สมการทางคณิตศาสตร์ กับสมการทางสังคม

สมการทางคณิตศาสตร์ กับสมการทางสังคม

เรื่องนี้เขียนก่อนไปลงคะแนนเลือกตั้ง เป็นเรื่องสมการทางคณิตศาสตร์ กับสมการทางสังคม (Mathematical Equation VS Social Equation)

ที่มีความต่างในความเหมือน 

เป็นเรื่องของความโหลยโท่ยของโครงการประเภทลดแลกแจกแถมถ้วนหน้าของพรรคการเมืองที่เอามาเป็นนโยบายหาเสียงโค้งสุดท้าย เพราะอยากให้ประชาชนรับรู้ว่านโยบายแบบนี้สร้างความไม่เท่าเทียมกันในสังคมอย่างไร

สมการทางคณิตศาสตร์นั้นตรงไปตรงมา เพราะ 1+1=2, 2+2=4, 3+3=6 เป็นเช่นนี้เท่ากันทั้งสองข้างของสมการที่ใครๆ ก็รู้ แต่สมการทางสังคมนั้นแตกต่าง เนื่องจาก 1+1 อาจเท่าหรือไม่เท่ากับ 2 หรืออาจเท่ากับ 0,1,3 หรือตัวเลขอื่น เพราะผลลัพธ์ทางสังคมนั้นไม่ใช่แค่ output แต่เป็น outcome ซึ่งหมายถึงผลกระทบอย่างอื่นที่ตามมา

ฉะนั้นในทุกโครงการที่พรรคการเมืองเสนอเป็นนโยบายเพื่อประชาชนแบบถ้วนหน้า เท่ากันหมด อายุ 60, 70,80 ได้เบี้ยผู้สูงอายุเท่ากัน ประชาชนทุกคนที่ไม่มีสวัสดิการข้าราชการหรือประกันสังคมได้รับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเหมือนกัน และอีกมากมายนับสิบๆ โครงการที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอมานั้น เป็นเพียงความเท่าเทียมในทางคณิตศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช่การสร้างความเท่าเทียมกันในทางสังคม ทั้งนี้เพราะคนทุกคนแม้จะเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่สถานภาพทางด้านเศรษฐกิจสังคมการเมืองหรือการศึกษานั้นแตกต่างกัน ต่างคนต่างก็มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่เอาไปเปรียบเทียบกันไม่ได้

เพราะฉะนั้น นโยบายแจกแบบถ้วนหน้าที่จะทำให้ความไม่เท่าเทียมกัน หรือจะเรียกว่าเหลื่อมล้ำกันให้หายไปนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะทุกคนได้รับผลจากนโยบายเท่ากันหมด ความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐานะจึงยังคงติดตัวของแต่ละคนต่อไป และอาจเพิ่มมากขึ้น ช่วงห่างขยายออกไปอีก เพราะคนที่มีฐานะดีมีความรู้ดีก็ย่อมใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ได้จากรัฐต่อยอดได้ดอกผลเพิ่มเติม ในขณะที่คนยากจนไม่มีความรู้ไม่มีงานทำก็คงได้แค่พอมีกินมีใช้ไปวันๆ นโยบายที่มาจากสมการทางคณิตศาสตร์จึงไม่ตอบโจทย์ของสังคมอย่างแท้จริง

หันมาดูแนวทางสมการทางสังคม จะพบว่าผลรวมที่ได้จากข้างหนึ่งของสมการอาจไม่เท่าผลรวมอีกข้างหนึ่งเสมอไป เพราะผลรวมอีกข้างหนึ่งนั้นมาจากผลกระทบหรือผลลัพธ์ (Impact) ที่อาจมีผลกว้างไกลกว่าผลรวมของอีกข้างหนึ่ง ถ้าเอามาเปรียบเทียบทางสถิติจะเห็นภาพชัดขึ้น เช่นสมการถดถอยเชิงซ้อนที่เรียกว่า Multiple Regression จะพบว่า ลักษณะของสมการจะเป็น y = a + b1x1 + b2x2 +b3x3 ต่อไปเรื่อยๆ แต่จะจบลงที่ + e และ e นี่แหละที่สร้างความแตกต่าง เพราะ e คือ error หรือความคลาดเคลื่อน ที่จะเกิดขึ้นเสมอในทุกสมการ e หรือความคลาดเคลื่อนตัวนี้แหละที่ทำให้สมการทางสังคมแตกต่างจากสมการทางคณิตศาสตร์

