เข้าใจเศรษฐกิจในความขัดแย้ง

เข้าใจเศรษฐกิจในความขัดแย้ง

สงกรานต์ปีนี้ต้องบอกว่าร้อนมาก อุณหภูมิที่กรุงเทพฯเฉลี่ย 37 องศาเซลเซียสอาทิตย์ที่แล้ว ผมเองตอนแรกมีแผนไปต่างจังหวัด

แต่ก็ต้องปรับแผนเพราะอากาศร้อน เลยตัดสินใจอยู่กรุงเทพใช้เวลาส่วนใหญ่พบปะเพื่อนฝูงและอ่านหนังสือ หนังสือที่อ่านตอนนี้ชื่อ The Prosperity Paradox หรือ ข้อขัดแย้งของความมั่งคั่ง เขียนโดยศาสตราจารย์ เคลย์ตัน คริสเตนสัน(Clayton Christensen) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด(Harvard) และทีม พูดถึงบทบาทของนวัตกรรมที่สามารถขับเคลื่อนประเทศให้ออกจากความยากจนไปสู่ความมั่งคั่ง ซึ่งน่าสนใจมากและให้ข้อคิดที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศไทยขณะนี้

ศาสตราจารย์ คริสเตนสัน เป็นชาวอเมริกัน อายุใกล้เคียงกับผม ตอนแรกเรียนเศรษฐศาสตร์ และช่วงเรียนก็มีโอกาสไปทำงานเป็นอาสาสมัครในประเทศกำลังพัฒนา เห็นความทุกข์และชีวิตที่ลำบากของคนจนจึงอยากช่วย ตอนแรกอยากไปทำงานที่ธนาคารโลกเพื่อใช้ความรู้ช่วยพัฒนาประเทศยากจน แต่ช่วงนั้นธนาคารโลกมีนโยบายไม่รับคนอเมริกันเข้าทำงาน จึงมาเรียนต่อด้านธุรกิจที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จากนั้นก็เป็นอาจารย์สอนที่ฮาร์วาร์ดถึงปัจจุบัน เขียนหนังสือหลายเล่มและที่ดังมากก็คือ The Investor ‘s Dilemma ที่พูดถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่จะมีต่อความสำเร็จของธุรกิจ

ในหนังสือเรื่องความมั่งคั่งนี้ คริสเตนสันได้ประยุกต์แนวคิดเดิมของเขากับการพัฒนาประเทศว่า บทบาทของนวัตกรรมผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องสามารถสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศออกจากความยากจนไปสู่ความมั่งคั่งได้ เริ่มด้วยข้อคิดว่า เศรษฐกิจประกอบขึ้นด้วยผู้บริโภคสองกลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ มีรายได้ มีฐานะ เป็นเจ้าของทรัพย์สิน และมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ซึ่งหมายถึงคนชนชั้นกลางขึ้นไปหรือกลุ่มบน กลุ่มที่สอง คือกลุ่มคนในระดับล่างที่มีรายได้น้อย ไม่มีทรัพย์สิน ไม่มีอำนาจ ไม่มีอิทธิพลในสังคม เป็นคนจน ไม่มีอำนาจซื้อ เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่อยากบริโภค แต่ไม่สามารถทำได้เพราะไม่สามารถเข้าถึงบริการและสินค้าต่างๆ ได้ด้วยข้อจำกัดด้านรายได้ ความเป็นอยู่และราคา ศาสตราจารย์คริสเตนสัน เรียก กลุ่มคนระดับล่างนี้ว่า พวกยังไม่บริโภค หรือ Non-Comsumption ในแง่จำนวนแน่นอนว่า กลุ่มคนระดับล่างมีจำนวนมากกว่าคนกลุ่มบนมาก

ภายใต้โครงสร้างดังกล่าว เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนโดยความสนใจของธุรกิจที่ต้องการตอบสนองอำนาจซื้อในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือความต้องการของกลุ่มบนเป็นหลักเพราะมีกำลังซื้อ เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและการเติบโตของธุรกิจ ในขณะเดียวกัน สำหรับภาครัฐ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจก็จะให้ความสนใจกับตัวแปรหลักๆ ที่แสดงถึงการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น การลงทุน การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ การส่งออก ตลาดหุ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการใช้ชีวิต การหารายได้ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มบนเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น 

หนึ่ง การลงทุนในภาคเอกชนก็มุ่งให้เกิดการขยายการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่มีอำนาจซื้อซึ่งก็คือกลุ่มบน เพื่อนำมาสู่การเติบโตของรายได้บริษัท หรือลงทุนเพื่อปรับกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มส่วนกำไรให้กับธุรกิจในการขายสินค้าให้กับกลุ่มบน ทำให้เราจึงไม่ค่อยเห็นใครที่มุ่งลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มล่าง เพราะคนกลุ่มล่างไม่มีรายได้ ไม่มีอำนาจซื้อ หรือลงทุนเพื่อให้เกิดการจ้างงานหรือสร้างรายได้ให้กับคนกลุ่มล่าง หรือเพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนกลุ่มล่างดีขึ้น

สอง การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐก็เช่นกัน ทั้งหมดก็เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ หรือสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุน ซึ่งก็คือการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับเจ้าของทุน ซึ่งก็คือคนกลุ่มบนให้มีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษี การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและธุรกิจของกลุ่มคนส่วนบนมากกว่าคนกลุ่มล่าง

