พลังแห่งการคิดบวก

พลังแห่งการคิดบวก

ทำไมเราควรหลีกเลี่ยงการมองโลกในแง่ลบ

สมองมนุษย์เรามีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคหลายแสนปีที่แล้ว ในการมองโลกในแง่ลบ เพราะบรรพบุรุษของเราในยุคหาของป่า, ล่าสัตว์ และยุคเกษตรยุคแรกๆ ต้องระมัดระวังภัยอันตรายจากสัตว์ร้าย ภัยธรรมชาติ ฯลฯ เพื่อความอยู่รอด โลกในยุคนั้นเป็นเรื่องที่คนเราต้องใช้ชีวิตแบบมีความเสี่ยงภัยสูงจริง แต่ในยุคปัจจุบัน คนรุ่นเราส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในโลกที่มีอันตรายรอบตัวถึงขนาดนั้น การที่มนุษย์โดยทั่วไปยังคงมี “อคติหรือความโน้มเอียงที่จะมองโลกในแง่ลบ” (โดยเฉพาะคนที่มาจากครอบครัวสภาพแวดล้อมที่มีปัญหาในทางใดทางหนึ่ง และพ่อแม่เป็นคนมองโลกในแง่ลบ)จึงเป็นผลเสียมากกว่า

การมีอคติมองโลกในแง่ลบ ไม่ได้ช่วยให้เราได้ดีนักในการใช้ชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน และที่สำคัญกว่าคือ การมีอคติมองโลกในแง่ลบเป็นตัวการที่ลดความสามารถของเราที่จะพานพบกับการมีสุขภาวะ (Well Being)

สื่อมวลชน โทรทัศน์ และภาพยนต์ ในโลกทุนนิยมอุตสาหกรรมที่มักเน้นข่าวร้าย เน้นอารมณ์ในทางลบ เช่น ความโลภ กลัว โกรธ เกลียด ฯลฯ ทำให้คนเราสนใจข่าวดี สนใจอารมณ์ทางบวกน้อยกว่าที่ควรเป็น หรือทำให้เรามักคิดว่าข่าวดี/อารมณ์ทางบวกเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่สำคัญมากนัก (ไม่น่าสนใจที่ควรเป็นข่าว) นักจิตวิทยามองว่าสภาพแวดล้อมเช่นนี้สร้างความไม่สมดุลของประสบการณ์สมัยใหม่ให้กับคนยุคปัจจุบัน การเน้นแต่เรื่องร้ายอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มความเครียดในชีวิตการทำมาหากินประจำวันของคนยุคปัจจุบันที่ต้องมีการแข่งขันทั้งเรื่องการผลิตและการบริโภคมากขึ้น การหลีกเลี่ยงหยุดเสพสื่อที่เสนอข่าวร้ายแบบนี้เป็นระยะๆ ออกไปชื่นชมกับธรรมชาติหรือสิ่งสวยงามต่างๆ อย่างสงบจะช่วยคลายเครียดได้

มาร์ติน เซลิกแมน (1942-) อาจารย์และนักเขียนด้านจิตวิทยาแนวบวก เสนอว่าเพื่อสร้างสุขภาพจิตที่ดี หลีกเลี่ยงความเจ็บป่วยทางจิตใจ เช่น ความวิตกกังวล ความเครียด อาการซึมเศร้า ฯลฯ เราน่าจะมองหาว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้ชีวิตคนเราได้เติมเต็มและมีคุณค่าต่อการมีชีวิตอยู่ เขาใช้คำว่า Wellbeing (สุขภาวะ) ความรู้สึกโดยรวมของสุขภาพจิตที่ดีและความสุขที่ทำให้มนุษย์เรารู้สึกว่ามีความสำเร็จในชีวิตอย่างแท้จริง เขาเสนอจิตวิทยาแนวบวกที่มองในแง่การยกระดับความคิดจิตใจ อารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดของเราให้เจริญงอกงามสูงขึ้นกว่าแค่ระดับพอใช้ได้ ไม่ถูกจัดว่าเจ็บป่วยทางจิต แบบที่นักจิตวิทยาทั่วไปแนะนำเท่านั้น นั่นก็คือเราควรพัฒนาระดับสุขภาพจิตของคนเราจากระดับ 0 ให้ก้าวไปอยู่ระดับ +10

ปัจจัยที่ช่วยให้คนเรามีสุขภาวะ

คำว่า Wellbeing (สุขภาวะ) มีความหมายกว้างกว่าแค่อารมณ์ความรู้สึกเป็นสุขชั่วครู่ชั่วยาม แต่ประกอบไปด้วยปัจจัย 5 ข้อ ที่ทำให้เรามีประสบการณ์ของการมีสุขภาวะ หรือความสุขรอบด้านอย่างแท้จริง

1.อารมณ์ในทางบวกการมองโลกในแง่ดี ความพึงพอใจอย่างลึกซึ้ง ความรัก ความพอใจในสิ่งที่มี ความสนุกรื่นเริง อารมณ์ที่ช่วยให้เรารู้สึกดี และ/หรือทำให้เรารู้สึกมีเมตตากรุณา

