กำเนิดรัฐในยุโรปที่เน้นการสะสมทุน

กำเนิดรัฐในยุโรปที่เน้นการสะสมทุน

เวนิสมีอิทธิพลบริเวณช่วงบนของทะเล Adriatic ไล่ตั้งแต่ Ravena ทางใต้ไปจนถึง Trieste ทางตะวันออกเฉียงเหนือ

 อย่างไรก็ตาม เวนิสประสบกับมหาอำนาจรอบด้านที่เข้าแข่งขันโดยรอบ ด้านเหนือ/ใต้มีจักรวรรดิโรมัน ด้านตะวันตกมีสเปนกับออสเตรีย ด้านตะวันออกที่เป็น Dalmatia (Dubrovnik ปัจจุบัน) มีผลัดหน้ากันมาหลายมหาอำนาจ 

Byzantine มีอำนาจเหนือเวนิสตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 เวนิสทำหน้าที่เป็นเพียงสถานีขนถ่ายสินค้าที่จะไปทางเหนือของอิตาลีภายใต้ระบบการค้าภายในจักรวรรดิ Byzantine พ่อค้าชาวเวนิสทำการแลกเปลี่ยนเกลือ ปลา และ ของมีค่าจากตะวันออก กับ ธัญญาหารและของจำเป็นอื่น ๆ จากทางเหนือ เมื่อออกทะเล พวกเขาจะเพิ่มทาสกับไม้ซุงเป็นสินค้าด้วย 

การเดินเรือในสมัยนั้น ถูกจำกัดด้วยการต่อเรือซึ่งหมายถึงว่า จะต้องเดินเรือตามชายฝั่ง มีเส้นทางน้อยด้วยถูกจำกัดจากกระแสน้ำ/ลม จะต้องเติมน้ำจืดกับของใช้บ่อยครั้ง และ จะต้องหลบหลีกโจรสลัดให้ดี ดังนั้นไม่มีมหาอำนาจทางทะเลใดที่จะปราศจากท่าเรือตามรายทางจากบ้านได้เลย การมีท่าเรือรายทางทำกำไรให้หลายเท่าตัวจาก 1) เส้นทางเดินเรือที่ไกล 2) การค้าตามท่าเรือต่าง ๆ และการใช้ท่าเรือเป็นฐานให้แก่โจรสลัดที่จะทำกับมหาอำนาจอื่น 

Byzantine มีอำนาจถึงจุดสูงสุดในศตวรรษที่ 10 เวนิสจึงมีปัจจัยพื้นฐานในการเป็นมหาอำนาจทางทะเลในเมดิเตอเรเนียนดังกล่าวข้างต้นทุกประการจนกระทั่งการแผ่ขยายอำนาจของจักรวรรดิออตโตมันในศตวรรษที่ 15 

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 เวนิสเริ่มไล่คู่แข่งในย่านนั้นออกไปจาก Adriatic ตั้งแต่ Dalmatians, Hungarians Saracens (อาหรับ) และ Normans (พวกไวกิ้งในอิตาลี) เวนิสยังได้สิทธิพิเศษการค้าในอาณาจักร Byzantine ด้วยการช่วยรบกับศัตรูของจักรพรรดิ ในศตวรรษที่ 12 เวนิสควบคุมการค้าในย่านตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียนได้ทั้งหมดและได้กำไรมหาศาลจากลูกผสมของกิจกรรมการค้า โจรสลัด การยึดครอง และ การร่วมใน Crusade ในศตวรรษที่ 13 เวนิสยึดจักรวรรดิ Byzantine ได้ถึง 3/8 และยึดเกาะของกรีซแจกให้กับครอบครัวผู้มีอำนาจของเวนิส ซึ่งเป็นพ่อค้าและนักธนาคารรายสำคัญของเวนิสเอง 

การควบคุมการเดินเรือทำให้เวนิสได้โอกาสในการขนส่งผู้ไปร่วมสงคราม Crusade ถึงขั้นที่ว่ารายได้จากแหล่งนี้มีมูลค่าถึง 2 เท่าของกษัตริย์อังกฤษในยุคนั้น แต่เวนิสไม่ได้มองข้ามฝ่ายมุสลิมไปด้วย หลังจากจักรวรรดิออตโตมันยึด Tripoli ได้ เวนิสขอทำสัญญารักษาสิทธิสถานีการค้าที่นั่น 

เมืองอื่น ๆ ในย่านทะเล Adriatic ต่างพยายามดิ้นรนให้พ้นจากอำนาจของเวนิส เช่น Trieste ขออยู่ใต้อำนาจออสเตรียในปี ค.ศ. 1382 Dubrovnik ขออยู่ใต้อำนาจฮังการีในทศวรรษที่ 1350 และภายใต้จักรวรรดิออตโตมันในทศวรรษที่ 1460 

Genoa ที่ตั้งอยู่คนละฟากของคาบสมุทรอิตาลี ถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญของเวนิสในยุคเดียวกัน Genoa ค้าขายด้านตะวันตกของทะเลเมดิเตอเรเนียนและชายฝั่งแอตแลนติค แต่ในขณะเดียวกันเป็นคู่แข่งในทะเลดำและสามารถบล็อคเวนิสออกจากทะเลดำได้ในศตวรรษที่ 13 เวนิสสามารถเอาชนะพร้อมจับกองเรือ Genoa ได้ที่ Chioggia (ทางเหนือของเวนิส) ในศตวรรษที่ 14 และกลับมาเป็นใหญ่ในทะเลดำได้อีกครั้งหนึ่ง

