การเมือง กับ ตลาดหุ้น

การเมือง กับ ตลาดหุ้น

ผลกระทบด้านลบของความวุ่นวายทางการเมืองกับภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

นักลงทุนคงจะเคยได้ยินได้อ่านบทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์สถาบันวิจัยต่างๆ ที่กล่าวถึง ผลกระทบด้านลบของความวุ่นวายทางการเมืองกับภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

วันนี้ผมเลยอยากจะยกตัวอย่างบทความทางวิชาการที่มีการวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เรื่องการเมืองกับตลาดหุ้น ให้เข้ากับสถานการณ์ในขณะนี้ โดยจะหยิบยกเฉพาะประเด็นสำคัญๆที่อยากไฮไลท์ สำหรับผู้อ่านที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยฯด้านนี้

อาจจะลองพิจารณาอ่านบทความ 'Is there a link between politics and stock returns? A literature survey' ที่เขียนโดย Wisniewski T. P., 2016 ตีพิมพ์ในวารสาร 'International Review of Financial analysis' ที่ผู้เขียนได้ทำการรวบรวมบทความและงานวิจัยทางวิชาการต่างๆ ที่ได้ทำการศึกษาเรื่องปัจจัยการเมืองกับตลาดหุ้นตั้งแต่ในอดีต 

ประเด็นความสัมพันธ์ของปัจจัยการเมืองกับตลาดหุ้นที่ผมอยากจะไฮไลท์ในบทความฉบับนี้ คงหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องของความวุ่นวายทางการเมืองที่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งในทางทฤษฏีแล้วมักจะกล่าวถึงความสัมพันธ์กันในเชิงลบเสียมากกว่า กล่าวคือ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ, ปัญหาภัยก่อการร้าย, ปัญหาการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล ฯลฯ เป็นต้น

ปัญหาต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลให้ นักลงทุนต้องการส่วนชดเชยความเสี่ยง หรือ 'Equity Risk Premium' เพิ่มขึ้นตามมา และทำให้ Valuation ของตลาดหุ้นประเทศนั้นๆถูกกดดัน (PE, PBV, Dividend yield ฯลฯ จะต่ำกว่าประเทศอื่นที่ไม่มีปัญหา ในเชิงเปรียบเทียบกัน) 

ตัวอย่างงานวิชาการที่มีการศึกษาในกรณีคล้ายๆกันนี้ในต่างประเทศ อาทิ Pastor L. and Veronesi P., 2013, Political Uncertainty and Risk Premia, Journal of Financial Economics นำเสนอโมเดลทางคณิตศาสตร์เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ของ Equity Risk Premium กับปัจจัยความไม่นอนทางการเมือง (โดยเฉพาะนโยบาย) และทำการศึกษาเชิงประจักษ์พบความสัมพันธ์เชิงลบ

และสิ่งที่น่าสนใจและน่าจะสอดคล้องกับประเด็นในขณะนี้คือ Equity Risk Premium จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น หากมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว  กรณีศึกษาเรื่องความวุ่นวายทางการเมือง 'Arab Spring' ซึ่งเป็นการเดินขบวน, การประท้วง, และสงครามซึ่งเกิดขึ้นในโลกอาหรับปลายปี 2553 ซึ่ง ผลการศึกษาโดยสรุปคือ จำนวนผู้ประท้วงในกรณี Arab Spring มีความสัมพันธ์เชิงลบกับราคาหุ้นที่เกี่ยวข้อง (Acemoglu et al., 2014, The Power of the Streets: Evidence from Egypt's Arab Spring, Working paper) 

กรณีศึกษาอีกเรื่องที่น่าสนใจนอกเหนือจากมุมมองด้านลบ และน่าจะเป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจในขณะนี้ คือ การนำปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมาเลือกหุ้นที่จะลงทุน โดยมีการศึกษาพบว่าหุ้นที่มีผู้บริหาร หรือ ผู้ถือหุ้น มีความสัมพันธ์ที่ดีกับฝั่งรัฐบาลมักจะมีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีกว่าตลาดฯ โดยเฉลี่ย (Faccio M., 2006, Politically connected firms, American Economic Review) 

สำหรับบทความนี้ผมคงนำตัวอย่างมาให้พิจารณาอ่านกันเพียงเท่านี้ แต่ยังมีการศึกษาทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองกับตลาดหุ้นอีกมาก ในบทความของ Wisniewski T. P., 2016 ที่ได้ทำการรวบรวมงานศึกษาทางวิชาการในอดีตไว้ และแบ่งเป็นหมวดหมู่ชัดเจน ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุน โดยหากเข้าใจในหลักการและนำกรณีศึกษาทางวิชาการมาปรับใช้ น่าจะสามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในสถานการณ์ปัจจุบันได้ 

กลับมาที่ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทย หลังจากที่นโยบายการเงินของสหรัฐฯและประเทศอื่นๆ เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อเป็นการลดโอกาส หรือ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัว และเข้าสู่ภาวะถดภอยในอนาคตได้ ทำให้ภาพรวมตลาดทุนทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายลงบ้าง

นอกจากนี้ทางฝ่ายวิจัยฯ บล. เคจีไอ (ประเทศจีน) ได้ทำการประเมินว่า ตัวเลขเศรษฐกิจจีนใน 2Q62 น่าจะเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการผลิต นอกจากนี้ทางการจีนน่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกเร็วๆนี้ ขณะเดียวกันประเด็นการเมืองของไทย คาดว่าจะได้รัฐบาลใหม่ในช่วงเดือน พ.ค.นี้ น่าจะทำให้ Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นไทยกลับมาดีขึ้นบ้างในช่วงปลางปีนี้

อย่างไรก็ดีสำหรับการลงทุนระยะกลาง-ยาว (6 เดือน-1 ปีขึ้นไป) อาจจะต้องให้ความใส่ใจเรื่องของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น หลังจากที่เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ยังบ่งชี้โอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