การมีอารมณ์ในทางบวก จะช่วยให้เราเป็นคนเปิดกว้าง ฟื้นฟูตัวเองหลังจากผ่านวิกฤตได้ดี สร้างสรรค์ เป็นนักสังเกตการณ์ที่ดี รวมทั้งช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย

2.การเอาใจใส่ผูกพันการสนใจทำกิจกรรมบางอย่างที่เราสนใจ ชอบ อย่างใจจดจ่อ และเพลิดเพลิน เช่น การอ่านหนังสือ การชื่นชมกับความงามของธรรมชาติ การทำกิจกรรมที่เราชอบมาก

การเอาใจใส่ผูกพัน เกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกมั่นใจเกี่ยวกับทักษะที่เรามี และเราใช้ทักษะนั้นเพื่อความสนุกเพลิดเพลินมากกว่าการทำไปเพียงเพราะเป็นหน้าที่ ถ้าเรารู้จุดแข็ง, ความถนัด (Strength) ของตัวเราได้ดีเท่าไหร่ เราจะสามารถแสวงหาความเพลิดเพลินจากการทำกิจกรรมที่เราชอบ/ถนัดได้มากขึ้น

3.การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นการมีความสัมพันธ์กับคนอื่นที่ประกอบด้วยความรัก ความใกล้ชิด และความไว้วางใจ ช่วยสนับสนุนเราและเราก็ช่วยสนับสนุนพวกเขาด้วย

ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ทั้งกับครอบครัว เพื่อน คู่ครอง เพื่อนร่วมงาน เพื่อนในชุมชน เป็นเรื่องสำคัญต่อจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกของเรา ถ้าหากขาดความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น แม้แต่คนที่ประสบความสำเร็จจะรู้สึกว่างเปล่า หงอยเหงา

4.ความหมายในชีวิต - การมีเป้าหมายในชีวิตที่กว้างไกลกว่าผลประโยชน์ของตัวเองและมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ใหญ่กว่าตัวเรา รู้สึกว่าชีวิตนั้นมีเป้าหมาย สิ่งที่เราทำในชีวิตมีคุณค่า คุ้มค่ากับการใช้ชีวิต การมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่าผลประโยชน์ของตัวเราเอง จะช่วยทำให้เราพอใจ มั่นใจ และเข้มแข็งเพิ่มขึ้น เราควรพยายามหาความหมายให้ชัดเจน และนั่นคือสิ่งที่เราสามารถพัฒนาได้

5.การบรรลุเป้าหมายความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ที่จะทำงานให้สำเร็จ ความพึงพอใจจากการทำอะไรที่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้จะเป็นเป้าหมายเล็ก ที่จะช่วยให้เรารู้สึกในทางที่ดี จิตวิทยาทางบวกเสนอว่าคุณสมบัติสำคัญที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จคือความมานะบากบั่น แต่จริงๆ แล้ว ปัจจัย 4 ข้อแรกที่กล่าวมา (อารมณ์ในทางบวก, การเอาใจใส่ผูกพัน, การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นและการมีเป้าหมายในชีวิต) จะช่วยคุณประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น ถ้าหากคุณเหนื่อยล้า รู้สึกโดดเดี่ยวหรือเศร้า ก็เป็นการยากที่คุณจะเผชิญกับการท้าทาย แต่ถ้าคุณทำงานโดยใช้อารมณ์ทางบวก ความเอาใจใส่ ผูกพัน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นและตระหนักถึงความหมายของมัน คุณก็จะทำงานได้ผลดีอย่างราบรื่น

เราทุกคนต้องการความสำเร็จ เพราะเราคิดว่าความสำเร็จจะทำให้เรามีความสุข แต่มันอาจจะเกิดขึ้นในทางกลับกันก็ได้ นั่นก็คือ การเลือกทำอะไรอย่างมีความสุข ช่วยให้เราประสบความสำเร็จ หรือบรรลุเป้าหมายที่ตัวเราเองให้คุณค่า (Accomplishment) ที่สำคัญกว่าความสำเร็จ (Achievement) ตามมาตรฐานที่คนอื่นเป็นคนตั้ง

สิ่งที่จะทำให้เรารู้สึกว่ามีคุณค่าต่อเรา คือการทำบางสิ่งบางอย่างที่จะบรรลุเป้าหมายที่เราคิดว่าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว อาชีพทางศิลปะ ทางเทคนิค หรืออะไรก็ตามที่สำคัญสำหรับตัวเรา มันอาจจะเกี่ยวข้องกับความสำเร็จภายนอกที่วัดได้ด้วย (แต่ไม่จำเป็นเสมอไป) รางวัลผลตอบแทนที่แท้จริงของการบรรลุเป้าหมายคือความรู้สึกเห็นชอบด้วยตัวของเราเองด้วย และความสามารถที่จะช่วยให้เราเองเจริญงอกงามในฐานะมนุษย์ทุกมิติ ซึ่งไม่ใช่แค่มนุษย์เพื่อเศรษฐกิจหรือการเมือง แต่เป็นมนุษย์เพื่อสังคม วัฒนธรรม และความพอใจทางด้านจิตใจด้วย

(อ่านเพิ่มเติม วิทยากร เชียงกูล พลังแห่งการคิดบวก สนพ.ไทยควอลิตี้บุ๊ค 2562)