เทคโนโลยีสาเหตุความอ่อนแอของมนุษย์?

เทคโนโลยีสาเหตุความอ่อนแอของมนุษย์?

ในช่วงวันหยุดยาวนี้ ขอชวนท่านผู้อ่านมาคิดกันเรื่องเบาๆ กันบ้าง นั้นคือเรื่องของผลกระทบจากพัฒนาการของเทคโนโลยี

ซึ่งส่วนใหญ่เรามักจะคิดกันในเชิงบวก แต่ในอีกมุมมองหนึ่งเริ่มมีกระแสแนวคิดว่า จริงๆ แล้วพัฒนาการของเทคโนโลยีนั้นกลับทำให้มนุษย์อ่อนแอลง ท่านผู้อ่านลองสังเกตตัวท่านเองหรือบุคคลรอบๆ ตัวท่านดูว่าพัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้ท่านอ่อนแอหรือเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เหล่านี้หรือไม่

เริ่มจากความจำ เทคโนโลยีทำให้เราไม่ต้องจดจำสิ่งต่างๆ มากเหมือนในอดีต ไม่ว่าจะเป็นวันเกิดคนรอบตัว เบอร์โทรศัพท์ นัดหมาย เหตุการณ์ต่างๆ หรือสิ่งที่จะต้องทำ เป็นต้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องจำนั้น เทคโนโลยีสามารถทำแทนมนุษย์ได้ทั้งสิ้น

ต่อมาคือเรื่องของความอดทน ในอดีตที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าเช่นในปัจจุบัน เพื่อให้ได้มาซึ่งหลายสิ่งหลายเรื่อง มนุษย์จะต้องเรียนรู้ที่จะอดทนหรือรอ แต่เทคโนโลยีทำให้เราไม่ต้องรออีกต่อไป (หรือถ้าต้องรอ ก็รอไม่นาน) เช่น อยากจะรู้เรื่องอะไรก็ใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที ข้อมูลความรู้ที่ต้องการก็ปรากฏขึ้นบนหน้าจอโทรศัพท์ได้ทันที พฤติกรรมของคนในปัจจุบันจะเป็นลักษณะของ IWWIWWIWI (I want what I want when I want it) กันมากขึ้น

นอกจากนี้มนุษย์ปัจจุบันก็จะรู้จักที่จะวางแผนในชีวิตกันน้อยลง หลายๆ ท่านอาจจะจำได้ว่าในอดีตเวลาจะนัดหมายกับเพื่อน ก็จะวางแผนกันไว้อย่างดิบดี ว่าจะเจอกันที่ไหน เวลากี่โมง แล้วจะไปดูหนังเรื่องอะไร และรอบอะไรบ้าง แต่สำหรับคนรุ่นใหม่จำนวนมาก การวางแผนในลักษณะดังกล่าวไม่ได้มีความจำเป็นอีกต่อไป เพียงแค่รู้ว่าจะนัดกันวันไหนก็พอ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้นเอาไว้ตกลงกันเช้าวันนั้นหรือหน้างานเลย ทั้งนี้เพราะการสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว ทำให้ความจำเป็นในการวางแผนลดน้อยลง

ขณะเดียวกันสมาธิของมนุษย์ก็สั้นลง หรืออาจจะเรียกได้ว่าแทบไม่เหลือ เนื่องจากสิ่งที่เรียกกันว่า Digital Distraction ที่คอยดึงดูดความสนใจ และรบกวนสมาธิตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดา Notification ต่างๆ ที่ปรากฏบนหน้าจอมือถือ

การถือกำเนิดของสื่อสังคมออนไลน์ ก็ทำให้มนุษย์เข้าใจผิดว่าตนเองมีสังคม มีเพื่อนมากมาย แต่ขณะเดียวกันทักษะ หรือความสามารถในการเข้าสังคมแบบเจอหน้า ปฏิสัมพันธ์กันจริงๆ นั้นกลับถดถอยลง หลายคนอาจจะเก่งต่อหน้าคีย์บอร์ดหรือจอคอมพิวเตอร์ แต่ทักษะในการทำความเข้าใจต่อบุคคลอื่น การทำงาน และอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นกลับหดหายลง

ที่น่ากลัวสุดคือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Digital/Technology Addiction หรือการเสพติดต่อเทคโนโลยี ซึ่งคือการที่มนุษย์ใช้เวลากับเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง (จนเหมือนกับเสพติด) ในสหรัฐมีงานวิจัยที่พบว่าผู้ใหญ่ใช้เวลาเกือบ 11 ชั่วโมงต่อวันในโลกดิจิทัล ทั้งการทำงาน (หน้าจอคอมพิวเตอร์) หรือระหว่างการรอ (หน้าจอมือถือ) หรือระหว่างการพักผ่อน (กับสื่อสังคมออนไลน์) ทั้งนี้เนื่องจากในระยะหลังเริ่มมีงานวิจัยออกมามากขึ้น ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราหรือระยะเวลาที่อยู่ในโลกดิจิทัล กับปัญหาต่างๆ ทางจิต

มีงานวิจัยที่พบว่าคนที่เล่นสื่อสังคมออนไลน์ในหลายๆ แพลตฟอร์มพร้อมๆ กันนั้น จะมีโอกาสเกิดอาการซึมเศร้า หดหู่ และวิตกกังวล มากกว่าคนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพียงแค่ 2 แพลตฟอร์ม ขณะเดียวกันมีงานวิจัยที่พบว่าพัฒนาการทางจิตของวัยรุ่นจะชะลอตัวลง แต่อาการซึมเศร้า หรือรู้สึกโดดเดี่ยวจะแปรผันตามอัตราการใช้เทคโนโลยี

สรุปแล้วเหมือนกับจะสรุปได้ว่าพัฒนาการของเทคโนโลยีจะทำให้มนุษย์อ่อนแอลงในหลายๆ ด้าน ทั้งความจำที่ไม่ดี ขาดความอดทน ขาดการวางแผน สมาธิสั้นลง ขาดทักษะทางสังคม และที่อันตรายสุดคือนำไปสู่อาการซึมเศร้า วิตกกังวล และความรู้สึกที่โดดเดี่ยวมากขึ้น แต่จริงๆ เทคโนโลยีนั้นก็มีประโยชน์ เพียงแต่มนุษย์คงจะต้องรู้จักที่จะเลือกใช้ และรู้จักที่จะเดินสายกลาง ที่ไม่มากหรือน้อยเกินไป แต่ใช้เทคโนโลยีในระดับที่เหมาะสม ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับชีวิต แต่ก็ไม่ทำให้ชีวิตอ่อนแอลง