ผู้ป่วย “โรคเรื้อรัง” ต้องได้ “อาจารย์หมอ”

ผู้ป่วย “โรคเรื้อรัง” ต้องได้ “อาจารย์หมอ”

*อโรคยา* การไม่มีโรค ถือเป็นลาภอันประเสริฐ ! แต่เมื่อต้องประสบโรคภัย ไข้เจ็บ โรคร้ายขึ้นกับตนเอง

การรักษาโรคดังกล่าวที่เป็นแพทย์ จบใหม่ หรือนักศึกษาแพทย์ หรือมิใช่แพทย์ เฉพาะทาง อาจรักษาโรคให้หายขาดไม่ได้ อาจจำเป็นต้องรักษา แก้ไขโรคร้ายด้วย อาจารย์แพทย์ จึงอาจกลับมามีชีวิตรอดได้ตามปรกติ แต่ผู้ป่วยต้องยอมรับ ค่าใช้จ่าย ที่ค่อนข้างสูง แพง อย่างไรก็ดี แพทย์รักษาโรคทั่วไป หรือผู้มีวิชาชีพการแพทย์ พยาบาล มักกล่าวเสมอในคราวที่ผู้ป่วย คนไข้ เดินเข้ามาพบ เพื่อตรวจรักษาโรค อาการ ครั้งแรก ให้หมั่น หรือพึงหลีกเลี่ยงพฤติกรรม การกระทำที่เสี่ยง ไม่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงกับบรรดาโรคภัย ไข้เจ็บต่างๆ แต่ก็มักพบว่าหลายท่าน ไม่เคารพ เชื่อฟังตาม คำแนะนำ ของแพทย์ พยาบาล ท้ายที่สุด เงินทองที่หามาได้จากการประกอบอาชีพตลอดชีวิต หรือเงินเก็บ เงินออม ก็หมดไปกับการจ่ายค่ารักษา ค่ายา ค่าดูแลทางการแพทย์ ฯลฯ เป็นจำนวนมาก 

เรื่องข้างต้น อาจไม่แตกต่างจากการลงทุนประกอบธุรกิจการค้า การผลิต หรือการให้บริการ หากผู้ประกอบธุรกิจ ผู้บริหารองค์กร ขาดการวางแผน มองโลกในด้านดี สวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ขาด หรือไม่มองภาพในด้านลบ พลันเมื่อธุรกิจการค้า การลงทุน การให้บริการ ประสบปัญหา ทั้งการขาดแรงงาน เงินทุนสนับสนุน หรือพบคู่แข่งที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า ธุรกิจอาจไม่ประสบความสำเร็จ แก้ไขไม่ได้ ท้ายที่สุด อาจต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน เกิดผลเสียต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนเองทั้งสิ้น 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการค้า การลงทุน พัฒนาที่ดิน โครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโครงการ ขนาดใหญ่” นอกจากความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้น ค่อนข้างสูง จากการลงทุน ประกอบธุรกิจ หรือกำไรที่ได้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากเกิดผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการ ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหารองค์กร พนักงานบุคลากร ลูกจ้าง หรือคู่ค้าโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อ ผู้บริโภค ตามมาอีกด้วย เรื่องสำคัญที่กระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจ ผู้จัดสรรที่ดิน ได้แก่ ระบบสาธารณูปโภคของโครงการหมู่บ้านจัดสรร ขาดเม็ดเงินสนับสนุนจากสถาบันการเงิน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขาดงบประมาณการบำรุง ดูแล รักษาสาธารณูปโภค หลายแห่ง จึงเป็นเหตุให้ผู้ซื้อ ผู้บริโภค ทำหนังสือร้องเรียนความเดือดร้อน ความเสียหายต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ของโครงการต่อมาในภายหลัง ซึ่งอาจยาก ลำบากต่อการกู้ภาพลักษณ์ ชื่อเสียงโครงการได้

ประสบการณ์ที่ผู้เขียนคลุกคลีกับระบบธุรกิจการค้า การลงทุน การให้บริการโครงการอสังหาริมทรัพย์ โครงการขนาดใหญ่ นับร้อย พันโครงการกว่าสามทศวรรษ พบว่าผู้จัดสรรที่ดิน มืออาชีพ (Professional Developers) โดยเฉพาะการจัดทำสาธารณูปโภคของโครงการหมู่บ้านจัดสรร ขนาดใหญ่ จำนวนแปลงจำหน่ายมากกว่า ๕๐๐ แปลงขึ้นไป ผู้จัดสรรที่ดินรายดังกล่าว มักจะเร่งลงมือก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จ สมบูรณ์ สอดคล้อง ถูกต้องกับแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตโดยเร็ว อย่างไรก็ดี เมื่อระบบสาธารณูปโภคดังกล่าวได้รับการตรวจสอบจากคณะ (อนุ) กรรมการจัดสรรที่ดิน (จังหวัด) ผู้จัดสรรที่ดิน และทีมงานบริหารทรัพย์สิน ก็พร้อมที่จะสามารถส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคให้แก่ผู้ซื้อ หรือ นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ที่จัดตั้งขึ้นมาได้ โดยไม่มีอุปสรรค หรือปัญหาตามมาในภายหลังแต่อย่างใด 

สำหรับประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับการโอน หรือส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภค ตามองค์ประกอบของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จำนวนที่ดินแปลงจำหน่ายขายได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของแปลงจำหน่ายตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาต การตรวจสอบสภาพสาธารณูปโภค เพื่อให้ได้มา ซึ่งหนังสือรับรองการตรวจสอบสภาพสาธารณูปโภค การจัดทำบัญชีรายรับ - รายจ่าย ค่าบริการสาธารณะ หรือ ค่าส่วนกลาง หรือการจัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ การอำนวยความสะดวกแก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร เพื่อจดทะเบียน นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้จัดสรรที่ดิน มืออาชีพ ไม่ได้มีข้อกังวล หรือเป็นปัญหา สร้างอุปสรรคให้แก่ผู้จัดสรรที่ดิน แต่อย่างใด แต่ในทางตรงกันข้าม เรื่องใหญ่ ได้แก่ ผู้จัดสรรที่ดิน ที่ขาดประสบการณ์ ความชำนาญ หรือขาดความพร้อม ระบบสาธารณูปโภคของโครงการหมู่บ้านจัดสรร มักขาดการบำรุง ดูแล รักษาอย่างถูกต้อง ถูกวิธี ซึ่งถูกปล่อยทิ้งนานจนเกินความจำเป็น จนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ซื้อ ผู้บริโภค ได้แก่ ความยาก ลำบากต่อการยอมรับการจดทะเบียน นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เพื่อรับโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคจากผู้จัดสรรที่ดิน ซึ่งผู้ซื้อโครงการ หลายแห่ง มักปฏิเสธการจดทะเบียน นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร อีกทั้งผู้จัดสรรที่ดิน อาจยังเสียเวลาดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณูปโภคให้เป็นสาธารณประโยชน์โดย ไม่จำเป็นอีกด้วย

โดย... 

พิสิฐ ชูประสิทธิ์

นายกสมาคมนักบริหารอาคารชุด – หมู่บ้านจัดสรรไทย และ

“ที่ปรึกษา” ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ

[email protected]