สาม การทุจริตคอร์รัปชันก็เช่นกัน การทุจริตคอร์รัปชั่นคือการใช้อำนาจอย่างผิดกฎหมาย ทั้งอำนาจการเมืองและอำนาจธุรกิจ เพื่อหาประโยชน์ให้กับพวกพ้องและตนเองซึ่งมักเกี่ยวข้องคนกลุ่มบนมากกว่ากลุ่มล่างเพราะคนกลุ่มบนใกล้ชิดการจัดสรรทรัพยากรของรัฐมากกว่ากลุ่มล่าง ทั้งในระดับนโยบายที่นักการเมืองและกลุ่มธุรกิจใหญ่สามารถร่วมมือกันใช้อำนาจทางการเมืองออกนโยบายหรือออกโครงการลงทุนของรัฐเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง หรือในระดับราชการที่กลุ่มธุรกิจและภาคราชการสามารถหาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน การจัดซื้อจัดจ้างและการใช้จ่ายของรัฐ หรือในระดับประชาชนที่หน่วยงานรัฐใช้อำนาจตามหน้าที่หาประโยชน์ สร้างต้นทุนเพิ่มเติมให้กับประชาชนและธุรกิจจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติตามกฎหมายของคนกลุ่มบน ที่กระทบมาถึงคนกลุ่มล่าง

การมองโครงสร้างเศรษฐกิจในบริบทนี้ แม้จะดูง่ายๆ แต่ก็มีพลังและชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้ง(Contradiction)หรือความไม่สอดคล้องที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่เหมือนมีสองระบบซ้อนอยู่ในเศรษฐกิจเดียวกัน เป็นสองระบบที่ไม่ไปด้วยกัน เป็นความขัดแย้งที่สามารถให้คำตอบต่อหลายปัญหาที่เศรษฐกิจอย่างไทยเองประสบอยู่ขณะนี้ เช่น

หนึ่ง ทำไมเศรษฐกิจมีตัวเลขการเติบโตที่ดูดี แต่ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่าความเป็นอยู่ไม่ดี คำตอบก็คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีสะท้อนการเติบโตของเศรษฐกิจของคนกลุ่มบนที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนของภาครัฐ แต่ประโยชน์จากกิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้ส่งผ่านถึงคนกลุ่มล่างในแง่การมีงานทำหรือการเติบโตของรายได้ ทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่า ความเป็นอยู่ไม่ดีและความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น แม้เศรษฐกิจจะขยายตัว

สอง ทำไมการเมืองในประเทศจึงรุนแรงในแง่การต่อสู้ชิงตำแหน่งทางการเมือง คำตอบก็คือ อำนาจทางการเมืองสามารถสร้างประโยชน์ได้มหาศาล จากการควบคุมนโยบาย ควบคุมการใช้ทรัพยากรภาครัฐ และควบคุมการปฏิบัติงานของหน่วยราชการ ทำให้ผู้มีอำนาจอยู่ไม่อยากเสียอำนาจเหล่านี้ไป ขณะที่คนอื่นก็อยากได้อำนาจแบบเดียวกันการต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจจึงรุนแรง ทั้งต่อสู่กับคนในกลุ่มบนด้วยกันเองที่อยากได้อำนาจ อยากเป็นรัฐบาล และต่อสู้กับคนกลุ่มล่างที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

สาม ทำไมการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นจึงยาก คำตอบก็คือ การทุจริตคอร์รัปชั่นเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับเศรษฐกิจของกลุ่มบน คอร์รัปชั่นส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ ซึ่งทำได้ง่ายภายใต้โครงสร้างที่เอื้อต่อการหาประโยชน์โดยการละเมิดอำนาจและระบบการตรวจสอบที่อ่อนแอ ดังนั้น เมื่อคอร์รัปชั่นมาจากการทำหน้าที่ของคนกลุ่มบน การแก้คอร์รัปชั่นอย่างเด็ดขาดแข็งขันโดยข้าราชการ นักการเมืองและบริษัทธุรกิจ จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ​

นี่คือความไม่สอดคล้องที่นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม เป็นความไม่สอดคล้องที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ชอบและอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง ในกรณีของประเทศเราก็เหมือนกัน เห็นได้จากผลการเลือกตั้งที่ออกมา ที่ประมาณครึ่งหรือมากกว่าครึ่งของผู้ที่มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงต้องการการเปลี่ยนแปลง สะท้อนว่า ถ้านโยบายและการลงทุนยังไม่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่และความอยากเป็นผู้บริโภคของประชาชนกลุ่มล่าง ก็ยากที่ประเทศจะสามารถก้าวข้ามความยากจนไปสู่ความมั่งคั่งได้

ตรงกันข้าม การลงทุนและการทำนโยบายที่สร้างรายได้และอำนาจซื้อให้กับคนกลุ่มล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ผ่านนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ดีขึ้น ก็คือการสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศดีขึ้น และเมื่อคนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ความขัดแย้งและปัญหาต่างๆ ที่ประเทศมีก็จะลดลง ดังนั้น โจทย์ของเราตอนนี้ คือ พัฒนาประเทศให้ความเป็นอยู่ของคนในประเทศส่วนใหญ่ดีขึ้น เพื่อลดความขัดแย้ง ไม่ใช่ต้องการลดความขัดแย้งทั้งที่ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ยังไม่ดี และประเทศไม่มีการพัฒนาอย่างที่ควร