แม้ว่า อุตสาหกรรมและการค้าจะกลายมาเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญแทนการเดินเรือตั้งแต่ศต วรรษที่ 13 แต่เวนิสก็ยังเป็นกุญแจสำคัญของการค้าในทะเลเมดิเตอเรเนียนและเป็นมหาอำนาจทางทหารที่ยึดครองตั้งแต่ไซปรัสจนถึงเกาะ Crete เวนิสทำสงครามต่าง ๆ เพื่อรักษาโอกาสทางการค้าและกีดกันคู่แข่งอย่าง Genoa ที่สำคัญเวนิสได้ชื่อเสียงว่าทำสงครามอย่างฉลาดและประสบความสำเร็จโดยที่มีต้นทุนต่ำมาก 

ธรรมชาติการค้าของเวนิสอำนวยให้กลายเป็นรัฐที่ยืดหยุ่นแต่อันตราย เวนิสไม่เหมือนกับดัชท์ที่ขนส่งสินค้าที่เปลืองพื้นที่ เช่น ธัญญาหาร เกลือ และไวน์ แต่จะขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น เครื่องเทศ ผ้าไหม และทาส เหนืออื่นใดพวกเขาขนส่งทองคำบ่อยครั้ง ดังนั้นประสิทธิภาพ การผูกขาดและการป้องกันจากพวกปล้นสะดมจึงเป็นเรื่องจำเป็น รัฐจะเป็นผู้จัดเรือและกองเรือป้องกันให้ พ่อค้าจะต้องไปพร้อมกันในเรือของรัฐและจะต้องซื้อสินค้าชนิดเดียวพร้อมกัน เพื่อไม่ให้แข่งขันกันเองจนราคาแพง 

รัฐสภาเวนิสจะประกอบด้วยครอบครัวสำคัญๆ ที่มีอำนาจเลือกผู้ว่าราชการซึ่งจะต้องปรึกษากับคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของทุกชุมชนในการบริหารราชการ ดังนั้น ครอบครัวสำคัญ ๆ จึงมีอิทธิพลเหนือนโยบายรัฐ

รัฐเวนิสไม่เคยมีขนาดเทอะทะ อาจจะมีการกู้เงินเพื่อทำสงครามบ้าง แต่ก็ชำระคืนด้วยภาษีศุลกากรและสรรพสามิต 

ในศตวรรษที่ 14 เมื่อรัฐทางเหนือของอิตาลีคุกคามแหล่งอุปทานวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมของเวนิสและเส้นทางขนส่งสินค้าข้ามภูเขาแอลป์ เวนิสดำเนินสองมาตรการคือ การยึดครองแผ่นดินใหญ่อิตาลีและการสร้างพันธมิตรกับรัฐอื่นทางเหนือ กล่าวคือ การร่วมมือกับ Castile (สเปน) และ German เพื่อรบกับฝรั่งเศส ในขณะเดียวกันก็ต้องรบกับจักรวรรดิออตโตมันที่กำลังคืบคลานเข้ามาทางตะวันออก 

เวนิสหันไปใช้ทหารรับจ้างเป็นครั้งแรกโดยวิธีส่งข้าหลวงไปกำกับด้านการส่งกำลังบำรุง บาง ครั้งกำกับแม้แต่ยุทธศาสตร์ หลังจากนั้นเริ่มมีการเกณฑ์ทหารและส่งพวกนักโทษไปพายเรือรบ 

สงครามที่ขยายตัวทำให้เวนิสต้องใช้จ่ายมากและเวนิสจำเป็นต้องบังคับขอกู้เงินและเก็บภาษีทรัพย์สิน ตลอดจนการถ่ายเทภาระบางส่วนให้องค์กร/ประชาชนรับไป อย่างไรก็ตาม เวนิสสามารถบริหารจัดการหนี้ได้จนชำระหมดในราวต้นศตวรรษที่ 17 ในขณะที่ประเทศยุโรปอื่นๆ ยังมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

อำนาจทางการค้าของเวนิสเริ่มถดถอยลงตั้งแต่ก่อน ค.ศ. 1600 ด้วยเหตุที่จักรวรรดิออตโตมันปิดกั้นเวนิสจากทะเลดำและตะวันตกของทะเลเมดิเตอเรเนียน พร้อม ๆ กับการล้อมประชิดเข้ามาของออสเตรีย ฝรั่งเศส และ ออตโตมัน ความขาดแคลนไม้ซุงทำให้การต่อเรือเป็นไปไม่ได้และการเดินเรืออ้อมอัฟริกาสู่อินเดียของปอร์ตุเกสทำลายการผูกขาดเรื่องเครื่องเทศของเวนิส ตามมาด้วยการแข่งขันจาก Dutch and British East India ที่เหนือกว่าเสียอีก 

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เวนิสไม่สามารถกีดกันประเทศอื่นจากทะเล Adriatic ได้อีกต่อไป เมื่อถึงศตวรรษที่ 18 Ragusa (Dubrovnik) Treiste และ Ancona (ทางใต้ของเวนิส) กลายเป็นคู่แข่ง

เวนิสจึงมีทางเลือกเหลือเพียง การทำอุตสาหกรรมมากขึ้นและดำเนินนโยบายทางทหารและการทูตที่เป็นกลาง แต่เวนิสก็หนีไม่พ้นจุดจบ เมื่อ Napoleon บุกในปี ค.ศ. 1797 หลังจากนั้นอยู่ภายใต้อำนาจออสเตรีย 

ตัวอย่างประเทศที่ใช้แนวทางการสะสมทุนเป็นหลักเพียงอย่างเดียวอย่าง เวนิส Genoa Ragusa Milan Florence แม้แต่ Holland Catalonia หรือ Hanse ต่างประสบกับชะตากรรมเดียวกันคือ ไม่มีขีดความสามารถในการป้องกันตนเองให้อยู่รอดได้