คำสาปภาคเหนือของจีน

คำสาปภาคเหนือของจีน

สมัยก่อนเวลาพูดถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคของจีน เรามักจะพูดกันว่าพื้นที่ภาคตะวันออก (ฝั่งติดทะเล) ของจีนร่ำรวย

ส่วนพื้นที่ภาคตะวันตก (มณฑลตอนใน) ของจีนนั้นยากจน

สาเหตุมาจากการที่ภาคตะวันออกมักเป็นเมืองท่าติดทะเล ได้เริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจก่อน โดยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาทำอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก

แต่ปรากฏว่า ถ้ามาดูกันวันนี้ จะพบว่าความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจของจีนกลายมาเป็นความแตกต่างระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ นั่นคือเศรษฐกิจภาคเหนือชะงักงัน ส่วนเศรษฐกิจภาคใต้เจริญรุ่งเรือง  หาใช่ความต่างระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันตกเช่นในอดีต

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนทุ่มเทกับการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตกและตอนในของประเทศ ทำให้ปัจจุบันภาคตะวันตกและตอนในของจีนเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำไม่มีเช่นในอดีต แต่ตรงกันข้าม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มณฑลตอนเหนือของจีนกลับประสบปัญหาการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จนเรียกได้ว่าติดหล่มอยู่กับที่

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 เป็นต้นมา ขนาดเศรษฐกิจของพื้นที่ตอนเหนือของจีนเทียบกับขนาดเศรษฐกิจทั้งประเทศมีสัดส่วนลดลงเรื่อยๆ ปี ค.ศ. 2016 ลดลงเหลือเพียง 40% และลดลงอย่างต่อเนื่องจนปี ค.ศ. 2018 เหลือ เพียง 38%

ในปี ค.ศ. 2018 มณฑลที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจดีที่สุด 10 มณฑลของจีน มีเพียงมณฑลเดียวที่เป็นมณฑลตอนเหนือ นั่นก็คือมณฑลส่านซี ส่วนอีก 9 มณฑลที่เหลือล้วนเป็นมณฑลตอนใต้ของประเทศ ในขณะที่พื้นที่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำที่สุด 5 แห่ง ได้แก่ เทียนจิน จี้หลิน เฮยหลงเจียง มองโกเลียใน และเหลียวหนิง ล้วนอยู่ในภาคเหนือ

ในบรรดา 17 เมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในจีน มีเพียง 4 เมืองเท่านั้นที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนเหนือ ได้แก่ ปักกิ่ง เทียนจิน ชิงเต่า และเจิ้นโจว ส่วนที่เหลืออีก 13 เมืองอยู่ในภาคใต้ทั้งหมด

คำถามสำคัญ ก็คือ เพราะเหตุใดเศรษฐกิจภาคเหนือถึงชะงักงัน ทั้งๆ ที่ในอดีต ภาคเหนือของจีนถือว่าเจริญมาก เพราะเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสมกับการทำอุตสาหกรรมหนัก เช่น ถ่านหิน น้ำมัน อุตสาหกรรมเหล็ก ดังเช่นมณฑลเหลียวหนิง แต่เดิมถือว่าเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนักที่สำคัญที่สุดของจีน

คำตอบก็คือ เพราะพื้นที่ตอนเหนือติดหล่มความสำเร็จในอดีต นั่นก็คือยังติดอยู่กับการทำอุตสาหกรรมหนักแต่จีนยุคใหม่ของสีจิ้นผิงกำลังจะผลัดใบละทิ้งอุตสาหกรรมหนักเหล่านี้ เพราะมีปัญหาการผลิตเกินตัว ปัญหารัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพ และปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทรัพยากรก็เริ่มถูกใช้ร่อยหรอลงเรื่อยๆ

สถานการณ์นี้แตกต่างจากภาคใต้อย่างชัดเจน เพราะเอกชนมีบทบาทสำคัญมากในภาคใต้ของจีน ตั้งแต่การเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นของต่างชาติในภาคตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงยุคที่เอกชนจีนเองก็เติบโตอย่างรวดเร็วทั่วทั้งพื้นที่ตอนใต้ หัวเมืองสำคัญๆ ในตอนใต้ที่เราคุ้นชื่อ ล้วนเป็นขุมพลังของเอกชนชั้นนำของจีน ไม่ว่าจะเป็นหางโจว ซูโจว นานกิง เสินเจิ้น ฯลฯ

อาจกล่าวได้ว่า การที่ภาคเหนือแต่เดิมมีทรัพยากรมาก และเดิมเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนักของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเคยเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ กลับกลายเป็น คำสาปของภาคเหนือ ในวันที่เครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนกลับกลายเป็นภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจใหม่ที่ทันโลกทันตลาด ในขณะที่พื้นที่ตอนใต้ได้เขยิบตัวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่อย่างเต็มตัว พื้นที่ตอนเหนือกลับไม่สามารถเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมหนักที่กำลังหมดยุคลงได้

พื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กว่างตง เจียงตง เจียงซู สามารถยกระดับอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นเป็นอุตสาหกรรมไฮเทคได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนอุตสาหกรรมเก่าที่ใช้แรงงานเข้มข้นก็ค่อยๆ ย้ายฐานจากพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ไปยังพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนในของประเทศ เช่น ย้ายไปเสฉวน ฉงชิ่ง กุ้ยโจว หูเป่ย อันฮุย ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคใต้ทั้งหมด (ทั้งภาคตะวันออกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงใต้) อยู่ในระดับสูง ขณะที่ภาคเหนือกลับไม่สามารถยกระดับอุตสาหกรรมได้อย่างภาคใต้

ความแตกต่างที่สำคัญอีกข้อระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ ก็คือ ภาคใต้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจนวัตกรรมอย่างชัดเจน เมื่อดูตัวเลขรายจ่ายการทำ R&D โดยรวม พบว่าตัวเลขการทำ R&D ในภาคเหนือคิดเป็นเพียง 73% ของภาคใต้ในปีค.ศ. 2012 และ 64% ในปีค.ศ. 2016

จากความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ เราจึงเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเหนือ เช่น มีการวางยุทธศาสตร์ Jing-Jin-Ji ที่มุ่งกระจายความเจริญจากเมืองสำคัญในภาคเหนือเช่นปักกิ่ง (Bei”jing”) และเทียนจิน (Tian”jin”) เข้าสู่เมืองต่างๆในมณฑลเหอเป่ย (ชื่อย่อ Ji) ซึ่งที่ผ่านมาเหอเป่ยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างต่ำ

หากมองจากภาพกว้างแล้ว ความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ของจีนสะท้อนความท้าทายของจีนในการเปลี่ยนผ่านจากภาคเศรษฐกิจเก่าเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจใหม่ ภาคเศรษฐกิจเก่า เช่น ภาคอุตสาหกรรมหนักที่แต่เดิมเคยกินบุญเก่าจากการอุดหนุนของรัฐและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ กลับไม่สามารถปรับตัวให้ทันโลกได้

เช่นนี้แล้ว จากเดิมที่บุญเก่าเป็นพรแสนวิเศษ จึงกลับกลายเป็นเหมือนคำสาปที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือติดหล่มฉุดไม่ขึ้นแทน