สมการทางคณิตศาสตร์ กับสมการทางสังคม

เคยเห็นภาพๆ หนึ่ง ที่แสดงถึงคน 3 คน (หรืออาจมากกว่าก็ได้) ที่สูงไม่เท่ากัน ยืนอยู่ข้างสนามที่มีรั้วทึบกั้นสายตา เพื่อที่จะดูการแข่งขันฟุตบอลในสนาม ถ้าเราเอาลังไม้สูงเท่ากันให้ทั้งสามคนยืน อาจเป็นไปได้ว่าคนที่สูงอันดับหนึ่งจะเห็นการแข่งขันฟุตบอลอย่างดีเพราะรั้วต่ำกว่าระดับสายตา คนที่สูงรองลงมา อาจจะพอเห็นฟุตบอลที่แข่งถ้าสายตาอยู่ในระดับพอดีกับความสูงของรั้ว แต่อาจดูได้ไม่ถนัดนัก ส่วนคนที่สามที่เตี้ยสุด แม้จะยืนอยู่บนลังที่ขนาดความสูงเท่ากันกับสองคนแรก แต่อาจยังคงไม่เห็นการแข่งขันเพราะระดับสายตายังต่ำกว่ารั้วทึบ นี่เป็นหลักสมการทางคณิตศาสตร์ ที่ให้ทุกคนเท่ากันหมด แต่ความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกันก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม จากการที่ทั้งสามคนสูงไม่เท่ากันตั้งแต่แรก

ทีนี้ถ้าเอาลัง 3 ลังที่มีความสูงไม่เท่ากัน โดยลังที่ให้คนสูงสุดยืนมีความเตี้ยที่สุดหรือไม่ต้องมีลังเลย คนที่มีความสูงลดลงมาให้ยืนบนลังที่มีความสูงมากกว่าของคนแรก และให้คนที่สามที่เตี้ยที่สุดได้ยืนบนลังที่สูงที่สุด อย่างนี้ ทั้งสามคนก็มีโอกาสเห็นการแข่งขันฟุตบอลในสนามเหมือนกันหมด นั่นเพราะการให้ที่แยกแยะตามความจำเป็นและต้องการของแต่ละคนทำให้คนที่ต่ำเตี้ยมากสุดก็มีโอกาสเท่าเทียมกับคนที่ตัวสูงที่สุด นี่เป็นหลักการสร้างความเท่าเทียมกันทางสังคม

ถึงได้บอกว่า นโยบายลดแลกแจกแถมของพรรคการเมืองทั้งหลายที่ให้ทุกคนเท่ากันหมดนั้นก็ไม่ต่างจากการให้ลังไม้ขนาดเท่ากันแก่คนที่สูงไม่เท่ากัน คนที่เห็นก็ยังเห็น ส่วนคนที่ไม่เห็นก็อาจยังไม่เห็น นอกจากจะเปลี่ยนลังไม้ที่ให้ยืนนั้นสูงขึ้นไปอีกสำหรับคนที่เตี้ยที่สุด ความเท่าเทียมกันในทางสังคม ไม่สามารถแก้ได้โดยใช้สมการทางคณิตศาสตร์ แต่ต้องเป็นสมการทางสังคมเหมือนดังเช่นสมการทางสถิติที่ถือเป็นสมการทางสังคมที่แท้จริง

เพราะพรรคการเมืองที่ลดแลกแจกแถมแบบเท่ากันหมดนี้ คงไม่มีนโยบายลดความไม่เท่าเทียมกันหรือความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นเพียงนโยบายประชานิยมที่ต้องการให้ประชาชนเสพติดจากการลดแลกแจกแถมเท่านั้นเอง