นายกคนใหม่ต้องไม่กลับคำ

นายกคนใหม่ต้องไม่กลับคำ

ไม่ว่าเราจะได้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้นำคนใหม่ต้องตระหนักว่ายุคนี้เขาต้องสวมหมวกสองใบ ใบแรกคือการบริหารประเทศ

เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ใบที่สองคือการเป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสารที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการประกอบธุรกิจ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถปรับตัวได้อย่างทันท่วงที

สำหรับประเทศที่ใช้กลไกตลาด บทบาทของรัฐในการเข้าไปชี้นิ้วสั่งการย่อมมีน้อยกว่าประเทศที่ใช้การวางแผนจากส่วนกลาง ยิ่งประเทศมีการพัฒนามากขึ้น อำนาจของตลาดก็ยิ่งมีสูงขึ้น รัฐบาลจะเข้าไปบอกให้ตลาดหันซ้ายหันขวาเหมือนเมื่อก่อนคงเป็นเรื่องยาก

เมื่อยี่สิบปีก่อนมีคนไทยแค่หยิบมือเดียวที่สนใจว่า ตอนนี้เงินเฟ้ออยู่ระดับไหน ราคาน้ำมันวันพรุ่งนี้จะเป็นเท่าไหร่ ธนาคารกลางของสหรัฐจะเพิ่มดอกเบี้ยขึ้นอีกกี่จุด ค่าเงินบาทของจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ห้างสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่จะไปตั้งที่ไหน ผู้ผลิตรถยนต์มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก แต่ตอนนี้ เรื่องเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว

รัฐอาจจะเข้าไปควบคุมราคาน้ำมันได้ สามารถแทรกแซงค่าเงินบาท สามารถเจรจากับผู้ผลิตรถยนต์ แต่สุดท้าย ประชาชนคือผู้ที่ตัดสินใจด้วยตัวเองว่าเติมน้ำมันสักกี่ลิตร จะไปเที่ยวเมืองนอกอีกหรือเปล่า

อย่างไรก็ตาม การลดลงบทบาทตามหมวกใบแรก ไม่ได้หมายความว่าผู้นำประเทศจะสำคัญน้อยลง ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารกลายเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิต ผู้นำประเทศมีหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสม ถูกต้อง และเพียงพอ แก่ทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อให้พวกเขาสามารถนำเอาข้อมูลไปใช้ในการประกอบการตัดสินใจอย่างถูกต้อง

จริงอยู่ที่ข้อมูลข่าวสารหาได้จากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือพิมพ์ ดูข่าว อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย พูดคุยกับเพื่อน แต่ถ้าเป็นเรื่องภาพรวมของประเทศแล้ว จะมีแหล่งข้อมูลไหนน่าเชื่อถือว่าข้อมูลที่เป็นทางการของภาครัฐอีก

ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน ถึงจะหาได้จากหลายแหล่ง แต่สุดท้ายข่าวสารส่วนใหญ่เริ่มมาจากต้นตอเดียวกัน นั่นคือ ข้อมูลจากภาครัฐ โดยเฉพาะข้อมูลซึ่งออกจากปากของผู้นำประเทศและหน่วยงานของรัฐ

ประชาชนและภาคธุรกิจไม่ได้หลับหูหลับตาเสพข้อมูลที่ได้ พวกเขานำข้อมูลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับประสบการณ์จริงของตัวเอง หากสิ่งที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับข้อมูล เขาก็จะให้ความเชื่อถือกับแหล่งข้อมูล ถ้าหากสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ตรงกับข้อมูลและไม่สามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดจึงไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขาก็จะเริ่มระแวงสงสัยในความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล

ยกตัวอย่างเช่น ถ้านายกของเราบอกว่าวันจันทร์หน้าจะออกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามเล่นดอกไม้ไฟใครมีไว้ในครอบครองถือว่าผิดกฎหมายมีโทษเท่ากับการฆ่าคนตายโดยเจตนา

หลังจากได้ข่าวนี้ ใครอยากเล่นดอกไม้ไฟก็ต้องรีบไปซื้อมาตุนไว้ เสาร์อาทิตย์นี้ต้องขนออกมาจุดให้หมด คนขายก็ต้องรีบเทขายของให้หมดเพราะเก็บไว้ก็ติดคุกหัวโต โรงงานดอกไม้ไฟหยุดผลิต ลูกจ้างตกงานกันเป็นแถว วันเสาร์อาทิตย์ไม่เป็นอันได้หลับได้นอนเพราะมีแต่คนจุดดอกไม้ไฟสั่งลากันทั้งวันทั้งคืน

พอถึงวันจันทร์ นายกกลับออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้พูด หรือโบ้ยไปว่าสื่อตีความผิดไปเอง ถามว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะทำอย่างไร และถามต่อไปว่า หลังจากนี้จะมีสักกี่คนที่เชื่อถือคำพูดของผู้นำประเทศเหมือนเดิม อย่างน้อยเจ้าของโรงงานและพ่อค้าแม่ค้าขายดอกไม้ไฟคงไม่เผาผีด้วยอย่างแน่นอน

หากว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจหรือเข้าในผิด ผู้นำประเทศกล้าออกมาชี้แจ้งข้อเท็จจริง ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง ถึงจะมีคนแคลงใจบ้าง อย่างน้อยความน่าเชื่อถือของตัวผู้นำก็ไม่ตกลงไปมาก แต่ตัวผู้นำเองต้องคอยระวังตัว ไม่ทำความผิดพลาดซ้ำรอย ให้แต่ข้อมูลข่าวสารตรงกับความเป็นจริง สักพักหนึ่งก็จะสามารถเรียกความน่าเชื่อถือกลับคืนมาได้

ตรงกันข้าม การทำผิดซ้ำซากอีกเพียงไม่กี่ครั้งก็เพียงพอที่จะทำลายความน่าเชื่อถือของตัวผู้นำจนไม่สามารถจะกู้คืนได้อีก เมื่อมีแต่ความแคลงใจ ต่อให้เอาข้อมูลจริงมาก็ไม่มีเชื่ออีต่อไป

พอขาดข้อมูล ประชาชนและภาคธุรกิจก็ต้องตัดสินใจกันเอาเอง คาดเดาไปต่างๆ นาๆ ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าที่เดากันนั้นอาจมีโอกาสถูกน้อยกว่าครึ่งเสียอีก ความหวาดหวั่นเพราะขาดข้อมูลที่ถูกต้องทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจเกิดความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง มีข่าวอะไรนิดหน่อยก็อาจกลายเป็นกระแสข่าวลือใหญ่โตจนเกินจะควบคุมได้

ไม่ว่าใครจะได้เป็นนายกคนต่อไป ก็ขอให้เป็นนายกที่พูดแบบไหนทำแบบนั้น วันนี้พูดแบบนี้ วันรุ่งขึ้นก็ไม่กลับคำ ท่ามกลางความวุ่นวายสารพัดที่กำลังรออยู่ คำพูดของนายกคนใหม่จึงมีค่ายิ่งกว่าทองคำทั้งประเทศมากองรวมกันเสียอีก