ไทยจะไม่เป็นเช่นเวเนซุเอลา แต่อย่านิ่งนอนใจ

ไทยจะไม่เป็นเช่นเวเนซุเอลา แต่อย่านิ่งนอนใจ

ในช่วงนี้ มีคำเตือนปรากฏในสื่อต่างๆ ว่าไทยอาจเป็นเช่นเวเนซุเอลา ถ้าไม่เลิกใช้นโยบายประชานิยมแนวเลวร้าย

หรือแบบให้เปล่าจนเกินศักยภาพทางการเงินของรัฐ แต่ผมมองว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น จริงอยู่ ก่อนการเลือกตั้งเมื่อปลายเดือน มี.ค. พรรคการเมืองเล็กใหญ่เสนอแนวนโยบายที่มองได้ว่าเป็นประชานิยมชนิดเข้มข้นขึ้นจากแนวที่ได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2544 แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยต่างกับของเวเนซุเอลาอย่างมีนัยสำคัญ ผมมองว่าถ้ารัฐบาลหน้าและรัฐบาลต่อๆ ไปไม่หยุดยั้งการใช้นโยบายแนวให้เปล่าซึ่งเป็นเสมือนยาเสพติดร้ายแรงนี้ เมืองไทยจะมีลักษณะคล้ายอาร์เจนตินา

ภาพและข้อความในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับเวเนซุเอลาในช่วงนี้มักสะท้อนการขาดแคลนอาหารแสนสาหัสของชาวเวเนซุเอลา ส่งผลให้ส่วนหนึ่งออกมาร่วมก่อการประท้วงอย่างขว้างขวางซึ่งนำไปสู่การจลาจลและจำนวนมากเดินทางออกนอกประเทศเพื่อแสวงหาอาหารและงาน จากมุมมองของสภาพทางภูมิศาสตร์ ชาวเวเนซุเอลาไม่น่าจะขาดแคลนอาหารแสนสาหัส ทั้งนี้เพราะประเทศมีพื้นที่กว้างใหญ่ตั้งอยู่ในเขตร้อนที่มีแหล่งน้ำและเคยทำเกตรกรรมมาก่อน การขาดแคลนอาหารเป็นผลพวงของนโยบายพัฒนาประเทศหลังค้นพบน้ำมันปิโตรเลียมปริมาณมหาศาล

รายได้จากการขายน้ำมันทำให้รัฐบาลหลงผิดคิดว่าจะพัฒนาเวเนซุเอลาให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมหนักได้พร้อมกับให้สวัสดิการสูงแก่ประชาชน นโยบายแนวนี้มีผลทำให้เกตรกรรมไม่ได้รับความใส่ใจและชาวชนบทอพยพเข้าเมืองเพื่อทำงานในโรงงานและในภาคบริการพร้อมกับรับสวัสดิการจากรัฐ การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหนักมักไม่ประสบผลสำเร็จตามคาดเพราะปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความฉ้อฉล การขาดความรู้ด้านเทคนิคและการขาดความสามารถในด้านการบริหารจัดการ รัฐบาลต้องสูญเงินทุนจำนวนมากจากการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทำให้ต้องพึ่งรายได้จากการขายน้ำมันเพียงอย่างเดียวเพื่อซื้ออาหารและเพื่อการใช้จ่ายทุกอย่าง ในช่วงที่ขายน้ำมันได้ในราคาสูง เวเนซุเอลาไม่มีปัญหาและมักพยายามขยายการใช้จ่ายโดยไม่เก็บออมรายได้ไว้เพื่ออนาคต เมื่อน้ำมันราคาตกมาก เวเนซุเอลามักประสบปัญหาแบบทันตาเห็น

เวเนซุเอลาเคยล้มละลายเพราะใช้นโยบายไม่เหมาะสม แต่การล้มละลายมิได้ทำให้รัฐบาลตระหนักถึงกับปรับเปลี่ยนนโยบายไปในทางที่เหมาะสม ตรงข้าม มักกลับเพิ่มความเข้มข้นของนโยบายประชานิยมแนวเลวร้าย

ทางด้านอาร์เจนตินา ก่อนการเริ่มใช้นโยบายประชานิยมแนวเลวร้าย โครงสร้างทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาต่างกับของเวเนซุเอลามากเนื่องจากอาร์เจนตินาไม่มีน้ำมันแต่มีภาคเกตรกรรมขนาดใหญ่ ในด้านแนวการพัฒนาก็ต่างกันเพราะเมื่ออาร์เจนตินาเริ่มพัฒนาภาคอุตสาหกรรม อาร์เจนตินามิได้ละทิ้งเกษตรกรรม ฉะนั้น ทุกครั้งที่อาร์เจนตินาประสบภาวะล้มละลายจากนโยบายประชานิยม ชาวอาร์เจนตินาผลิตอาหารได้เองอย่างเพียงพอ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าชาวอาร์เจนตินาจะไม่ออกมาประท้วงจนเกิดจลาจลในแนวเดียวกัน อันที่จริง การประท้วงในอาร์เจนตินามีผลร้ายแรงกว่าในเวเนซุเอลามากเนื่องจากมันเคยทำให้รัฐบาลทหารเข่นฆ่าประชาชนหลายหมื่นคน

โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยคล้ายของอาร์เจนตินาในแง่ที่มีภาคเกษตรกรรมขนาดใหญ่ เมืองไทยจะผลิตอาหารได้เพียงพอแม้ในวันหนึ่งข้างหน้านโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายจะทำให้เมืองไทยล้มละลายก็ตาม แต่การไม่ขาดแคลนอาหารแสนสาหัสในช่วงที่เศรษฐกิจโดยรวมล้มละลายมิได้หมายความว่าเมืองไทยจะไม่มีจลาจลที่นำไปสู่การฆ่าฟันกันอย่างกว้างขวาง ประวัติศาสตร์ของอาร์เจนตินาชี้ชัดว่ามันน่าจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ยิ่งในตอนนี้มีรัฐบาลทหารพร้อมกับความขัดแย้งทางการเมืองสูงซึ่งแต่ละฝ่ายต่างมุ่งใส่ร้ายกันด้วยวาทกรรมจำพวกปลุกปั่นแนวจงเกลียดจงชังผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ โอกาสที่เหตุการณ์จะขยายไปสู่ความเลวร้ายเช่นเดียวในอาร์เจนตินายิ่งมีสูงขึ้น

แม้เมืองไทยจะไม่มีโอกาสขาดแคลนอาหารแสนสาหัสเช่นเวเนซุเอลา แต่ถ้าไม่อยากเห็นเมืองไทยเดินไปในแนวอาร์เจนตินาซึ่งรัฐบาลทหารฆ่าประชาชนนับหมื่น ในระยะสั้น ทุกฝ่ายต้องหยุดปะทะกันด้วยวาทกรรมจำพวกปลุกปั่น หรือใส่ร้าย และในระยะยาว ลดความฉ้อฉลและความเข้มข้นของนโยบายประชานิยมแนวเลวร้ายทั้งที่เสนอไว้ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาและที่ดำเนินการมานานแล้ว