดต่อสื่อสารระหว่างกันผ่านระบบการส่งข้อความแบบทันที (Line, WeChat) การสร้างช่องทางเผยแพร่เนื้อหาในรูปแบบสตรีมมิง (Netflix) หรือการที่ User สร้างเนื้อหาของตนเองและนำเสนอผ่อนช่องทางออนไลน์ต่างๆ (Youtube, Twitter) เป็นต้น

หากสังเกตจากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการสื่อสารที่ได้กล่าวมา จะพบว่าข้อมูลได้ถูกส่งผ่าน หรือแลกเปลี่ยน หรือมีการให้บริการในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับ Content หรือเนื้อหาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น จึงเป็นที่มาของการนิยามการให้บริการประเภทนี้ว่า “Over The Top” (OTT) หรือการให้บริการเนื้อหาโดยการส่งผ่านบนโครงข่าย (อินเทอร์เน็ต) ซึ่งผู้ให้บริการหรือ User ได้สร้างมูลค่า (Value Added) จากกิจกรรมที่ทำผ่านโครงข่ายเหล่านั้น หรืออีกนัย OTT เกิดขึ้นจากองค์ประกอบหลัก 3 ประการ ได้แก่ “บริการ เนื้อหา และโครงข่าย” ซึ่ง “โครงข่าย” เช่นว่านั้นเดิมทีไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับการสร้าง Content เหล่านั้นตั้งแต่แรก แต่ผู้ให้บริการ/User ได้เข้าใช้ประโยชน์ในภายหลัง เช่น การให้บริการทีวีออนไลน์ (ซึ่งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่สร้างขึ้นในตอนแรกนั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ใช้สำหรับทีวีออนไลน์เป็นการเฉพาะ)

กฎหมายที่อยู่ยังมีข้อจำกัด

โดยทั่วไป กฎหมายของประเทศส่วนมาก (รวมถึงประเทศไทย) มุ่งที่จะกำกับการจัดสรรคลื่นความถี่ การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มากกว่าที่จะกำกับเนื้อหาหรือบริการ Content ที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน อาจเพราะด้วยเหตุที่ว่าโจทย์ของรัฐในสมัยก่อน คือจะทำอย่างไรให้การจัดสรรคลื่นความถี่และการให้บริการด้านโทรคมนาคมเป็นไปอย่างทั่วถึงในแง่ของผู้บริโภค และอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เป็นธรรมในฝั่งของผู้ให้บริการ

ความตื่นตัวในการกำกับ Content บนอินเทอร์เน็ต

แม้กฎหมายในยุคก่อนหน้าจะยังไม่ค่อยชัดเจนในเรื่องการกำกับ Content บทอินเทอร์เน็ตเท่าไรนัก อย่างไรก็ดี ไม่นานมานี้เริ่มได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในเรื่องการกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น โดยผู้เขียนขอกล่าวเป็นลำดับ ดังนี้

เริ่มต้นจาก Facebook CEO ได้ให้ความเห็นว่า ภาครัฐควรต้องออกกฎเกณฑ์ชุดใหม่เพื่อใช้ป้องกันการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมอันอาจมีผลกระทบในด้านร้ายต่อประชาชน (Harmful Content) โดยกฎหมายจะต้องมีหลักการเพื่อให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ต้องเพิ่มหลักเกณฑ์ในการให้เจ้าของข้อมูลสามารถร้องขอให้หน่วยงานที่เก็บข้อมูลของตนส่งข้อมูลเหล่านั้นไปยังหน่วยงานอื่นๆ ตามที่เจ้าของข้อมูลร้องขอได้ (Data Portability) และต้องมีหลักการที่กำหนดให้ผู้ให้บริการ Social Networking Service รายต่างๆ ช่วยกันควบคุม Content ของตน และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือหาเสียง ไม่ว่าจะในประเทศใดให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและราบรื่น ซึ่งหลักการในเรื่องนี้ในทางทฤษฎีเรียกว่า “Election Integrity” ซึ่งแนวคิดของ Facebook CEO นั้นคือการมุ่งสร้างมาตรฐานสากล (Global Standard) ในการกำกับดูแล Content บนโลกออกไลน์ ในลักษณะที่สอดคล้องกับกฎหมาย GDPR (General Data Protection Regulation) ของสหภาพยุโรปนั่นเอง

เช่นเดียวกัน ความตื่นตัวในเรื่องการควบคุม Harmful Content ได้ปรากฏใน White Paper เรื่อง The Online Harms (เม.ย.2562) ของประเทศอังกฤษ โดยได้มีการเสนอให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลบริษัท Social Media จากเดิมทีที่รัฐบาลเคยส่งเสริมให้แพลตฟอร์มต่างๆ จัดการและกำกับดูแลความเหมาะสมของ Content ตนเองตามหลักการในเรื่อง Self-Regulation (ในทางปฏิบัติ Self-Regulation มักอยู่ในรูปของร่างจริยธรรมที่ผู้ดูแลเว็บไซต์ต่างๆ ตกลงร่วมกัน) โดยข้อเสนอของกฎหมายใหม่ได้มีการกำหนดให้บริษัทมีหน้าที่ดูแล Content บนแพลตฟอร์มของตนให้ไม่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และยังต้องสร้างมาตรการที่รัดกุมในการเฝ้าระวังการเผยแพร่ของเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวด้วย (ตามหลัก Duty of Care) ซึ่งหากบริษัทไม่ปฏิบัติตามย่อมมีโทษปรับ หรืออาจโดนทางการ Block การเข้าถึงเนื้อหาในเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มของตนได้

ด้วยแนวคิดไม่ต่างจากประเทศอังกฤษ เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้เสนอกฎหมายเพื่อควบคุมเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต โดยกำหนดให้ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่ามีการโพสต์เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน (False Statement) สามารถสั่งการให้ผู้ให้บริการ Social Media Sites (เช่น Facebook) ต้องดำเนินการ “เตือน” User ผู้นำเสนอเนื้อหาเช่นนั้น โดยต้องมีการแจ้งให้ User รายนั้นทราบในทันที หรือในบางกรณีทางการสามารถสั่งให้ผู้ให้บริการดำเนินการลบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือคลาดเคลื่อนเหล่านั้นออกจากหน้าเว็บไซต์ของตนได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับผู้เขียน การตระหนักถึงปัญหาของเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบนอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องสำคัญ เพราะด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยในปัจจุบันย่อมเป็นช่องทางให้มีการผลิตเนื้อหาและรูปแบบ การสื่อสารมากมายที่อาจไม่เหมาะสมและอยู่นอกเหนือการควบคุมของภาครัฐ แต่อย่างไรก็ดี การควบคุมนั้นจำเป็นต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น (Freedom of Expression/Speech) ซึ่งเป็นหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่รองรับการแสดงออกทางความคิดผ่านการสื่อสาร ไม่ว่าจะด้วยกระบวนการพูดหรือบรรยายผ่านตัวอักษร โดยไม่ว่าตัวอักษรนั้นจะปรากฏบนกระดาษหรือในโลกออนไลน์ ดังนั้น ความท้าทายสำหรับการสร้างกฎเกณฑ์ในการควบคุมเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต คือ การกำหนดมาตรการที่เหมาะสม ซึ่งมาตรการเช่นว่านั้นต้องไม่ล่วงล้ำ Freedom ของประชาชนมากจนเกินไป

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]